ข้าวหอมมะลิไทยที่ส่งเข้าประกวดจนคว้ารางวัลมาเป็นข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพสูง นอกจากเป็นข้าวที่อยู่ใน ระยะข้าวใหม่แล้ว ฤดูกาลผลิตนาปี 2563/64 นี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสภาพภูมิอากาศเอื้ออํานวย ได้แก่ ปริมาณนน้ำฝนพอเหมาะ
ในระยะก่อนเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์มีอุณหภูมิหนาวเย็น และนาเริ่มขาดน้ำในระยะเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ข้าวหอมมะลิมีข้าวสารที่ใส-แกร่ง และสร้างสารหอมระเหย ในปริมาณสูง ส่งผลให้ข้าวมีความหอมมาก และชาวนานําเอาเทคโนโลยีการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพสูงของกรมการข้าวมาใช้มากขึ้น ทั้งการปฏิบัติก่อนและหลังเก็บเกี่ยว
สถานการณ์การส่งออก
สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกไว้ว่า เมื่อรวมทุกกลุ่มข้าวพบว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยมีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่อื่น ๆ โดยเมื่อปี พ.ศ.2560 ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 11.67 ล้านตัน ปี พ.ศ. 2561 ไทยส่งออกปริมาณ 11.23 ล้านตัน ปี พ.ศ. 2562 ไทยส่งออกปริมาณ 7.58 ล้านตัน ส่วนปี พ.ศ. 2563 ไทยส่งออกปริมาณ 5.7 ล้านตัน
โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้เปิดเผยข้อมูลกรมศุลกากรว่า การส่งออกข้าวในช่วง 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) 2563 ลดลง 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่า 106,656 ล้านบาท หรือ 3,418.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 12.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไทยถือเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 รองจากคู่แข่งอินเดีย ซึ่งส่งออกได้ 13.05 ล้านตัน และเวียดนามส่งออกได้ 6.3 ล้านตัน
การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในปี พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เดือน มกราคม- พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 หรือ 11 เดือน มีปริมาณการส่งออก 1.29 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.57% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 คิดเป็นมูลค่า 1,312.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลง 0.93% เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิลดลง
คุณนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าวมองว่า ข้าวหอมมะลิไทยยังคงรักษาระดับการส่งออกได้ดีแม้มีราคาสูงกว่าคู่แข่งและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปยัง 4 ตลาดสําคัญ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวม กว่า 50% ของการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา สิงคโปร์ และฮ่องกง” คุณนนทิชาอธิบาย
“นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยไปยังตลาดดังกล่าวเพิ่มขึ้น 10.46% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.69% แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของข้าวหอมมะลิไทยที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดข้าวพรีเมี่ยมที่มีกําลังซื้อสูง และต้องอย่าลืมว่าชาวต่างชาติทุกคนไม่ได้ชอบกลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิไทย บางประเทศก็นิยมรับประทานข้าวนุ่มแบบไม่มีกลิ่น ซึ่งทำให้ข้าวไทยสายพันธ์อื่น ๆ ก็มีความสำคัญต่อการส่งออกไม่แพ้กัน”
คาดการณ์การส่งออก 2564
หลังจากที่สถานการณ์การส่งออกข้าวจากปี พ.ศ. 2563 ทำได้ไม่ดีนัก ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเรื่องของราคาการลงทุนและค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อราคาขายของข้าว โดยสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดการณ์สถานการณ์ของปีนี้เอาไว้ว่า
- การส่งออกข้าวปี พ.ศ. 2564 มีแนวโน้มส่งออกข้าวสูงกว่าปี พ.ศ. 2563
- ประเมินว่าการส่งออกจะอยู่ที่ 6 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายการส่งออกทั้งปีที่ 6.5 ล้านตัน ซึ่งปรับจากเป้าหมายเดิมที่ 7 ล้านตัน
- ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้การส่งออกปี พ.ศ. 2564 ขยายตัวมาจากแนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียวของคู่แข่งที่ปรับตัวลดลง ซึ่งคาดว่าผู้นําเข้าข้าวจะหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น
- แนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิไทยจะลดลงมาอยู่ที่กว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ข้าวขาวจะลดลงมาจากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ 495 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนาม ราคาจะต่างกันอยู่ที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นเชื่อว่าโอกาสในการส่งออกข้าวน่าจะมีสูงขึ้น
รางวัลเป็นเครื่องการันตี
การจัดการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลกเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และไทยก็คว้ารางวัลจากการจัดการประกวดในปีแรก และคว้าแชมป์มาอีกในปีถัดมา จากนั้นไทยก็มาชนะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2557 พ.ศ. 2559 พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2563 ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน
การได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ปี พ.ศ. 2563 หรือ “World’s Best Rice Award 2020” เมื่อปีที่แล้ว เป็นการชนะเลิศครั้งที่ 6 จากการประกวด 12 ครั้ง โดยคุณนนทิชาได้กล่าวว่า กรมการข้าวมีความเชื่อมั่นว่า การชนะการประกวดทุก ๆ ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ จะส่งผลดีต่อสถานการณ์การส่งออกข้าวของไทยอย่างแน่นอน
นอกจากรางวัลที่เป็นตัวช่วยแล้ว ในขณะนี้กรมการข้าวได้คิดค้นวิธีการเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวดอกมะลิ 105 โดยการปรับปรุงให้ปลูกได้มากกว่าปีละครั้งเหมือนที่เป็นอยู่ เป็นปีละสองครั้งเพื่อให้สามารถเพิ่มผลผลิตตามความต้องการของตลาดที่กำลังจะมีมากขึ้น
“มันจะเป็นข้อพิสูจน์ความสำเร็จด้านการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย และการวิจัยเทคโนโลยีการผลิตข้าวหอมมะลิ และข้าวกลุ่มต่าง ๆ ย่อมมีส่วนในการสนับสนุนเกษตรกรทั้งในด้านการผลิตและความต้องการของตลาด” คุณนนทิชากล่าว
“นอกจากส่งผลดีต่อระบบการค้าข้าวของไทยโดยรวมแล้ว การชนะรางวัลจากการประกวดในปีที่ผ่านมาถือเป็นการยกระดับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพข้าวของไทยในตลาดโลกต่อไปในอนาคตได้”