ไทยปลดล็อค “กัญชง” และ “ใบกัญชา” กับโอกาสในการต่อยอดธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ

หลังจากที่ “กัญชง” ได้ถูกถอดออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และได้รับอนุญาตให้ผลิต นำเข้า และส่งออกได้ อนาคตของกัญชงกับการแปรรูปเป็นสินค้าอุปโภคและบริโภคก็ได้เปลี่ยนไปทันที และนอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสดีในการเริ่มธุรกิจใหม่อย่างการส่งออกสินค้าแปรรูปจากกัญชงของไทยอีกด้วย

ตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค. 64 เป็นต้นไป ทางกระทรวงสาธารณสุขได้อนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) ผ่านการลงนามในกฎกระทรวงของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยทุกภาคส่วนทั้งเกษตรกร ภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป สามารถขออนุญาตปลูกกัญชงได้ทุกวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ การค้า การแพทย์ การศึกษา วิจัย การใช้ตามวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผลิตเมล็ดพันธุ์รับรอง ซึ่งสามารถนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชง ใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง สารสกัดจากกัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น

ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ภายใต้กฎกระทรวงฉบับนี้สามารถขออนุญาตส่งออกกัญชงได้ และภายใน 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ สามารถนำเข้าเมล็ดพันธุ์เพื่อนำมาปลูกได้เช่นกัน

ทันทีที่กัญชงถูกปลดล็อค ศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดโครงการรับสมัครผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โดยรองศาสตราจารย์วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในเรื่องการปลูกกัญชงเพื่อการค้าพาณิชย์

หลังจากที่กฎกระทรวงสาธารณสุขมีผลบังคับใช้เรื่องการอนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) เริ่มตั้งวันที่ 29 ม.ค. 64 จึงจัดให้มีโครงการนำเอกชนมาเชื่อมโยงกับเกษตรกรและประชาชนที่สนใจปลูก พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาให้ข้อมูลรายละเอียดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ

มหาวิทยาลัยแม่โจ้พร้อมสนับสนุนถ่ายทอดในเรื่ององค์ความเกี่ยวกับการปลูก โดยเฉพาะการปลูกเชิงคุณภาพและปลูกแบบอินทรีย์ หลังจากที่ประสบความสำเร็จด้วยดีมาแล้วในการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ระบบอินทรีย์ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งเชื่อมั่นว่ากัญชงจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญต่อไปในอนาคต

ขณะเดียวกัน รองศาสตราจารย์วีระพลเปิดเผยด้วยว่า จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาและกัญชงโดยผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย ในอนาคตอันใกล้นี้มหาวิทยาลัยกำลังจะมีเมล็ดพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ของตัวเองที่พัฒนาขึ้นมาและเป็นสายพันธุ์ไทยด้วย

นอกจากเรื่องการปลูกให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพแล้ว ยังให้คณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยร่วมกันค้นคว้าพัฒนาในเรื่องของการนำกัญชาและกัญชงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง เครื่องปรุงรส หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า

โดยในงานได้มีการนำกัญชามาใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหารได้ 2 เมนู ได้แก่ ไข่เจียว และเทมปุระ กับเครื่องดื่มชา ที่ได้สูตรมาจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยก่อนหน้านี้ทางโรงพยาบาลฯ ได้เปิดตัวเมนูอาหารที่ทำมาจากใบกัญชาเพื่อให้คนได้ทดลองชิมกัน

ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลฯ เป็นหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ได้รับอนุญาตให้ปลูก และผลิตยาจากกัญชาอยู่แล้ว ทั้งยาแผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย

สำหรับ “กัญชา” เป็นนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ในเฟสแรกอยากให้คนไข้เข้าถึงยา ส่วนเฟสที่สอง อยากให้มีการขับเคลื่อนในเรื่องของเศรษฐกิจจากกัญชาให้ได้ ประกอบกับมีประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชาในส่วนของ ใบ ราก ลำต้น ออกจากรายการยาเสพติดให้โทษ

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวว่า ใบกัญชามีสารที่ทำให้เมา (Tetrahydrocannabinol – THC) ในปริมาณค่อนข้างน้อย และมีความปลอดภัยที่จะใช้อยู่พอสมควร จึงพัฒนาเป็นโมเดลในเรื่องของการดูแลสุขภาพด้วยกัญชาได้ และเป็นการเพิ่มมูลค่า โดยเริ่มจากอาหารก่อน จากนั้นจะค่อยๆ ขยายไปยังภาคธุรกิจอื่นเช่น สปา การท่องเที่ยว ฯลฯ

รู้จักกับกัญชง กัญชา และเรียนรู้เทรนด์ตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มเติมได้ที่นี่

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/society/2011401

1,167 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top