วิกฤติขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งผลกระทบภาคธุรกิจไปทั่วโลก ไทยมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร

ปัญหาเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนส่งผลกระทบในกลุ่มผู้ค้าสินค้าอุปโภคบริโภค ค้าปลีกและอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหนักตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และดูเหมือนจะส่งผลกระทบไปอีกในปีนี้ เหตุจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในสหรัฐอเมริกามีความต้องการเฟอร์นิเจอร์อุปกรณ์ออกกำลังกายและสินค้าอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในกลุ่มผู้ที่ทำงานจากบ้าน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในระบบการหมุนเวียน และขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ

จากการขาดความสมดุลในระบบการขนถ่ายสินค้า ทำให้มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เปล่าติดอยู่ในท่าเรือต่าง ๆทั่วโลกจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหา “คอขวด” ที่ส่งผลกระทบตั้งแต่โรงงานผลิตไปจนถึงท่าเรือสำหรับขนถ่ายสินค้า กรณีดังกล่าวทำให้มีแนวโน้มว่า สถานการณ์การขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้านั้นจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพร่วมหารือ เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน และปัญหาค่าระวางเรือและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเพื่อติดตามสถานการณ์ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ผ่านมา พบว่า สาเหตุหลักเกิดจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งออกสินค้ายังคงตกค้างที่ท่าเรือปลายทางสหรัฐฯ ประมาณ 70% ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 2 เดือน ในการเวียนกลับมายังประเทศที่ส่งออกสินค้า

เบอร์นี่ ทอมป์สัน ผู้ก่อตั้งบริษัท  Plugable Technologies ในรัฐวอชิงตัน ผู้ค้าสินค้าปลีกผ่าน Amazon ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า สถานการณ์ไม่เป็นไปตามแผนที่เขาวางไว้ และตอนนี้บริษัทของเขาก็ตกอยู่ในสถาการณ์เดียวกันกับผู้นำเข้ารายอื่น ๆ เขากังวลว่าสินค้าในสต็อกจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

เขากล่าวว่า โรงงานแห่งใหม่ของเขาในประเทศไทยเป็นที่แรกที่ประสบความล่าช้าประมาณ 4 สัปดาห์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทขนส่งได้ส่งตู้คอนเทนเนอร์เปล่าไปยังช่องทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนแบบด่วนพิเศษแต่การขนส่งติดขัด และตอนนี้การจัดส่งที่เหลือจากจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก ถูกเลื่อนออกไปมากกว่าสามสัปดาห์แล้ว

นอกจากนายทอมป์สันแล้ว บริษัท Costco Wholesale Corp ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ และ Honda Motor Co Ltd ในสหราชอาณาจักร ต่างก็ประสบปัญหาความล่าช้าเช่นกัน ซึ่งดูเหมือนว่าในขณะนี้ทุกบริษัทต่างพยายามที่จะขนส่งสินค้าของตนให้ได้โดยเร็วที่สุด จึงส่งผลให้เกิดความต้องการจองพื้นที่ในเรือส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ โดยในปัจจุบันเรือขนส่งสินค้าได้ขนสินค้าเต็มความจุติดต่อกันมาตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมซึ่งนับเป็นอัตราที่สูงในรอบทศวรรษ

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกที่ใช้ตู้คอนเทนเนอร์มากกว่าปีละ 200 ล้านตู้ กำลังเร่งส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าก่อนจะหยุดยาวในช่วงตรุษจีน

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางกรมเจ้าท่าเตรียมออกประกาศกำหนดช่วงเวลาที่จะให้เรือขนาด 400 เมตร ซึ่งสามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้กว่า 25,000 ตู้ เข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จากเดิมที่จะต้องขออนุญาตถึงจะเข้ามาได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาประเทศไทยได้มากขึ้น ส่วนเรือขนาด 300 เมตร ที่บรรจุตู้คอนเทนเนอร์ได้ประมาณ 10,000 ตู้ ยังสามารถเข้าเทียบท่าได้ปกติ

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.reuters.com/article/us-global-trade-shipping/global-cargo-logjam-deepens-delaying-goods-bound-for-retailers-automakers-idUSKBN28X1AJ
https://www.prachachat.net/economy/news-590598

1,704 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top