ประมงสหรัฐฯ ออกมาตรการนำเข้า เข้มงวดในการจับสัตว์น้ำพลอยได้ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลระหว่างประเทศ

จากนี้ไป ผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาไปยังสหรัฐฯ ต้องปฏิบัติตามกฎการป้องกันสำหรับการจับสัตว์น้ำพลอยได้ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลเช่นเดียวกับกฎการทำประมงในประเทศหลังจากที่สำนักงานประมงสหรัฐฯ ภายใต้องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA Fisheries) เสนอร่างปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล หรือ Marine Mammal Protection Act (MMPA)

ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกเสนอเพื่อให้ครอบคลุมการคุ้มครองสัตว์ทะเลในน่านน้ำสากลไม่ให้ได้รับอันตรายจากการจับปลา โดยเพิ่มข้อกำหนดด้านแหล่งผลิตและส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์ปลาไปจำหน่ายในสหรัฐฯ กฎนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศที่ทำการประมงที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล เช่น ปลาวาฬ และโลมา เกินกว่าที่มาตรฐานของสหรัฐฯ อนุญาต

NOAA Fisheries พบว่า การจับสัตว์น้ำพลอยได้เป็นสาเหตุหลัก ๆ ของการบาดเจ็บและการเสียชีวิตของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลในสหรัฐฯ และทั่วโลก ตามข้อมูลของคณะกรรมการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลของสหรัฐฯ โดยข้อกำหนดใหม่ระบุให้ประเทศที่ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์ปลาไปยังสหรัฐฯ จะต้องแสดงให้เห็นว่า กระบวนการจับปลา มิได้มีการฆ่าหรือให้สร้างการบาดเจ็บร้ายแรงให้แก่สัตว์น้ำทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม

สหรัฐฯ เป็นผู้นำระดับโลกในการอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและการประมงอย่างยั่งยืนโดยการประมงของสหรัฐฯ ปฏิบัติตามแนวทางการอนุรักษ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก รวมถึงมาตรการลดการจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลซึ่งเป็นภัยคุกคามระดับโลกต่อประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลจำนวนมาก

แม้สหรัฐฯ จะพยายามปกป้องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลในน่านน้ำของตนเอง แต่เครื่องมือประมงยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อประชากรวาฬและโลมา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่น ๆ โดยศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพรายงานว่า สัตว์เหล่านี้ราว 650,000 ตัว ถูกจับและฆ่าโดยไม่ได้ตั้งใจในเครื่องมือประมงทั่วโลก

สาระสำคัญจากบทบัญญัติการนำเข้าปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา อ้างอิงจากกฎหมายคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเล  มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการจับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่เกี่ยวข้องกับการประมงเชิงพาณิชย์ระหว่างประเทศ โดยกำหนดให้ประเทศที่ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาไปยังสหรัฐอเมริกาต้องถือปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันกับการทำการประมงเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ

เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บทบัญญัติการนำเข้าได้กำหนดระยะเวลายกเว้น 5 ปีเพื่อให้ประเทศที่จับสัตว์น้ำต่างประเทศมีเวลาในการพัฒนาโปรแกรมการกำกับดูแลตามความเหมาะสมซึ่งเทียบเคียงได้มาตรฐานโปรแกรมของสหรัฐฯ

“ เราได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ทำประมงยังไม่สามารถได้รับการรับรองตามกฎนี้ได้ โดยเรามั่นใจว่า supply chain และผู้บริโภคอาหารทะเลจะไม่ได้รับผลกระทบจากการออกกฎใหม่นี้” จอน เฮ็นเดอร์เช็ด ผู้อำนวยการ NOAA ด้านการต่างประเทศและการตรวจสอบอาหารทะเลกล่าวในแถลงการณ์

กฎระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 และจะมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ.2565 ประเทศผู้ส่งออกจะต้องติดตามและตรวจสอบการการทำประมง และประชากรวาฬ โลมา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลอื่น ๆ อีกทั้งยังต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์จับปลาตามความจำเป็นและยับยั้งการจับปลาในบางพื้นที่

ล่าสุด NOAA Fisheries ได้ประกาศ interim final rule เพื่อขยายเวลาให้กับผู้ทำประมงต่างประเทศในการสมัครและรับการเปรียบเทียบมาตรฐานในการทำประมงเชิงพาณิชย์เพื่อส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหนึ่งปี เนื่องจากกำหนดวันที่เดิม ระบุให้กระบวนการเปรียบเทียบต้องเสร็จสิ้นภายในแปดเดือนนับจากวันที่สมัคร ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้ารับการประเมินมากถึงเกือบ 3,000 ราย รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กระบวนการทั้งหมดล่าช้าออกไป

ภายใต้กำหนดวันที่ใหม่ ผู้ทำประมงสามารถส่งใบสมัครได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และจะได้รับการดำเนินการเปรียบเทียบจนเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

780 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top