ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดแมลงเพื่อการบริโภคในภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะเกษตรกรไทยในการเร่งพัฒนาฟาร์ม เพื่อส่งออกจิ้งหรีดของไทยในช่วงที่กระแสการบริโภคโปรตีนจากแมลงในสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น เพราะนอกจาก “จิ้งหรีด” จะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในโปรตีนแห่งอนาคตแล้ว ล่าสุดยังได้รับการขนานนามให้เป็น “ปศุสัตว์รักษ์โลก” อีกด้วย และถือเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยและยั่งยืนในมุมมองประชากรที่รักสุขภาพและรักษ์สิ่งแวดล้อม
นางสาวเสาวลักษณ์ ศุภกมลเสนีย์ ผู้อำนวยการกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ ถึงข้อมูลเบื้องต้นและมุมมองเกี่ยวกับสหรัฐฯ และการบริโภคจิ้งหรีดว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีหลักการกำกับดูแลสินค้าอาหารแปรรูปแตกต่างจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เพราะหลักการของกฎหมายความปลอดภัยอาหารของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน หากไม่ใช่รายการสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงมาก เช่น สินค้าปศุสัตว์สด หรือสินค้าพืชสด ที่มีโอกาสจะปนเปื้อนหรือเป็นพาหะนำโรคติดต่อร้ายแรงสู่มนุษย์หรือสิ่งแวดล้อม สหรัฐฯ จะปฏิบัติในลักษณะ “ไว้ใจ” ต่อผู้ประกอบการผลิตและส่งออกมายังสหรัฐฯ ไว้ก่อน แต่หากพบปัญหาก็จะมียกระดับมาตรการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ
สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนาสูงมาก ทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคหลากหลาย ทั้งส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อสูง และด้วยอุปนิสัยของคนอเมริกันที่มีความรักอิสระ ชอบทดลองสิ่งใหม่ เปิดใจรับเทคโนโลยีและความแตกต่าง โอกาสในการส่งออกสินค้าไม่ว่าจะเป็น อาหารใหม่ สินค้านวัตกรรม หรือสินค้าแปรรูป จึงมีข้อจำกัดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับตลาดที่มีความอนุรักษ์นิยมสูง หรือมีความหลากหลายของเชื้อชาติและพฤติกรรมการบริโภคน้อย ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตได้ทุกสินค้า สามารถสร้างการรับรู้และเปิดใจต่อสินค้าชนิดใหม่ และการตลาดมีอิทธิพลสูงต่อการเลือกซื้อ
ในส่วนของมุมมองที่มีต่อการบริโภคจิ้งหรีด นอกจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization – FAO) จะนิยามให้จิ้งหรีดเป็นหนึ่งในโปรตีนแห่งอนาคต จิ้งหรีดยังได้รับการยกย่องให้เป็น “ปศุสัตว์รักษ์โลก” ที่ผลิตโดยใช้น้ำน้อย มีอัตราแลกเนื้อสูง ทั้งยังเป็นสินค้าที่มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ผ่านการผลิตเชิงอุตสาหกรรมอย่างซับซ้อน ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้หรือเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอื่น และยังสามารถบริโภคได้ทั้งหมด ไม่เหลือทิ้ง จึงถือเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยและยั่งยืนในมุมมองประชากรที่รักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
แนวโน้มในการส่งออกจิ้งหรีดไปยังสหรัฐอเมริกา
ปัจจุบันฟาร์มหลายแห่งในประเทศไทย มีการผลิตจิ้งหรีดส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะสายพันธุ์สะดิ้ง ที่มีศักยภาพในการแปรรูปเป็นผงแป้งจิ้งหรีดที่มีเนื้อสัมผัสดีและมีสีอ่อนกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ง่ายต่อการนำไปผสมวัตถุดิบอาหาร เช่น แป้งทำขนม แป้งประกอบอาหาร หรือโปรตีนเชค โดยไม่ทำให้สีสันหรือรูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงมากนัก และในปัจจุบันสหรัฐฯ ไม่ได้มีข้อห้ามหรือข้อกำหนดเป็นพิเศษในการนำเข้าจิ้งหรีดในฐานะผลิตภัณฑ์อาหารหรืออาหารแปรรูป
ส่วนแบ่งการตลาด
จากการคาดการณ์ของบริษัทวิจัยการตลาดอิสระ ตลาดสินค้าแมลงที่บริโภคได้ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการบริโภคแมลงในรูปแบบขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) โปรตีนบาร์ และแป้ง อาจมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.5 พันล้านบาทในปี 2566
นอกจากตลาดอาหารเพื่อการบริโภคของมนุษย์แล้ว ปัจจุบันยังมีความต้องการนำเข้าจิ้งหรีดเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะการใช้เป็นส่วนประกอบของขนมหรืออาหารสัตว์เลี้ยง ทั้งนี้ สหรัฐฯ และแคนาดา มีเครือข่ายเพาะเลี้ยงแมลงขนาดใหญ่ เช่น Entomofarm ที่กำลังเร่งขยายกำลังการผลิตแมลงในพื้นที่เขตร้อนของสหรัฐฯ เช่น รัฐเทกซัส เพิ่มขึ้น
ต้นทุนการเพาะเลี้ยงแมลงในสหรัฐฯ ปัจจุบันยังคงสูงกว่าไทย แม้ว่าจะมีข้อได้เปรียบด้านวัตถุดิบอาหารในฐานะที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตพืชอาหารส่งออกลำดับต้นก็ตาม แต่ประเทศไทยมีความพร้อมด้านภูมิอากาศสำหรับการผลิตแมลงตลอดทั้งปี ทำให้ปัจจัยด้านสภาพอากาศยังเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญ
ผลพลอยได้จากการเลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีด
ปัจจุบันหน่วยงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อการพัฒนางานวิจัยการใช้ประโยชน์ผลพลอยได้จากการเลี้ยงและแปรรูปจิ้งหรีด เช่น น้ำมันสกัด ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น อาหารสัตว์ อาหารเสริม และเครื่องสำอาง เพิ่มเติม เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย และเป็นน้ำมันสกัดที่ผลิตจากวิธีการที่เป็นธรรมชาติ ทั้งสามารถผลิตหมุนเวียนทดแทนได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากจิ้งหรีดแล้ว ยังมีแมลงกินได้หลายชนิดที่มีศักยภาพในการผลิตและใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในลักษณะการเป็นส่วนประกอบโปรตีนของอาหาร เช่น หนอนนก ซึ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นในช่วงหลัง และถือเป็นคู่แข่งที่สำคัญอย่างยิ่งของจิ้งหรีด ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีตลาดส่งออกจึงควรพิจารณาโอกาสและแนวโน้มการผลิตของสินค้าทดแทนเหล่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อความสามารถในการแข่งขันหรือเข้าถึงตลาด
“จิ้งหรีดไทยโกอินเตอร์” กับบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย
นางสาวเสาวลักษณ์ กล่าวว่า จิ้งหรีดถือเป็นปศุสัตว์เศรษฐกิจที่ยังคงมีอนาคต และมีตลาดรองรับทั้งภายในประเทศและส่งออกที่มีความต้องการจิ้งหรีดแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันไป ในภาวะโลกร้อน ซึ่งมีปัญหาความแห้งแล้งในหลายพื้นที่ ยากต่อการปลูกพืชอาหารหรือเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วไป การผลิตจิ้งหรีดเพื่อตอบสนองความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
“ก่อนหน้านี้เกษตรกรในหลายพื้นที่ จากเดิมที่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริม ได้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลัก เพราะสามารถบริหารจัดการการผลิตได้ในพื้นที่เล็ก ๆ สามารถหมุนเวียนปริมาณการเลี้ยงให้สอดคล้องต่อการสั่งซื้อหรือจ้างผลิตได้โดยไม่ต้องอาศัยแรงงานจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรทั่วไป”
จิ้งหรีดยังมีวงจรชีวิตหรือรอบการผลิตสั้นเพียง 45-60 วัน/รอบการผลิต และใช้ทุนเริ่มต้นน้อย โดยเฉพาะตลาดที่ไม่ได้มีข้อกำหนดที่เข้มงวดด้านการรับรองมาตรฐานตั้งแต่ระดับฟาร์มปฐมภูมิมากนัก เมื่อมีความต้องการสั่งซื้อหรือตลาดรองรับ ก็สามารถเริ่มผลิตได้รวดเร็วและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น
“เมื่อเกิดการหมุนเวียนรายได้ให้เกษตรกรฐานราก วงจรเศรษฐกิจในชุมชนก็จะเกิดการขับเคลื่อนและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีการเปิดตลาดรองรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูง นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของสินค้าและมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยแล้ว ยังถือเป็นการสร้างพื้นที่ตลาดเพื่อรองรับผู้ประกอบการในวงจรเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหลายชั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูป โลจิสติกส์ ห้องเย็น ขนส่ง ให้บริการปรึกษาได้ในระยะยาว”
ความสำเร็จในตลาด ณ ปัจจุบัน
“ปัจจุบันผู้ประกอบการครบวงจรบางแห่งของไทย มีศักยภาพถึงระดับเป็นซัพพลายเออร์ต่อเนื่องให้คู่ค้าในสหรัฐฯ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น บริษัท CHAPUL ผู้ผลิตโปรตีนบาร์รายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีความต้องการสั่งซื้อวัตถุดิบจิ้งหรีดเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อาหารสัตว์ อาหารสัตว์เลี้ยง Exotic Pet และนอกจากตลาดสหรัฐฯ ปัจจุบันจิ้งหรีดไทยสามารถวางจำหน่ายได้ในหลายประเทศ เช่น ประเทศที่เปิดตลาดมาตรฐานสูงได้อย่างเป็นทางการ ได้แก่ เม็กซิโก สามารถส่งออกได้ทั้งผงแป้งจิ้งหรีด จิ้งหรีดปรุงสุก และจิ้งหรีดแช่แข็ง”