ความท้าทายของร้านอาหาร “ไก่ไทย” ในเมืองที่มีคนไทยไม่ถึง 10 คน

เมื่อพูดถึงร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา หลายคนอาจนึกถึงร้านอาหารในเมืองใหญ่ที่มีคนไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่สำหรับเจ้าของร้านอาหาร “ไก่ไทย” ที่เริ่มเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2551 ในเมืองเล็ก ๆ อย่าง มิลเลจวิลล์ รัฐจอร์เจีย และนั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เมื่อเธอเอาชนะความท้าทายนั้นมาได้ จนสามารถก้าวผ่านเป้าหมายความสำเร็จที่เธอได้ตั้งไว้ โดยล่าสุดเธอได้เปิดร้านอาหารรวม 3 ร้าน ร่วมกับหุ้นส่วนซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว และแน่นอนว่า เธอสามารถก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 มาได้แล้ว และดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลป้องกันตัวเอง พร้อมไปกับการสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้กับพนักงานและลูกค้า

พัชรี ไกรทอง หรือ “คุณไก่” เปิดร้าน “ไก่ไทย” เมื่อปี 2551 ก่อนจะมาเปิดร้าน “ไทย เปปเปอร์” ในปี 2558  และ “กินดี96” ในปี 2562 ณ เมืองวอร์เนอร์ โรบินส์ รัฐจอร์เจียร์ โดยมีคุณกุ๊ก สุปราณี ไกรทอง น้องสาวช่วยบริหารร้านไก่ไทยและกินดี96 และ คุณเอ๋หรือแอนนี่ พรทิพย์ ทองอร่าม ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องที่ได้ร่วมกันบุกเบิกเส้นทางธุรกิจตั้งแต่ในช่วงแรกของการเปิดร้าน ช่วยบริหารจัดการร้านไทยเปปเปอร์

ทั้งสามท่านได้เล่าถึงประสบการณ์ในการเดินทางมายังสหรัฐฯ อุปสรรคและความท้าทาย ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่น่าสนใจ และได้พิสูจน์แล้วว่า หากใจและกาย “พร้อม” คุณทำได้!

 

จุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา

คุณไก่เดินทางมาสหรัฐฯในปี 2549 ด้วยวีซ่าแต่งงาน และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของเธอ จากพนักงานบริษัทเอกชนในไทยที่มีประสบการณ์ร้านอาหารเป็นศูนย์ สู่เส้นทางเจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทยในรัฐจอร์เจีย

“ตอนนั้นอายุประมาณ 25 ปี เคยทำงานที่เมืองไทยในบริษัทเอกชนและช่วยเหลือพ่อแม่ตามปรกติ เมื่อเดินทางมาถึงที่นี่อันดับแรกที่คิดเลย คือ เราเป็นคนไทย เราต้องมองหาร้านอาหารไทย แล้วก็ได้สมัครเข้าไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ”

จุดเปลี่ยนสู่การเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย

ในช่วงเวลามากกว่า 1 ปี ที่เธอได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในร้านอาหารไทยและร้านอาหารญี่ปุ่น คุณไก่เฝ้าสังเกตและเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานภายในร้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบการบริการจัดการและการให้บริการลูกค้า จนมาถึงจุดที่เธออยากจะก้าวขึ้นไปอีกขั้น

“เราเป็นคนที่ชอบสังเกตว่าระบบเขาทำอย่างไร เขาจัดการให้การบริการลูกค้าอย่างไร แล้วมันมาถึงจุดหนึ่งที่เราคิดว่า เราสามารถทำได้ เพื่อที่จะต่อยอดชีวิตเราให้ไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้น”

“การเปิดร้านอาหารไทยในเมืองเล็ก ๆ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่แค่ประมาณ 17,000 คน ถือได้ว่าเป็นความกล้าหาญมาก แต่เรามองว่า ในเมืองที่เราอาศัยอยู่เป็นเมืองที่มีนักศึกษาเข้ามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก และนั่นก็ทำให้เราเกิดความรู้สึกว่า เราอยากจะไปเปิดร้านอาหารไทยร้านแรกในเมืองนี้ และจากความคิดตอนนั้นก็คือมาลุยกันที่นั่น และร้านไก่ไทยที่เริมเปิดตั้งแต่ปี 2551 ถึงปีนี้ก็ร่วม 13 ปีแล้ว”

การเปิดร้านอาหารไม่ใช่เรื่องง่าย

 บนเส้นทางธุรกิจในต่างแดนตลอดสิบกว่าปีไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัญหาน้อยใหญ่เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งคุณไก่ คุณกุ๊ก และคุณแอนนี่เอง ต้องตั้งรับกับปัญหาเหล่านั้นและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด พร้อมไปกับการวางแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาเดิม ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

“ร้านไก่ไทยประสบความสำเร็จมากถ้าเทียบกับช่วงแรก ๆ เรามีการปรับเปลี่ยนเมนู มีการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ปรับปรุงราคาและโปรโมชั่นอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งตอนแรกเป็นอาหารไทยอย่างเดียว แต่พอเปิดได้ประมาณสองปีเราก็เริ่มเอาอาหารญี่ปุ่นเข้ามา”

“ก่อนที่จะเริ่มมาทำงานตรงนี้ ทุกอย่างใหม่หมด ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และอื่น ๆ อีกมากมาย พูดอย่างไม่อายเลยว่า ในตอนแรกที่มา เราเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่เก่งเลย แต่เรามีความกล้า แม้จะพูดถูก ๆ ผิด ๆ แต่ก็ไม่เป็นไร เราพร้อมที่จะเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานจากลูกค้า และเรียนรู้ที่จะสื่อสารทั้งภาษาพูดและภาษากาย”

เติมความเป็นไทยเข้าไปในการบริการ

“สิ่งที่เราเรียนรู้ในอันดับต่อมาก็คือ คนไทยมีเสน่ห์ รอยยิ้มคือใบเบิกทางในการเข้าหาลูกค้า เพราะการให้บริการลูกค้าเป็นเรื่องที่สำคัญ เราจำเป็นต้องเก็บทุกรายละเอียด เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกสบายที่จะเข้าหาเรา และสิ่งที่ร้านเราให้กับลูกค้าเป็นพิเศษเลยคือยินดีน้อมรับทุกข้อคิดเห็นของลูกค้า เช่นในกรณีลูกค้าไม่พอใจอาหาร ซึ่งอาจจะเกิดจากความผิดพลาดในการสื่อสารหรือพนักงานของเรา ทางร้านจะยินดีให้บริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนอาหารตามที่ลูกค้าเรียกร้องหรือคืนเงินค่าอาหาร”

“เราใช้ความเป็นไทยใส่เข้าไป ทำให้การแก้ปัญหามันดูง่ายและตรงจุด สำหรับเราแล้วการรับบริการและการที่ลูกค้าจะเข้าถึงเราได้นั้น มันต้องไม่มีเงื่อนไข เพราะเมื่อไรที่ลูกค้ารู้สึกว่าเราเข้าถึงการแก้ปัญหาได้ง่ายและตรงจุด ลูกค้าก็จะกลับมาหาเรา”

โควิด-19

 แน่นอนว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทางร้านอย่างรุนแรง ทำให้ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ยอดขายของร้านลดลงกว่าร้อยละ 50 เพราะนอกจากลูกค้าจะกลัวการออกมาข้างนอกแล้ว พนักงานในร้านซึ่งเป็นชาวอเมริกันมากกว่าร้อยละ 90 ก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะออกมาทำงานที่ร้าน ประกอบกับนโยบายการรักษาระยะห่างทางสังคมของทางภาครัฐ

“ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดเราต้องทำร้านกันเองทั้งหมด พนักงานได้เงินเยียวยาจากทางภาครัฐ เขาก็ไม่จำเป็นต้องมาเสี่ยง ทำให้เราต้องมีการปรับตัว และคุยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้สถานการณ์มันแย่ไปกว่าเดิม”

ทางร้านปรับเปลี่ยนแนวทางการให้บริการ โดยการรับงานผ่านทางออนไลน์และอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการรับอาหารหน้าร้าน หรือบริการส่งตรงถึงบ้าน

จากนั้นไม่นานรัฐบาลมีการประกาศมาตรการผ่อนคลาย โดยจอร์เจียเป็น 1 ใน 5 รัฐแรก ทางร้านจึงได้เรียกประชุมพนักงาน ถึงการกำหนดนโยบายในการป้องกันการแพร่เชื้อโรคอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งตัวพนักงานเองและลูกค้า ว่าทางร้านของเราปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19

“เราดำเนินการตามมาตรการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) มีการจัดเตรียมเจลล้างมือและวัดอุณหภูมิ ให้กับลูกค้าที่เข้ามารับบริการก่อนเข้าร้าน การสวมใส่หน้ากากอนามัย รวมไปถึงการเว้นระยะห่าง ซึ่งจากเติมทางร้านเปิดให้บริการ 100 ที่นั่ง ตอนนี้ลดเหลือ 50 ที่นั่ง ตามมาตรการภาครัฐ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้เข้ามานั่งรับประทานอาหารภายในร้านได้แล้ว แต่พฤติกรรมของลูกค้าก็เปลี่ยนไป เพราะจนถึงขณะนี้ยอดสั่งอาหารกลับไปรับประทานที่บ้านยังมีอยู่เป็นประจำ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ก็ยังคงมีการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์กันอยู่เป็นจำนวนมาก

เคล็ดลับความสำเร็จ

หากพูดถึงความสำเร็จ 3 ผู้บริหารพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าตอนนี้ “ไก่ไทย” ได้ก้าวผ่านจุดนั้นมาแล้ว เพราะนับจากวันแรกของการเปิด 1 ร้านในวันนั้น กลายมาเป็นการเปิดให้บริการ 3 ร้านในวันนี้

“ถ้าถามว่าในวันนี้เราพอใจกับความสำเร็จตรงหน้าหรือไม่ เราพอใจแล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไป เป้าหมายของเราก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย ณ วันนี้เราพอใจกับยอดขาย และที่สำคัญเราพึงพอใจกับลูกค้าที่กลับมาหาเรา”

“เคล็ดลับความสำเร็จ คือ การมองทุกปัญหาให้เป็นความท้าทาย ร้านอาหารมันมีปัญหาเข้ามาทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องใหญ่จากลูกค้าหรือพนักงานในร้าน ที่ทำให้เราต้องตามแก้ทุกวัน เราต้องหาวิธีแก้ไขให้ตรงจุด และรู้ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปัญหาเกิดซ้ำอีก หรือหากมันเกิดขึ้นแล้ว เราต้องทำอย่างไรไม่ให้มันขยายใหญ่โต”

ฝากถึงคนไทยที่อยากทำอาชีพนี้

 “อันดับแรกเลย คือ คุณต้องมีความพร้อมทั้งตัวและใจ เพราะว่าการมาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ปัญหาหนึ่งเลยคือภาษา รวมถึงวัฒนธรรม และอื่น ๆ คุณต้องมีความพร้อมที่จะรับความกดดัน อย่างที่บอกว่าปัญหามันเกิดขึ้นในทุกวัน”

“และการที่คุณจะเป็นเจ้าของร้าน อันดับแรกเลยคุณต้องเข้าใจ กระบวนการวิธีการของร้านในทุกตำแหน่ง หมายความว่าคุณต้องมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ในครัวเลย คุณต้องเข้าใจวิธีการทำอาหาร ต้องรู้วิธีการล้างจาน การเสิร์ฟ การบริการลูกค้า และมีความรู้ทางด้านการบัญชี เพราะแน่นอนว่ามันต้องมีการบริหารเรื่องการเงิน เรื่องการตลาด การจัดทำโปรโมชั่นต่าง ๆ และการประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้ารู้จักร้านของคุณ”

“ถึงแม้ว่าร้านเรามีอาหารรสชาติดี แต่ถ้าเราไม่ทำการตลาดก็ไม่มีลูกค้าเข้ามาหา เราต้องประกาศตัวให้เขารู้จักเราก่อน ซึ่งตอนนี้เรามีโลกโซเชียล และทางร้านก็ใช้เฟซบุ๊กเป็นหลักในการประชาสัมพันธ์ร้าน เพราะลูกค้าสามารถเห็นภาพและโปรโมชั่นได้ทันที และนั่นก็มีผลต่อยอดขายเป็นอย่างมาก”

ติดตามข่าวสาร

  • https://www.facebook.com/Kaithairestaurant
  • https://www.facebook.com/thaipepperwr/
  • https://www.facebook.com/KinD96-Thai-and-Sushi-901692413371892

729 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top