ไทยหนุนเลี้ยงจิ้งหรีดป้อนตลาดโลก หลังพบส่งออกไปสหรัฐฯ โต 23% ต่อปี

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก พร้อมประสานทุกหน่วยงาน ปั้นฟาร์มตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี พัฒนาสูตรอาหาร ดึงผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดรับซื้อ

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ภาคเอกชนผู้ผลิต/แปรรูป และจำหน่ายจิ้งหรีด-ผลิตภัณฑ์ (ขวัญใจฟาร์ม และเปี่ยมสุขฟาร์ม) กลุ่มเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เป็นต้น

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงจิ้งหรีดในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี อีกทั้งเสริมสร้างรายได้ ช่วยแก้ปัญหาความยากจน ตลอดจนวางเป้าให้เป็นฐานการผลิตป้อนตลาดโลก โดยมีประเด็นสำคัญ คือส่งเสริมให้มีการตั้งฟาร์มมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อผลิตจิ้งหรีดคุณภาพ โดยให้จ.สุพรรณบุรีนำร่องด้วยฟาร์มรวม 200 ราย

โดยก่อนหน้านี้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มองเห็นโอกาสและส่งเสริมให้ไทยเป็นมหาอำนาจจิ้งหรีดโลก โดยได้มอบหมายทุกหน่วยบูรณาการ ยกระดับฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐาน พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในฐานะครัวโลก

ซึ่งดร.เฉลิมชัย ได้มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ โดยได้มอบหมายหน่วยงานในสังกัดส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภค เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกได้หันมาบริโภคจิ้งหรีดมากขึ้น

ตลาดส่งออกไทยไปต่างประเทศได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี โดยเฉพาะ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ จีน ประกอบกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคจิ้งหรีดกัน เพราะเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อีกทั้งมีราคาถูก และหาได้ง่ายในท้องถิ่น และสามารถนำมาผลิตหรือแปรรูปได้หลากหลาย

โดยปัจจุบัน เกษตรกรมีการรวมตัวเป็นกลุ่มแปลงใหญ่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีด นิยมสายพันธุ์ทองคำ ทองแดง และสะดิ้ง แหล่งสำคัญที่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม บุรีรัมย์ และมหาสารคาม ซึ่งในปี พ.ศ.2561 มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศกว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตกว่า 700 ตัน/ปี รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท/ปี

การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด สศก. ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแนวทาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจิ้งหรีด ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สู่การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การเลี้ยงจิ้งหรีดทำได้ง่ายแถมยังเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากเกษตรกรสามารถเก็บไว้บริโภคเองได้แล้ว ยังสามารถใช้เป็นอาหารสัตว์ และสู่การส่งออกเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารไทยในฐานะครัวของโลกอีกด้วย

สำหรับที่สุพรรณบุรีจะมีการคัดเลือกเกษตรกรเป้าหมาย โดยนายกเทศบาลตำบลเป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับด้านระบบงานส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด มอบหมายกรมปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ เป็นผู้ประสานงานที่ส่วนกลาง และให้ “ขวัญใจฟาร์ม” และ “เปี่ยมสุขฟาร์ม” เป็นผู้รับซื้อผลผลิตในราคาประกัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติจะร่วมกับกรมปศุสัตว์ให้คำแนะนำด้านการจัดทำมาตรฐานฟาร์มตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีแก่เกษตรกร และให้กรมปศุสัตว์ โดยสำนักพัฒนาอาหารสัตว์ คิดสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ในท้องถิ่นราคาถูก มาผสมอาหารสัตว์ใช้เองนำไปเลี้ยงสัตว์ให้เหมาะสมกับระยะการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตของสัตว์เลี้ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์

514 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top