โควิด-19 ทำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซบ และสร้างโอกาสใหม่ให้กับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย

การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมหลัก ๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศไทยเป็นหลักล้านล้านบาท แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวเมื่อปี พ.ศ.2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 760,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงถึง 1.93 ล้านล้านบาท หรือติดลบ 71.75 % จากช่วงเดียวกันของปี 2562

สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การเดินทางเข้าออกนอกประเทศต้องหยุดชะงัก และถึงแม้กิจกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศยังดำเนินต่อไปได้อยู่ แต่รายได้ที่เกิดขึ้นจากคนภายในประเทศเองก็ไม่สามารถจะหล่อเลี้ยงทั้งอุตสาหกรรมได้

นอกจากการท่องเที่ยวเพื่อสันทนาการที่เราคุ้นเคยแล้วนั้น รูปแบบการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับ ประเทศไทยอย่างมาก คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือ Health Tourism โดยในตลาดท่องเที่ยวโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมูลค่าประมาณ 1,604 พันล้านบาท ซึ่ง ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 285 พันล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก

เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดท่องเที่ยวในประเทศไทยเอง การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 4 รองจากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คิดเป็น ประมาณร้อยละ 15.6 ของรายได้จากการท่องเที่ยวโดยรวม และมีอัตราการขยายตัวที่ค่อนข้างสูง ประมาณร้อยละ 7.5 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2558 จนถึงปี พ.ศ. 2563

เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า ไทยได้แสดงให้นานาชาติเห็นถึงศักยภาพด้านการแพทย์จากวิกฤติการแพร่ของโควิด-19 โดยไทยได้ตอกย้ำความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มการจ้างงานและดึงเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศแล้ว ยังส่งผลบวกเชื่อมโยงไปยังหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย องค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการเป็น Medical Hub ของไทย คือ 1. ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service Hub) 2. ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) 3. ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ (Product Hub) และ 4. ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย (Academic Hub)

ด้าน น.ส. สุจิตรา อันโน นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า เทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่จะส่งเสริมให้ไทยเข้าใกล้ความฝันการเป็น Medical Hub ประกอบด้วย

  1. การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สามารถนำข้อมูลทางพันธุกรรมมาใช้ในการตรวจวินิจฉัย การรักษา การเลือกใช้ยา และการทำนายผลการรักษา โดยคาดว่า จะมีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึง 4.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2568 หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.7%
  2. เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) ที่มุ่งเน้นการทดแทน การซ่อมเสริม การฟื้นฟูเซลล์และเนื้อเยื่อ รวมถึงอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสื่อมถอยจากอายุที่มากขึ้น คาดว่าภายในปี พ.ศ.2564 จะมีมูลค่าในตลาดโลกเพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปี 2562 แตะระดับ 7.68 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยถึง 19.8% ต่อปี
  3. เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ (Reproductive Medicine) คือการทำเด็กหลอดแก้ว โดยไทยมีชื่อเสียงด้านนี้อยู่พอสมควร ซึ่งคาดว่าในปี พ.ศ.2568 จะมีมูลค่าตลาดโลกกว่า 2.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี

นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าให้กับประเทศจุดหมายปลายทางได้อย่างมากมาย เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ มักจะมีการศึกษาดี ฐานะปานกลางถึงสูง ระยะเวลาในการพักอยู่ในประเทศยาวนาน และมีงบประมาณในการใช้จ่ายต่อการเดินทางครั้งหนึ่งสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเยือนประเทศไทยเพื่อรับบริการด้านสุขภาพสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี และฝรั่งเศส

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.prachachat.net/finance/news-575447

1,243 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top