เมื่อวันที่ 22-23 เมษายน 2564 ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ “Leaders Summit on Climate” ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งตรงกับวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ร่วมกับผู้นำจาก 40 ประเทศทั่วโลก โดยสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่า ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า สหรัฐฯ จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกลงอย่างน้อย 50% ซึ่งตั้งเป้าว่า นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการปรับโฉมทางเศรษฐกิจ
ระหว่างการประชุมวันแรก ประธานาธิบดีไบเดนประกาศว่า สหรัฐฯ จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% – 52% เมื่อเทียบกับปี 2548 โดยในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ ต้องการที่จะผลักดันสหรัฐฯ ขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกอีกครั้ง และยังได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง
การบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในทุกภาคส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าในปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้เริ่มดำเนินการที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในกระบวนการการผลิตอยู่แล้ว เพื่อปล่อยคาร์บอนปริมาณที่ต่ำสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ประธานาธิบดีไบเดนตั้งเป้าหมายให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคพลังงาน การขนส่ง ไปจนถึงการผลิตและการเกษตร เร่งใช้พลังงานสะอาดและดำเนินการให้เกิดภาพการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้โดยเร็วยิ่งขึ้น
เป้าหมายใหม่ครั้งนี้มีความทะเยอทะยานมากขึ้นกว่าสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งเคยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 26% – 28% ภายในปี 2568 เพื่อช่วยผลักดันให้สหรัฐฯ ปฏิบัติตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งตั้งเป้าควบคุมค่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากช่วงก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม
นโยบายของประธานาธิบดีไบเดนที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับต้น ๆ นั้น ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่หลายรายในสหรัฐฯ ซึ่งหลายแห่งมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของตนเองอยู่แล้ว อาทิ McDonald’s Corp. , Ford Motor Co. และ Alphabet Inc. ของ Google ที่ล้วนแต่จะมีบทบาทในการร่วมสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับพลังงานสะอาด เช่น การทำปศุสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยานยนต์สะอาดและอาคารสะอาดที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้เศรษฐกิจ และนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ดี นโยบายสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นนี้ย่อมมาพร้อมกับความท้าทาย ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องตอบโจทย์ว่า จะจัดการกับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดอย่างไร โดยส่งผลกระทบในทางลบให้น้อยที่สุด เพราะจากรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ ระบุว่า กลุ่มอุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่งในสหรัฐฯ มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดในประเทศ คิดเป็น 29% ของทั้งหมด รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ 25% และตามมาด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมหนักและการเกษตรที่ 23%
แน่นอนว่า การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สำหรับพลังงานสะอาดและเศรษฐกิจสีเขียว จะต้องทำควบคู่ไปกับการยกระดับความเป็นอยู่ของประชากรด้วย เช่นเดียวกับที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม นโยบายสำคัญอย่างการเร่งสร้างกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้านอกชายฝั่ง เพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถโรงเรียน ขนส่งสาธารณะ และหน่วยงานในรัฐบาลกลาง รวมไปถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารต่าง ๆ การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ และการทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นโอกาสสำคัญในการจ้างงานในทุกภาคส่วน ทั้งในสหรัฐฯ และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตในประเทศอื่น ๆ ด้วย ทั้งการผลิตชิ้นส่วน ส่วนประกอบรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน แผง solar cell อุปกรณ์เก็บกักพลังงาน วัสดุเก็บความเย็นในอาคาร และการศึกษาวิจัยด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ เป็นต้น
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งปัจจุบันได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานภาครัฐร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดยใช้ whole-of-government approach พร้อมไปกับร่วมมือกับภาคเอกชน และล่าสุดได้เสนอแพ็คเกจโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะช่วยในการเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและไปสู่พลังงานสะอาด พร้อมไปกับนโยบายการสร้างงานสีเขียว ซึ่งหากมีการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลกลางที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.wsj.com/articles/bidens-pledge-to-slash-emissions-would-require-big-u-s-changes-11619184478
- https://www.cnbc.com/2021/04/22/biden-pledges-to-slash-greenhouse-gas-emissions-in-half-by-2030.html
- https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/731963/731963.pdf&title=731963&cate=650&d=0