สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการขิงในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น

ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความต้องการขิงในตลาดสหรัฐอเมริกาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าขิงรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระตุ้นความต้องการบริโภคขิงเพิ่มมากขึ้น จากความเชื่อที่ว่า ขิงมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีสรรพคุณทางยาที่สามารถช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับโรคได้

สำหรับคนไทยแล้ว ขิงมีชื่อติดเป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพระดับต้น ๆ และยังเป็นสินค้าเกษตรและสมุนไพรที่สำคัญของไทย บ้านเราได้มีการใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะนำไปประกอบอาหาร เครื่องดื่มหรือใช้เป็นยารักษาโรค เพราะขิงมีสรรพคุณทางยามากมาย อาทิ ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืด บรรเทาอาการคลื่นไส้ ช่วยลดน้ำหนัก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าขิงมีส่วนช่วยเพิ่มการทำงานของระบบเผาผลาญในร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยในการฆ่าเชื้อโรคและแบคทีเรีย บำรุงรักษาสุขภาพช่องปาก ช่วยลดอาการอักเสบ เป็นยาลดปวด แก้อาการปวดประจำเดือน รวมถึงเป็นตัวช่วยในการลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง เพราะน้ำขิงมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง

เดิมทีผู้บริโภคสหรัฐฯ นิยมใช้ขิงเพื่อเพิ่มรสชาติและกลิ่นของอาหารในช่วงเทศกาล ความต้องการมาเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของประชากรสหรัฐฯ เชื้อสายเอเชียที่มีรูปแบบการบริโภคขิงหลากหลาย จนกลายเป็นการสร้างความต้องการซื้อมากขึ้นเป็นตลอดทั้งปี จนกระทั่งความต้องการบริโภคขิงเพื่อเป็นสรรพคุณทางยากลายมาเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ทำให้ขิงกลายมาเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มีการประมาณการณ์ว่าในปี 2020 ตลาดขิงสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณกว่า 910.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพื่อเป็นการแสวงหาช่องทางและเพิ่มโอกาสในการส่งออกและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากขิงของไทย ผู้ประกอบการไทยควรพิจารณาแนวโน้มความนิยมและความต้องการสินค้าที่ทำจากขิงในตลาดสหรัฐฯ มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้า ทั้งในรูปแบบของอาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม สินค้าสุขภาพและความงาม ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ เพราะโอกาสในตลาดสหรัฐฯ ไม่ได้จำกัดวงเฉพาะขิงแห้งหรือขิงสดเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสสำหรับสินค้าหลายชนิดที่เป็นผลิตภัณฑ์จากขิง เช่น เครื่องดื่ม ซอสปรุงรส เครื่องสำอาง อาหารเสริม และขนม

เพราะแม้ว่าขิงจะเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในบางพื้นที่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีฮาวายเป็นแหล่งปลูกขิงสายพันธุ์จีนและญี่ปุ่นที่สำคัญ มีผลผลิตสูงสุดส่งเข้าไปจำหน่ายบนแผ่นดินใหญ่ แต่ผลผลิตก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่อำนวย โดยในปี 2019 สหรัฐฯ สามารถผลิตขิงได้ประมาณ 638 เมตริกตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ จึงทำให้สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้า และนั่นก็ทำให้สหรัฐฯกลายเป็นตลาดเข้าขิงที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณร้อยละ 89 ของการนำเข้าสหรัฐฯ เป็นขิงปกติ (ที่มิใช่ขิงอินทรีย์) มีอัตราการเติบโตของการนำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 8.3 ต่อปี ประมาณการนำเข้าในปี 2019 เท่ากับ 78,505 ตัน และข้อมูลล่าสุดของการนำเข้าขิงเป็นแง่งของสหรัฐฯ จากทั่วโลก ในปี 2563 (มกราคม – ธันวาคม) มีมูลค่า 120.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปริมาณการนำเข้ากว่า 102,460 ตัน โดยแหล่งส่งออกขิงไปสหรัฐฯ ที่สำคัญ ก็คือ จีน บราซิล และ เปรู

แม้ไทยจะเป็น 1 ในประเทศที่ส่งออกขิงไปยังสหรัฐฯ แต่ยังไม่อยู่ในอันดับต้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะความสะอาด ปลอดภัย และควรศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการส่งออกด้วย เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกขิงจากไทยไปยังสหรัฐฯ

อ้างอิงข้อมูลจาก:

1,391 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top