สหรัฐฯ ดึงดูดธุรกิจจากต่างชาติจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นการค้าขายหรือลงทุน ด้วยตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคนและประกอบไปด้วยผู้บริโภคกลุ่มย่อยที่หลากหลาย ระบบการค้าที่เสรี คล่องตัวและเปิดกว้าง กฎระเบียบและกฎหมายที่ได้มาตรฐานสากลและเอื้ออำนวย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เมื่อปี 2562 สหรัฐฯ ดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างชาติถึง 3.31 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 10 ล้านล้านบาท ขณะที่ภายในสหรัฐฯ เองมีธุรกิจขนาดย่อมกว่า 30 ล้านราย
ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเลือกเข้าไปทำธุรกิจในสหรัฐฯ ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งผู้แทนขาย (sales representative) การจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าอย่างเป็นทางการ (authorized distributor) การจัดตั้งสาขา (branch) หรือการจัดตั้งบริษัทย่อย (subsidiary) ซึ่งรูปแบบบริษัทย่อยนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการมีฐานธุรกิจในสหรัฐฯ เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและลูกค้า และยังช่วยลดความเสี่ยงในการบริหารงานของบริษัทแม่ในต่างประเทศอีกด้วย
ก่อนจะเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในสหรัฐฯ ให้รอบด้าน ต่อไปนี้คือ 5 ด้าน ที่ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้น
1. ระบบกฎหมายของสหรัฐฯ
สหรัฐฯ มีระบบกฎหมายสำหรับการทำธุรกิจที่ยึดตามกฎหมายระดับรัฐ (state law) เป็นสำคัญ ตามด้วยกฎหมายระดับสหพันธรัฐ (federal law) นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ ควรศึกษาระบบกฎหมายของรัฐและกฎหมายท้องถิ่นที่ต้องการลงทุนเป็นอันดับแรก
รัฐที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุดรัฐหนึ่ง ได้แก่ รัฐเดลาแวร์ เนื่องจากมีระบบกฎหมายธุรกิจที่ทันสมัย ยืดหยุ่นและคาดการณ์ได้ และมีระบบศาลสำหรับคดีความด้านธุรกิจ (Delaware Court of Chancery) ที่ตัดสินโดยผู้พิพากษา ต่างกับรัฐอื่นที่อาจมีคณะลูกขุนเข้าร่วมตัดสินด้วย (รู้จักศักยภาพรัฐเดลาแวร์ให้มากขึ้น ที่นี่)
2. สิทธิประโยชน์จากภาครัฐ
รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นเสนอสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในหลายด้าน อาทิ ด้านการจัดหาแรงงาน การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนา การช่วยลดต้นทุน หรือการอำนวยความสะดวกในการหาสถานที่จัดตั้งธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถสอบถามรูปแบบของสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในท้องที่ซึ่งอาจมาในรูปแบบสิทธิพิเศษด้านภาษี การให้เงินอุดหนุน การให้เงินกู้ยืมแบบดอกเบี้ยต่ำ หรือการอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาต
3. การบริหารทรัพยากรมนุษย์
การจ้างงานและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในสหรัฐฯ แตกต่างจากประเทศไทยทั้งในด้านกฎระเบียบ วัฒนธรรม และสถานการณ์ตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการต้องคิดคำนวณความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการจัดหาแรงงาน ทั้งการจ้างแรงงานภายในประเทศหรือการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ปรับกฎระเบียบในการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศให้เข้มงวดขึ้นมาก
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจก่อนการจ้างงาน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างสอดคล้องตามกฎหมายสหรัฐฯ รู้จักกฎหมายคนเข้าเมืองสำหรับแรงงานจากต่างประเทศ ตลอดจนกฎระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสถานที่ทำงาน บนพื้นฐานของกฎหมาย Civil Rights Act ค.ศ. 1964 ซึ่งระบุว่า การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ประเทศที่กำเนิด หรือเพศ ผิดกฎหมาย
4. การบริหารความเสี่ยง
การทำประกันภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เลือกทำธุรกิจในสหรัฐฯ ต้องพิจารณาเพราะช่วยลดความเสี่ยงในการบริหารงานและลดภาระความรับผิด (liability) ให้แก่เจ้าของกิจการ ประกันภัยภาคบังคับ (mandatory insurance) ในสหรัฐฯ ได้แก่ ประกันอุบัติภัย ประกันอุบัติเหตุ และประสุขภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกทำประกันเพิ่มเติม อาทิ การประกันความรับผิดทั่วไป (general liability insurance – GL) ประกันความเสียหายอันเกิดจากความผิดพลาด (error and omission insurance – E&O) รวมไปถึงการทำสัญญากับคู่ค้าล่วงหน้าให้รัดกุมเพื่อหากระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยไม่ต้องขึ้นศาล
5. กฎระเบียบเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง
การลงทุนจัดตั้งธุรกิจข้ามชาติควรศึกษากฎระเบียบในประเทศประเทศปลายทางและกฎระเบียบระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจให้รอบคอบ อาทิ การอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) การขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การขอใบอนุญาตการนำเข้า-ส่งออก หรือการจัดเก็บภาษีสำหรับการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (cross border tax)
ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักถึงบทบาทขององค์กรหรือหน่วยงานที่กำกับดูแลและกฎระเบียบเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่ออุดช่องโหว่และวางแผนดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ ให้ราบรื่น อาทิ ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ต้องรู้จัก
- คณะกรรมาธิการกำกับและดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the United States – CFIUS) ธุรกิจบางประเภทมีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของประเทศและเข้าข่ายการลงทุนที่ต้องได้รับการอนุมัติจาก CFIUS เพื่อพิจารณาและตรวจสอบการลงทุนจากต่างประเทศที่อาจมีความเสี่ยงหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อาทิ การออกแบบ ผลิต ทดสอบ ประดิษฐ์ หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ การเข้าครอบครองกิจการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ หรือการจัดเก็บ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษของบุคคลที่ถือสัญชาติสหรัฐฯ
- องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (S. Food and Drug Administration – FDA) มีหน้าที่กำกับดูแล และควบคุมสินค้าด้านสาธารณสุขที่จะนำมาวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ ยารักษาโรค วัคซีน อุปกรณ์การตรวจเลือด เครื่องมือแพทย์ อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ยาและอาหารสัตว์ อุปกรณ์ที่มีการปล่อยรังสี (เช่น เลเซอร์ มือถือ และเครื่องไมโครเวฟ) โดยสินค้าทุกตัวจะต้องผ่านการตรวจสอบจาก FDA ก่อนวางตลาด (premarket review) เพื่อให้แน่ใจว่า สินค้านั้นมีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งมนุษย์และสัตว์
- พรบ. Federal Food, Drug, and Cosmetic Act องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ใช้ พรบ. นี้กำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ยา และเครื่องสำอางอย่างเคร่งครัด อาทิ การทำการทดลองตามกระบวนการ การจัดตั้งโรงงานที่ได้มาตรฐาน การจัดทำฉลากแสดงสินค้าที่ถูกต้อง ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ โรงงานผู้ผลิตสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า หรือผู้ควบคุมการทดลอง มีสิทธิได้รับโทษตามกฎหมายทั้งหมด หาก FDA พิสูจน์แล้วว่าผู้นั้นมีความผิดฐานละเมิดกฎหมายจริง