USMCA เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ 1 ก.ค. 2563

ความตกลง United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) หรือ NAFTA ฉบับปรับปรุงใหม่ที่สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา ได้ร่วมกันลงนามไปเมื่อช่วงปลายปี 2561 มีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา

USMCA กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของสหรัฐฯ ในการทำความตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้า โดยมีความเข้มข้นมากขึ้นในด้านแรงงาน แหล่งกำเนิดสินค้า ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าดิจิทัล และสินค้าเกษตร ต่อไปนี้คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญภายใต้ความตกลง USMCA

  1. ด้านแรงงาน
  • จัดตั้งกลไกเพื่อระงับข้อพิพาทด้านแรงงานที่เรียกว่า Rapid Response Labor Mechanism (RRLM) ยกตัวอย่างเช่นสหรัฐฯ และแคนาดาสามารถยื่นเรื่องร้องเรียนบริษัทของเม็กซิโกเป็นรายโรงงานภายใต้กลไกดังกล่าว หากพบว่าบริษัทของเม็กซิโกฝ่าฝืนกฎหมายแรงงานภายในประเทศ ซึ่งได้ปรับให้สอดคล้องกับความตกลง USMCA ในเรื่องเสรีภาพในการรวมตัวของแรงงาน (freedom of association) และการร่วมเจรจาต่อรอง (collective bargaining) และหากบริษัทเม็กซิโกนั้น ๆ ทำผิดจริง อาจส่งผลให้ถูกยกเลิกสิทธิประโยชน์ด้านภาษีนำเข้า รวมถึงสามารได้รับบทลงโทษเพิ่มเติม หากข้อร้องเรียนยังไม่ได้รับการแก้ไข
  • ห้ามนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานที่ผิดกฎหมายและแรงงานบังคับ และให้แรงงานต่างด้าวได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานอย่างเต็มที่
  • กำหนดให้ทุกฝ่ายต้องคงไว้ซึ่งกฎหมายและหลักปฏิบัติที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับจากองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization – ILO)
  1. ด้านแหล่งกำเนิดสินค้า

สินค้าประเภทยานยนต์ มีเงื่อนไขในการได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีสำคัญ อาทิ

  • มีชิ้นส่วนประกอบและแรงงานที่มาจากสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก (Regional Value Content – RVC) ในอัตราร้อยละ 75 (เพิ่มจากร้อยละ 62.5)
  • มีชิ้นส่วนที่ผลิตโดยแรงงานที่ได้รับค่าจ้างอย่างน้อย 16 ดอลลาร์สหรัฐ/ชม. (Labor Value Content – LVC) ในสัดส่วนร้อยละ 40-45
  • ใช้ส่วนประกอบที่เป็นเหล็กหรืออะลูมิเนียมที่ผลิตในสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก ในอัตราร้อยละ 70

เสื้อผ้าและสิ่งทอ ความตกลงฯ กำหนดให้ต้องมีการใช้ด้ายเย็บผ้า ยางยืด กระเป๋า และแถบผ้าเคลือบ (sewing thread, narrow elastic fabrics, pocketing, and coated fabric) ที่ผลิตในสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก สำหรับการผลิตสิ่งทอหรือเครื่องนุ่งห่ม เพื่อจะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี

  1. ด้านสินค้าเกษตร
  • จัดตั้งกฎระเบียบเกี่ยวกับสินค้าเกษตรชีวภาพ (agricultural biotechnology) เช่น สินค้าที่มีการดัดแปลงทางพันธุกรรม
  • ปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary – SPS) ให้มีความโปร่งใส และอยู่บนพื้นฐานของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
  • ลดอุปสรรคทางด้านการค้าจากกำแพงภาษีและกฎระเบียบ เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าประเภทสัตว์ปีก ไข่ ข้าวสาลี และผลิตภัณฑ์จากนมของสหรัฐฯ ในแคนาดา
  1. ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าดิจิทัล
  • กำหนดให้รัฐบาลของทุกฝ่ายจัดตั้งคณะกรรมการด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Committee on Intellectual Property Rights – IPR Committee) เพื่อดูแลรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาด้าน IP
  • ขยายเวลาการให้ลิขสิทธิ์ (copyright) แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน (author) หลังหมดอายุจากเดิม 50 ปี
  • เพิ่มเป็น 70 ปี หรือให้ลิขสิทธิ์อย่างน้อยเป็นเวลา 75 ปี นับตั้งแต่การเผยแพร่ผลงานครั้งแรก
  • มิให้มีการเรียกเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมสินค้าดิจิทัล อาทิ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วิดีโอ ดนตรี ซอฟท์แวร์
  • และเกมส์ และมิให้มีการจำกัดการส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดน (cross-border transfer)
  • ส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐโดยสาธารณะ เพื่อการพัฒนาและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ

ลำดับเหตุการณ์

  • 30 พ.ย. 2561 – สหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา ได้ร่วมกันลงนามในความตกลง USMCA ในช่วงระหว่างการประชุม G-20 ที่นครบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา
  • 29 ม.ค. 2562 – ประธานาธิบดีทรัมป์เสนอรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายของสหรัฐฯ ต่อรัฐสภา เพื่อให้สอดคล้องกับความตกลง USMCA
  • 26 ก.ค. 2562 – คณะทำงานที่จัดตั้งโดยนาง Nancy Pelosi (D-California) ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เสนอรายงานสรุปข้อกำหนดที่ต้องการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) แรงงาน (2) สิ่งแวดล้อม (3) การเข้าถึงเวชภัณฑ์ที่มีราคาไม่แพง และ (4) กลไกการบังคับใช้ ซึ่งได้นำไปเจรจากับนาย Robert Lighthizer ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันได้
  • 10 ธ.ค. 2562 – สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโกได้ร่วมกันลงนาม Protocol of Amendment to USMCA เพื่อขอแก้ไขความตกลง USMCA
  • 29 ม.ค. 2563 – ประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามผ่านร่างกฎหมาย USMCA implementing bill H.R. 5430
  • 24 เม.ย.2563 – สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) แจ้งต่อสภาคองเกรสว่า เม็กซิโกและแคนาดาได้จัดการกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้สอดคล้องกับความตกลง USMCA แล้ว การแจ้งต่อสภาคองเกรสทำให้สหรัฐฯ เป็น ประเทศที่สามและประเทศสุดท้ายที่ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายภายในประเทศให้พร้อมใช้บังคับสอดคล้องกับความตกลง USMCA และทำให้ความตกลง USMCA สามารถใช้บังคับได้ตามกำหนดในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

6,535 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top