สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration – FDA) เสนอร่างระเบียบเพิ่มเติมภายใต้ กม. Food Safety Modernization Act (FSMA) เรื่องการบันทึกข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับอาหาร
โดยเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2563 FDA สหรัฐฯ ตีพิมพ์ประกาศเรื่องร่างระเบียบการบันทึกข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับเพิ่มเติมสำหรับอาหารบางกลุ่ม (“Requirements for Additional Traceability Records for Certain Foods” หรือ Food Traceability Proposed Rule) ใน Federal Register เสนอข้อกำหนดเพิ่มเติมเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับและเก็บข้อมูลสำคัญจากผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้ทำบรรจุภัณฑ์ หรือผู้ที่ครอบครองผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ข้อมูลด้านการเพาะปลูก การขนส่ง การรับสินค้า และการแปรรูปสินค้า ในอาหารบางประเภทที่รวมอยู่ในรายการ Food Traceability List (FTL) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบสามารถระบุแหล่งที่มาของอาหารได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน
Food Traceability List ประกอบไปด้วยอาหาร หรือส่วนประกอบของอาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการปนเปื้อน และการก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ เช่น ชีส ไข่ เนยถั่ว สมุนไพร อาหารทะเลบางชนิด สลัดผัก และผักผลไม้ประเภทต่าง ๆ ทั้งสดและตัดแต่ง (อาทิ แตงกวา พริก และมะเขือเทศ) โดยมีข้อยกเว้นให้แก่ผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวที่เข้าข่ายบางประการ เช่น ฟาร์มขนาดเล็ก และฟาร์มที่ขายสินค้าโดยตรงให้แก่ผู้บริโภค
การเสนอข้อกำหนดเพิ่มเติมนี้เป็นนโยบายสำคัญตามแผนงานเรื่อง “New Era of Smarter Food Safety Blueprint” ที่ได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ FDA เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2563 ตามกฎหมาย FSMA มาตรา 204 เรื่อง Enhancing Tracking and Tracing of Food and Recordkeeping โดยมีเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่
- การจัดระบบตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้เทคโนโลยี
- การใช้เครื่องมือและแนวทางในการป้องกันและตอบสนองต่อการแพร่ระบาด
- การปฏิรูปโครงสร้างการทำธุรกิจและการค้าปลีกให้ทันสมัย
- วัตนธรรมความปลอดภัยของอาหาร
ทั้งนี้ FDA ระบุให้ข้อกำหนดเพิ่มเติมนี้มีผลใช้บังคับภายใน 60 วันหลังจากวันที่ได้ประกาศกฎระเบียบสุดท้ายใน Federal Register และเสนอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกรายใน supply chain จะต้องเก็บและบันทึกข้อมูลและปฏิบัติตามข้อกำหนดภายใน 2 ปีนับจากวันที่กฎระเบียบสุดท้ายมีผลใช้บังคับ
ข้อมูลภูมิหลัง
ปัจจุบันการตรวจสอบย้อนกลับอาหารภายใต้กฎหมาย FSMA กำหนดให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหารจัดเก็บข้อมูลแบบ one step back/one step forward คือการเก็บข้อมูลปลายทางของผู้ที่ได้รับอาหาร และข้อมูลแหล่งที่มาของอาหารเท่านั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ยังคงไม่เพียงพอต่อการตรวจสอบย้อนกลับ และขาดความเชื่อมโยงของระบบ supply chain และกระบวนการขนส่ง ส่งผลให้ที่ผ่านมา การตรวจสอบการระบาดเป็นไปอย่างล่าช้า และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ประธานาธิบดีโอบามา เป็นผู้ลงนามกฎหมาย Food Safety Modernization Act เมื่อ 4 ม.ค. 2554 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการป้องกันโรคภัยและผลกระทบที่เกิดจากการบริโภคอาหาร (foodborne illness) ซึ่งครอบคลุม ทั้งอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ โดยให้อำนาจแก่ FDA ในการควบคุมอาหารนำเข้าให้มีมาตรฐานเดียวกันกับอาหารภายในประเทศ ผ่านกระบวนการรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยและป้องกันการปนเปื้อนของแหล่งอาหาร และ supply chain ทั้งนี้ กม. ดังกล่าวเป็นการปฏิรูป กม.ด้านความปลอดภัยของอาหารที่ครอบคลุมมากที่สุดในรอบ 70 ปี