ในช่วงปี 2019-2020 ตลาดค้าปลีกอาหารที่มีส่วนประกอบหลักจากพืช (Plant-based food) ในสหรัฐฯ เติบโตขึ้นกว่า 43% แซงหน้าการเติบโตของยอดขายอาหารโดยรวมทั้งประเทศถึง 9 เท่าตัว และมีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายงานของสมาคม Plant Based Foods Association (PBFA) และสถาบัน The Good Food Institute (GFI) ของสหรัฐฯ ระบุว่า ตลาดค้าปลีกอาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบหลักของสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 27% คิดเป็นมูลค่าตลาด 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ยอดขายอาหารจากพืชเพิ่มขึ้นถึง 43% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา และเติบโตเร็วกว่ายอดขายอาหารทั้งหมดกว่า 9 เท่าตัว นอกจากนี้ จากการเปรียบเทียบการซื้ออาหารของครัวเรือนในสหรัฐฯ ประจำปี 2019 และ 2020 พบว่า ในปี 2020 นั้น 57% ของครัวเรือนสหรัฐฯ (รวมมากกว่า 71 ล้านครัวเรือน) ซื้ออาหารที่มีพืชเป็นส่วนประกอบหลักเพิ่มมากขึ้นจากปี 2019 ซึ่งมีสถิติอยู่ที่ 53%
PBFA ในฐานะสมาคมการค้าที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมอาหารจากพืช ซึ่งได้มุ่งมั่นทำการวิจัยเชิงลึก เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเจริญเติบโตและทิศทางที่กำลังเปลี่ยนแปลงในตลาดของอาหารจากพืช และจากรายงานล่าสุด ของ PBFA ร่วมกับ GFI ครอบคลุมตลาดค้าปลีกในสหรัฐฯ ทั้งหมด แสดงให้เห็นว่ายอดค้าปลีกอาหารที่ทำมาจากพืชในสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมค้าปลีกอาหารในปี 2020 แต่ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่หันมารับประทานอาหารจากพืชกันมากขึ้นนั้น เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด และเทรนด์การรักษาสุขภาพจะยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพราะกระแสการดูแลรักษาสุขภาพอย่างยั่งยืนบวกกับแรงจูงใจใหม่ ๆ ในการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ความปลอดภัยของอาหาร และการส่งเสริมสวัสดิภาพของสัตว์ ล้วนแล้วแต่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของการบริโภคอาหารมีพืชเป็นส่วนประกอบหลักสำคัญ
จากข้อมูลของ Mintel บริษัทวิจัยด้านการตลาดของสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริโภค 35% ในสหรัฐฯ เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “การระบาดของโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นว่า มนุษย์จำเป็นต้องบริโภคสัตว์ให้น้อยลง” และจากการวิจัยพบว่า 63% ของผู้บริโภคในประเทศสหรัฐฯ ที่มีอายุระหว่าง 24 ถึง 39 ปี เชื่อว่า ความต้องการทางโภชนาการของพวกเขา สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มที่ด้วยอาหารที่ทำจากพืช และด้วยความสนใจของผู้บริโภคที่เป็นไปในทิศทางนี้เอง นักการตลาดจึงได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างเต็มที่ โดยเห็นจากอาหารที่มีสัญลักษณ์ว่าทำจากพืชบนบรรจุภัณฑ์นั้น มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 116% ในช่วงสองปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แรงจูงใจในการรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบหลักจากพืช มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มประชากร เช่น กลุ่มอายุ ยกตัวอย่างเช่น มีผู้บริโภคเพียง 34% ของกลุ่ม Baby boomers ที่ระบุว่า ความใส่ใจด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นการบริโภคอาหารจากพืช ในขณะที่ผู้บริโภค Gen Z ทั้งหมด 100% เห็นพ้องต้องกันว่า ความใส่ใจด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นการบริโภคอย่างชัดเจน
อ้างอิงข้อมูลจาก