ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จักกรุงเทพฯ ในนาม “กรุงเทพ” จึงเป็นที่มาของ “กรุงเทพ ที ไทม์” (KRUNGTHEP TEA TIME) ร้านอาหารไทยในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ที่เจ้าของร้านตั้งใจทำร้านให้ออกมาในรูปแบบ “THAI TWIST SANDWICH AND TEA BAR” หรือ การนำเอารสชาติอาหารไทยสุดจัดจ้าน อย่างเช่น ต้มยำกุ้งเข้าไปใส่ในแซนด์วิช เพื่อให้การกัดแซนด์วิชเข้าไปแล้วให้ความรู้สึกเหมือนมีต้มยำกุ้งระเบิดอยู่ในปาก
คุณเพลง เปมิกา อัศวโสภณกุล และ คุณผิง พัณณ์นรินทร์ ลีนะวัฒนา เพื่อนรักและหุ้นส่วนที่ยอมรับว่าทั้งคู่ไม่ถนัดในการทำอาหาร แต่รักในการรับประทานอาหาร สู่การเปิดร้านอาหารไทยในฟลอริดา กับแนวคิดของร้านอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการผสมผสานวัฒนธรรมของอาหารไทยรสชาติจัดจ้าน กับวัฒนธรรมการรับประทานขนมปังแซนด์วิชในแบบของชาวตะวันตกได้อย่างลงตัว แต่ก่อนที่จะเกิดเป็นร้าน “กรุงเทพ” หุ้นส่วนทั้งสองท่านใช้เวลากว่า 3 ปี หลังเรียนจบปริญญาโทในสาขาธุรกิจและแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยในรัฐแคลิฟอร์เนียและฟลอริดา กับการท่องเที่ยวไปตามรัฐต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ เพื่อค้นหาไอเดีย เก็บเกี่ยวประสบการณ์ และนำมาเติมแต่งตีกรอบความคิดในการเปิดร้านอาหารให้เป็นภาพชัดเจนมากขึ้น รวมไปถึงรูปแบบในการวางแผนและระบบการจัดการต่าง ๆ ภายในร้าน
จุดเริ่มต้นของ “กรุงเทพ” ในฟลอริดา
คุณเพลงและคุณผิงซึ่งเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว เดินทางมาเรียนระดับปริญญาโทที่สหรัฐฯ ในปี 2551 โดยคุณเพลงได้เลือกเรียนต่อด้านธุรกิจในลอสแอนเจลิส ก่อนจะย้ายมาที่ฟลอริดาเพื่อเรียนสาขาธุรกิจเพิ่มเติม ในขณะที่คุณผิงจบสาขาแฟชั่นจากมหาวิทยาลัยในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งสาขาที่ทั้งคู่เรียนนั้นไม่ได้เกี่ยวกับอาหารเลย
“พอเรียนจบเราก็จะต้องกลับบ้านกันทั้งคู่ เรามานั่งคุยกันว่า ถ้าอยากจะอยู่สหรัฐฯ ต่อเราจะทำอะไรกันดี และถ้าเราจะเปิดธุรกิจ เราก็จะต้องมาดูกันว่าเราถนัดอะไรกัน โดยใช้เวลาค้นหาตัวเองอยู่ 3 ปี”
ทั้งคู่ออกเดินทางเพื่อเติมเต็มประสบการณ์ประมาณ 3 ปี ด้วยการท่องเที่ยวไปยังรัฐต่าง ๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนสามารถหาคอนเซปของร้านได้และเปิดร้านในปี 2558
“เราคิดกันว่า เราทั้งคู่ไม่ชอบทำอาหารเลย แต่เราชอบรับประทาน ชอบสรรหาร้านอาหารอร่อย ๆ เราชอบอาหารทุกประเภท เรารู้ว่าอันไหนมันอร่อย เราเลยตัดสินใจว่าเราจะเปิดร้านอาหาร แต่คอนเซปร้านต้องเป็นอะไรที่เราดูแลได้ หมายความว่าเราหาคนทำงานในครัวได้ง่าย ไม่ต้องมีการฝึกอะไรเยอะ คือใครก็ทำได้ และสุดท้ายเลยได้คอนเซปร้านอาหารที่ทำอยู่ตอนนี้”
กรุงเทพ ที ไทม์ กับคอนเซป “ไทยทวิสต์แซนด์วิช”
“คอนเซปของเรา คือ เราขายแซนด์วิชที่เป็นไทย เราเรียกว่า “ไทยทวิสต์แซนด์วิช” รสชาติมันเหมือนเราเอากะเพราไก่เข้าไปใส่ในแซนด์วิช หรือเอาต้มยำกุ้งเข้าไปใส่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นด้วยตัวคอนเซปอาหาร เราจะเน้นรสชาติแบบไทย เหมือนคุณกัดแซนด์วิชเข้าไปแล้วมีต้มยำกุ้งระเบิดอยู่ในปาก”
“ที่ตัดสินใจเปิดคอนเซปนี้เพราะว่าเราอยากให้คนที่นี่รู้จักอาหารไทยมากขึ้น ไม่ใช่ในมุมที่ว่าต้องเข้าร้านไทยแล้วไปสั่งต้มยำกุ้งแบบเป็นซุป หรือกินผัดกะเพราไก่ราดข้าว เราอยากทำให้คนที่นี่เขาเห็นว่า วัฒนธรรมของเราสามารถปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมอาหารตะวันตก และของชาวอเมริกันได้”
อุปสรรคในการทำงานและสิ่งที่เรียนรู้จากงานที่ทำ
ปัญหาอุปสรรคสำหรับการทำงานในต่างประเทศ แน่นอนว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่จนเกินไป หากเราเรียนรู้ที่จะปรับตัวและทำตัวกลมกลืนไปกับสังคมและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ ๆ เพื่อที่จะใช้ชีวิตในสังคมใหม่ได้อย่างราบรื่นและเป็นสุข
“สำหรับเพลงแล้วอุปสรรคในการทำงานคือวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ในเรื่องความคิด เรื่องไอเดีย ในการที่เราจะเข้าใจกลุ่มลูกค้า เพราะด้วยวัฒนธรรมเราที่โตมาอีกแบบหนึ่ง ด้วยวัฒนธรรมที่มีความอะลุ่มอล่วยกัน มีความเกรงใจกัน เราก็จะค่อนข้างปรับตัวได้ยากในช่วงแรก ๆ กับการที่จะไปเจรจากับลูกค้า ซึ่งเราก็ต้องปรับตัวเรื่องนั้น แต่มันก็ไม่ได้ยากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้ว มันก็คือเรื่องของหัวใจในการบริการ เป็นเรื่องของการปรับตัวเอง ว่าเราอยู่ ณ ตรงไหน เราก็ต้องทำตัวให้มันสอดคล้องไปกับตรงนั้น”
“เวลา” คือเรื่องสำคัญที่คุณเพลงได้เรียนรู้จากการทำงานในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการตรงต่อเวลา การจัดสรรเวลาให้ทุกนาทีมีคุณค่ามากที่สุด
“เรื่องที่เรียนรู้จากการทำงานในต่างประเทศจะเป็นเรื่องของเวลาซะเป็นส่วนใหญ่ ในเรื่องของการจัดสรรเวลา เพราะคนที่นี่เขาตรงต่อเวลา ทุกอย่างเป็นแบบแผน มีการจัดการวางแผนล่วงหน้า และความอดทนในการทำอะไรหลาย ๆ อย่าง”