“ข้าวดอกมะลิ 105” กับความหวังในการทวงบัลลังก์การส่งออกข้าวคืนของไทย ตอนที่ 1/2

ไทยเสียแชมป์จากการเป็นผู้นำด้านการส่งออกข้าวให้กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน จากที่เคยส่งออกได้ปีละมากกว่า 10 ล้านตัน ประเทศไทยกลับสูญเสียตำแหน่งแชมป์ให้กับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามกับสงครามการส่งออกข้าวที่เข้มข้น ด้วยราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าทำให้เวียดนามสามารถส่งออกข้าวในคุณภาพใกล้เคียงกับของไทย ด้วยราคาที่น้อยกว่า

แต่เมื่อต้นเดือนธันวามคมของปีที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิของประเทศไทยได้รับรางวัล ข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปี 2563 หรือ “World’s Best Rice Award 2020” จากการประกวดข้าวที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจัดเป็นประจําทุกปีในงานประชุมข้าวโลก หรือ World Rice Conference ครั้งที่ 12 จัดโดย The Rice Trader ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ข้าวของไทยกลับมาเป็นที่จับตามองจากนานาประเทศ

การชนะการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของไทยจะแก้เกมให้การส่งออกข้าวของไทยกลับมาครองแชมป์เหมือเดิมได้หรือไม่ วันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ ได้รับเกียรติจาก น.ส.นนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว มาร่วมพูดคุยถึงข้ามหอมมะลิไทย “พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105” ที่พาประเทศไทยไปทวงแชมป์สมัยที่ 6 คืนมาจากเวทีการประกวดข้าวระดับโลก

รู้จักข้าวดอกมะลิ 105

ชื่อของข้าวหอมมะลิ คือ ข้าวหอมมะลิไทย หรือ THAI HOM MALI RICE ซึ่งมีด้วยกัน 2 พันธุ์ ได้แก่

  1. พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กรมการข้าวประกาศเป็นพันธุ์รับรองเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2502 ซึ่งมีหลายคนเข้าใจชื่อพันธุ์ข้าวผิด โดยเรียกว่า “ข้าวหอมมะลิ 105” แต่ที่จริงแล้วชื่อนั้นเป็นการเรียกที่ผิด เพราะชื่อที่ถูกต้องของข้าวพันธุ์นี้คือ “ขาวดอกมะลิ 105”
  2. พันธุ์ กข15 ซึ่งกรมการข้าวประกาศเป็นพันธุ์รับรองเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2521

โดยข้าวที่ส่งเข้าประกวดและคว้ารางวัลมาคือข้าวดอกมะลิ 105 ซึ่งถือว่าเป็นผลงานของประเทศไทย เกษตรกร โรงสี ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกข้าว และหน่วยงานของภาครัฐได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และรัฐบาล เป็นรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ

นอกจากนี้ยังถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรําลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2563 ด้วยพระองค์ทรงมีคุณูปการเป็นอย่างยิ่งกับวงการข้าวไทยเพราะพระองค์ท่านทรงเป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและการพัฒนาข้าวไทย”

การประกวดครั้งนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวในนามของประเทศไทย ได้นําข้าวหอมมะลิไทยเข้าประกวด ซึ่งมีประเทศที่เข้าประกวดด้วยกัน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม กัมพูชา จีน และสหรัฐฯ โดยมี ข้าวที่ส่งตัวอย่างในการประกวด 20 ตัวอย่าง และจะมีคณะกรรมการที่เป็นเชฟจากสถานที่ต่าง ๆ เข้ามาให้ คะแนน พบว่าประเทศไทยและเวียดนามผ่านเข้ารอบสุดท้าย และผลการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ ข้าวหอมมะลิไทยชนะการประกวด เป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปี 2563 หรือ “World’s Best Rice Award 2020” ส่งผลให้เวียดนามได้อันดับ 2 และกัมพูชาได้อันดับ 3

คุณนนทิชาได้อธิบายถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของข้าวหอมมะลิไทย มีลักษณะเฉพาะของคุณภาพข้าวดังต่อไปนี้

  1. คุณภาพทางกายภาพของเมล็ด คือ มีลักษณะโดยทั่วไปเป็นข้าวที่มีรูปร่างเมล็ดเรียวยาว ข้าวสารใส-แกร่ง ท้องไข่น้อย
  2. คุณภาพทางเคมีของเมล็ด คือ มีปริมาณอมิโลสต่ำ (ร้อยละ 13.0 – 18.0)
  3. คุณภาพข้าวสุก คือ ข้าวสุกมีสีขาวเหมือนสีกลีบดอกมะลิ และเนื่องจากเป็นข้าวอมิโลสต่ำ เนื้อสัมผัสข้าวสุกจึงเหนียวนุ่ม
  4. มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากสารหอม 2-Acetyl-1-Pyrroline (2AP) จึงเป็นข้าวหอมที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ใหม่หลังคว้าแชมป์

World’s Best Rice Award 2020 ครั้งที่ 12 นี้ เป็นการจัดงานแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก และข้าวหอมมะลิ ไทย พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ชนะเลิศการประกวด “ข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปี 2563 หรือ World’s Best Rice Award 2020 ถือว่าไทยกลับมาทวงแชมป์ได้อีกครั้ง และเป็นแชมป์ครั้งที่ 6 จากที่จัดมาทั้งหมด 12 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552

ข้าวหอมมะลิที่ไทยส่งประกวดเป็นพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัด อุบลราชธานี ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งอยู่ในระยะข้าวใหม่ของฤดูกาลผลิต 2563/64 โดย ส่งไปเพียงตัวอย่างเดียว ปริมาณ 2 กิโลกรัม ส่วนเวียดนามส่งข้าวหอมพันธุ์ ST25 โดยเกณฑ์การตัดสินอย่าง แรกจะคุณภาพทางกายภาพของเมล็ดข้าวสาร จากนั้นจะพิจารณาคุณภาพการหุงต้มรับประทานหลังจากหุง สุกเป็นข้าวสวยแล้ว โดยให้เชฟทดลองชิม แต่ไม่ระบุว่าเป็นข้าวจากประเทศไหน แล้วมาให้คะแนนรวมกัน ซึ่งข้าวไทยชนะทั้งเกณฑ์คุณภาพก่อนหุง และเมื่อหุงสุกแล้ว

“การได้รับรางวัลครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศเดินหน้ายุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 ที่ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐบาล โดยตั้งเป้าหมายว่า 5 ปีนี้ประเทศไทยจะต้องเป็นผู้นําการผลิตตลาดข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของโลกให้ได้ ซึ่งเมื่อไทยได้รางวัลข้าวที่ดีที่สุด จะเป็นการสร้างความ เชื่อมั่นและยกระดับคุณภาพข้าวไทยในตลาดโลกได้มากขึ้น” คุณนนทิชากล่าว

ประเทศไทยได้ตั้งยุทธศาสตร์ข้าวหลังจากจากนี้ว่า จะมุ่งพัฒนาพันธุ์ข้าว 7 ชนิด ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง ข้าวเหนียว และข้าวสี อีกทั้งจะพัฒนาเพิ่มพันธ์ข้าวให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12 ชนิด เพื่อการแข่งขันได้ในตลาดให้ได้ ทั้งใน 3 ตลาดหลัก ได้แก่ ตลาดข้าวพรีเมี่ยม ประกอบด้วยข้าวหอมมะลิไทย และข้าวหอมไทย ตลาดข้าวทั่วไป ประกอบด้วย ข้าวขาว พื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง และข้าวนึ่ง และข้าวตลาดเฉพาะ ประกอบด้วย ข้าวเหนียว ข้าวสี และข้าวคุณภาพ พิเศษ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดข้าวที่หลากหลาย

ต่อตอนที่ 2/2

481 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top