แผนพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Economy ของไทยกับนโยบาย Green Economy ของไบเดนจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร

หลังจากที่นายโจ ไบเดน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา ประชาคมโลกต่างจับตามองว่าไบเดนจะแก้ปัญหาประเทศอย่างไร โดยก่อนที่นายไบเดนจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาได้ออกนโยบายการแก้ปัญหาเร่งด่วนในหลาย ๆ ด้านทั้งทางด้านสาธารณสุข การจัดการกับโควิด-19 และการแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ

โดยหนึ่งในหลาย ๆ นโยบายการพัฒนาประเทศของไบเดนก็คือการกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน และแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ธุรกิจใหม่ ๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาสู่เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Economy ตามกระแสหลักของโลก

ในส่วนของไทยเองก็ได้มีความพยายามในการพัฒนาแนวคิดแบบเดียวกันนี้เมื่อ 2 ปีก่อน ผ่านนโยบาย “เศรษฐกิจชีวภาพ” หรือ Bio Economy ที่รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นอีกหนึ่งโมเดลในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ซึ่งเป็นแนวคิดที่มุ่งเน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากการเกษตร

แต่มาวันนี้ รัฐบาลไทยได้ประกาศโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้นมา ภายใต้ชื่อ “BCG Economy” พร้อมย้ำว่าโมเดลนี้จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับฐานรากได้อย่างแท้จริง ซึ่งโมเดลตัวนี้ได้ถูกพัฒนามาจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 อีกด้วย

BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

โดยที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม

นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสีย

โดยรัฐบาลไทยกล่าวว่า  BCG Economy จะนำพาประเทศไปสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” โดยการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด และมีการตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะช่วยเพิ่ม GDP ของไทย เป็น 4.3 ล้านล้านบาท ในขณะเดียวกัน ยังช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมของไทยให้สมบูรณ์ รวมถึงจะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วย

สำหรับนนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวในความหมายของทีมเศรษฐกิจของไบเดน หมายถึง การสร้างสังคมเศรษฐกิจใหม่ (New Eco-System) ผ่านการให้แหล่งเงินทุนของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ต่อผู้ประกอบการธุรกิจสีเขียวรายใหม่ ๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งนับได้ว่า ณ ช่วงเวลานี้ ถือเป็นจังหวะที่ดี เนื่องจากสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากน่าจะยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายปี ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถก่อหนี้ได้ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจีดีพี โดยไม่กระเทือนต่อเสถียรภาพทางการคลังมากนัก

โดยที่ธุรกิจดังกล่าว จะหันมาใช้แหล่งพลังงานทางเลือกในการผลิต ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนให้มีการแข่งขันกันระหว่างแหล่งพลังงานทางเลือกต่าง ๆ แทนการใช้น้ำมันหรือถ่านหินดังเช่นในอดีต โดยที่สินค้าและบริการแบบเศรษฐกิจสีเขียวนั้นมาจากความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆโดยแท้จริง แทนที่จะมาจากโรงงานที่ผลิตสินค้ามาจำหน่ายของเถ้าแก่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้คาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคไปเสียเองดังเช่นในอดีต

1,867 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top