ความอดทน การแก้ปัญหา ความสำเร็จที่ได้มาด้วยสองมือ และการเริ่มต้นในวัย 52

เริ่มต้นชีวิตบทใหม่ที่สหรัฐอเมริกาในวัย 52 ปี ด้วยเงินเพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ กับปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญและการแก้ปัญหาเพียงลำพังในต่างแดน จนพบกับความสำเร็จที่เธอเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าจะสามารถเดินทางมาไกลจนถึงวันนี้ กรรณิการ์ อินเตชะ หรือคุณมด ปัจจุบันอายุ 62 ปี จากจังหวัดเชียงราย เจ้าของร้าน M Thai Kitchen ในรัฐแมริแลนด์

บันทึกหน้าแรกในสหรัฐอเมริกา

“พี่มดทำธุรกิจร้านดอกไม้ที่เชียงรายมา 20 ปีเต็ม ๆ พอมาถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าเราไปต่อไม่ได้แล้ว อาจเป็นเพราะว่าเราเป็นร้านแรกในเชียงรายที่ทำดอกไม้สด ช่วงหลัง ๆ มีร้านขึ้นมาเยอะมาก การแข่งขันสูง สุดท้ายคือเราไม่ไหว บวกกับภาระหนี้สินที่มีกับธนาคาร ถ้าเราไม่ดิ้นเราไม่รอดแน่นอน”

วันหนึ่งคุณมดได้พบกับรุ่นน้องซึ่งเป็นเจ้าของอาคารพาณิชย์ในบริเวณเดียวกัน และเป็นคนที่ได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานที่ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ เธอตัดสินใจเดินทางข้ามทวีปไปกับรุ่นน้องคนดังกล่าวทันทีเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2551

“ก่อนบินน้องคนนั้นถามว่าพี่มดเอาเงินมาเท่าไหร่ พี่มดบอกไปว่าแลกมา 100 เหรียญฯ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเป็นลูกจ้างร้านอาหารในแมริแลนด์”

“เราเคยเป็นนายจ้างมาก่อน เรามาสหรัฐฯ ด้วยหัวใจสองดวง หนึ่งคือดวงใจของนายจ้าง และสองคือหัวใจของลูกจ้าง เราทำทุกอย่างในร้าน”

ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

ปลายปี 2551 เจ้าของร้านที่คุณมดทำงานแจ้งว่าคนงานเยอะ รายได้น้อย จึงจำเป็นต้องลดเงินเดือนพนักงาน จากนั้นไม่นานเจ้าของร้านแจ้งอีกว่า ต้องการที่จะย้ายไปเปิดร้านอาหารในรัฐอื่น และบอกขายร้านต่อให้คุณมด

“แต่ตอนนั้นเราทำได้เพียงเช่าช่วงต่อ เพราะเราไม่มีเงินซื้อกิจการ ซึ่งตอนนั้นเงินที่หาได้จากร้านอาหาร แทบจะไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละเดือน”

“ไม่เคยมีชีวิตช่วงไหนที่พี่มดจะซื่อสัตย์กับนาฬิกาปลุกเท่าช่วงชีวิตช่วงนั้นเลย ต้องตื่นตี 5 ทุกวัน รับโดนัทมาขาย ทำแซนด์วิชขายในตอนเช้า พอ 11 โมงเราก็เริ่มเปิดขายอาหารไทย บอกเลยว่าตอนที่อยู่ไทยไม่เคยทำกับข้าวเลย เพราะเราทำงานค้าขายจนไม่มีเวลาทำอาหาร แต่ข้อดีของร้านอาหารที่นี่คือสูตรอาหารต่าง ๆ ได้มีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเราสามารถจะปรับปรุงหน้าตาและวัตถุดิบของอาหาร แต่สูตรการปรุงรสยังคงเดิม”

สิงหาคม ปี 2553 ร้านอาหารเดิมสิ้นสุดสัญญาเช่ากับเจ้าของตึก คุณมดเจรจาขอเช่าร้านต่อ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ เธอจึงจำเป็นต้องมองหาร้านใหม่ เธอบอกตัวเองว่าเธอจะยอมแพ้ไม่ได้ แม้จะมีเงินเก็บเพียงน้อยนิด

จนกระทั่งวันหนึ่งเธอก็ได้พบกับห้องว่างทำเลดี ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามร้านเดิม แต่ปรากฏว่าห้องว่างแห่งนั้นไม่เหมาะสำหรับการเปิดร้านอาหาร ตัวแทนจึงเสนอตัวเลือกให้เธอ เป็นตึกที่ห่างออกไปประมาณ 5 นาที ผู้เช่าเดิมเคยทำเป็นร้านขายแซนด์วิช เธอจึงตัดสินใจเช่าทันที

“ก่อนที่จะย้ายมาขายร้านนี้ พี่มดบอกเลยว่าชีวิตในสหรัฐฯ คุณต้อง ‘learning by doing’ คุณต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่มีรอยเท้าที่คนเดินมาก่อนทิ้งไว้ให้เราย่ำตาม ตอนที่ย้ายร้านพี่มดกังวลมากว่าจะไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจากภาครัฐ เพราะเคยได้ยินมาว่าบางร้านผ่านไป 12 เดือนก็ยังไม่ผ่าน ซึ่งเรารอนานขนาดนั้นไม่ไหว”

ด้วยความเป็นกังวลเธอสอบถามจากคนรู้จักว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้สามารถผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและเปิดร้านได้ แต่ต่างคนก็ต่างคำตอบ สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจโทรสอบถามเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องงานด้านสาธารณสุขด้วยตนเอง และได้รับคำแนะนำโดยตรงที่ดีและเป็นประโยชน์มาก เจ้าหน้าที่แนะนำให้เธอส่งแบบแผนการจัดวางของในร้าน

“พี่มดก็สอบถามคนที่เขาอยู่ที่นี่มาก่อนอีกว่าต้องทำอย่างไร ได้คำแนะนำมาว่าต้องไปจ้างผู้เชี่ยวชาญเขียนพิมพ์เขียวให้และต้องจ่ายถึง 6-7 พันเหรียญฯ พี่มดโทรไปสอบถามเจ้าหน้าที่อีกว่าเขียนมือเองเลยได้ไหม เจ้าหน้าที่บอกได้ เราก็โล่งใจ ตอนนั้นเหลือเวลาอีก 10 วันกับสัญญาเช่าร้านเดิม ทุกอย่างรีบเร่งไปหมด ทาสีร้านเอง ทำเองทุกอย่าง เพราะค่าแรงแพงมาก พร้อมไปกับการติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายว่าขาดเหลืออะไรบ้าง จะเปิดร้านได้เมื่อไร จนกระทั่งเราได้รับอนุญาตให้เปิดร้านได้ในวันที่ 22 กันยายน ปี 2553”

แต่ระหว่างที่เธอกำลังทำร้านอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ได้เข้ามาแจ้งว่า มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ร้านต้องติดตั้งท่อดักไขมันด้วย และก็เป็นอีกครั้งที่เธอต้องติดต่อหาผู้รับจ้างมาช่วยติดตั้ง และโชคดีที่เธอเจอเจ้าที่ราคาถูกกว่าเจ้าอื่น และสามารถผ่อนจ่ายได้

เมื่อคุณมดย้ายมาเปิดร้านอาหารแห่งใหม่ เนื่องด้วยเวลาเตรียมตัวอันน้อยนิด เธอจึงไม่สามารถแจ้งลูกค้าร้านเดิมของเธอได้ทุกราย และเมื่อลูกค้าจากร้านเดิมบังเอิญเข้ามารับประทานอาหารที่ร้าน เธอก็ได้ทราบว่าลูกค้าหลายคนแปลกใจที่เห็นเธอย้ายมาเปิดตรงนี้ เพราะข้อมูลที่ลูกค้ารับทราบมาก็คือคุณมดย้ายกลับประเทศไทยไปแล้ว

“จากนั้นลูกค้าก็มาร้านเราเป็นประจำทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ แม้แต่ในช่วงโควิดที่ร้านก็มียอดขายเกินคาด เพราะมีลูกค้าสั่งกลับบ้านและสั่งอาหารให้เราไปส่งถึงบ้านจำนวนมาก แม้จะสะดุดไปบ้างในช่วงสองสัปดาห์แรกของการแพร่ระบาด”

“จากวันนั้นถึงวันนี้ พี่มดคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ เพราะเราตั้งใจมาทำงานเก็บเงิน เพื่อดูแลช่วยเหลือทางบ้าน เราทำเองทุกอย่างด้วยสองมือของเรา ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เดินเรื่องขอเป็นพลเมืองสหรัฐฯ ทำใบขับขี่ โดยไม่ต้องเสียค่าทนายแม้แต่สลึงเดียว”

เคล็ดลับความสำเร็จ คือ ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า

“เคล็ดลับความสำเร็จที่สำคัญเลยก็คือ ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า เราลงราคาอาหารไว้ในเมนูแล้ว ถ้าเกิดมีกรณีวัตถุดิบขึ้นราคาเราก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบไป เราไม่สามารถไปตัดทอนให้คุณภาพอาหารในจานของลูกค้าลดลงได้”

คำแนะนำจากประสบการณ์ตรงในการทำงานต่างประเทศ

“สำหรับคนไทยที่คิดจะเปิดร้านอาหารในสหรัฐฯ มีเงินเพียงอย่างเดียวใช่ว่าเราจะทำมันได้เลย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเจ้าของร้านต้องทำได้ทุกหน้าที่ ทุกตำแหน่ง คุณต้องพร้อมที่จะลุย ต้องพร้อมที่จะลงมือทำเอง เพราะถ้าคุณไม่สามารถทำได้แนะนำว่าขอให้เก็บเงินไว้ก่อนจะดีกว่า นอกจากนี้ปัญหาแรงงานก็สำคัญ เพราะแรงงานหายาก และเขามีตัวเลือกเยอะ”

“อยู่ที่นี่ต้องอดทน เรามีความทุกข์ติดมาด้วย คือทุกข์ของการคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอน คิดถึงคนที่บ้านอย่างเต็มหัวใจ เรามาอยู่ตรงนี้ปัญหาอุปสรรคมันมีทุกด้าน เราต้องเข้มแข็งให้พอ เราต้องยืนให้ได้ ต้องกล้าชน อย่าไปหวังพึ่งคนอื่น เพราะไม่มีใครมีประสบการณ์ตรงเหมือนที่เราเจออยู่ เพราะฉะนั้นต้องพยายามตั้งสติแล้วคิดแก้ปัญหาให้ได้ด้วยตัวเอง”

เว็บไซต์: http://mthaikitchen.net/

491 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top