กระทรวงอุตฯ ชี้ส่งออกอาหารไทยปีนี้โตขึ้นจากความต้องการสินค้าในกลุ่มโปรตีนจากพืช

กระทรวงอุตสาหกรรมคาดส่งออกอาหารไทยปี 2564 จะโตกว่าปีก่อน โดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถาบันอาหารภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์การส่งออกอาหารของไทยในปี 2564 จะมีมูลค่า 1.08-1.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น10.2-12.2% เทียบกับปีที่ผ่านมาที่หดตัวจากผลกระทบของโควิด-19

อุตสาหกรรมอาหารมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมากและทำให้ไทยกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ “ครัวของโลก” ไทยเคยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป 10 อันดับแรกของโลก ก่อนจะตกอันดับไปในปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีสัดส่วนมากถึง 28 % เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

นายสุริยะกล่าวว่า ปัจจัยที่สนับสนุนให้การส่งออกอาหารไทยโตขึ้นในปีนี้เกิดมาจากราคาสินค้าเกษตร ซึ่งมาจากความต้องการพลังงานทดแทนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากกลุ่มพืชพลังงานทดแทน เช่น ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินสกุลต่าง ๆ ในเอเชีย ซึ่งส่งผลให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศจีน

ล่าสุดผลผลิตวัตถุดิบภาคเกษตรของไทยค่อยๆฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ราคาและรายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ส่งผลดีต่อวัตถุดิบและเกื้อหนุนต่อการบริโภคภายในประเทศ

มูลค่าส่งออกอาหารของไทยช่วง 11 เดือน ของปี 2563 อยู่ที่ 981,430 ล้านบาท เปรียบเทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้วเท่ากับ 1,059,721 ล้านบาท ลดลง 7.39% ถึงแม้ในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม 2563 การส่งออกขยายตัวสูง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เป็นเพียงการสั่งซื้อจากการที่ประเทศคู่ค้าเร่งนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อรองรับการกักตัวในระยะสั้น

สินค้าที่มีอัตราเติบโตดีในช่วง 11 เดือน ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง แม็คเคอเรล/ซาร์ดีนกระป๋อง กุ้งกระป๋อง ปู/หอยลายแปรรูป ไก่แช่แข็ง ผลไม้กระป๋อง–สับปะรด ลำไย มะม่วง ผลไม้รวม ผลไม้แปรรูป เช่น สับปะรดแช่อิ่มอบแห้ง น้ำผลไม้ผสม น้ำส้ม ผักกระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มสินค้าที่มีความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในปี 2564 คือ สินค้าในกลุ่มโปรตีนจากพืช ที่แบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะผลิตภัณฑ์ เช่น ผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์จากพืช ผลิตภัณฑ์ทดแทนอาหารทะเลจากพืช ผลิตภัณฑ์นมจากพืช ผลิตภัณฑ์ทดแทนไข่จากพืช

กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เช่น สินค้ากลุ่มสมุนไพรและเครื่องเทศ กลุ่มถั่วและเมล็ดพืช กลุ่มผลไม้และผัก กลุ่มผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์โพรไบโอติกและพรีไบโอติก และกลุ่มสินค้าอื่นๆ และกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมผลิตแบบยั่งยืน

นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตอาหารออร์แกนิคเพื่อสุขภาพอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และรัฐบาลไทยมีความมุ่งมั่นอย่างมากในการขยายการผลิตออร์แกนิคซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การทำเกษตรอินทรีย์ที่ยาวนานกว่า 700 ปีของประเทศ เครื่องปรุงรสแบบออร์แกนิค ผลิตภัณฑ์จากข้าว และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวเป็นอาหารที่ได้รับการแนะนำในระดับสากล

ส่วนสินค้าไทยที่คาดว่าจะมีแนวโน้มการส่งออกขยายตัว ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมรับประทานและกึ่งสำเร็จรูปพร้อมปรุงสำหรับครัวเรือน กระทรวงอุตสาหกรรมชี้ว่าสินค้าที่มีการบรรจุใหญ่สำหรับธุรกิจบริการอาหารจะเริ่มฟื้นกลับมา หลังจากผู้คนได้รับวัคซีนและออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น

“หากควบคุมการระบาดได้ คาดการณ์ว่าจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นตัว ส่วนคุณลักษณะสินค้าอาหารที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญยังคงเน้นที่ความปลอดภัย สะอาดและถูกสุขลักษณะ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และดีต่อสุขภาพ” นายสุริยะกล่าว

326 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top