“น้ำผึ้ง” ที่นอกจากจะให้ความหวานตามธรรมชาติแล้ว ยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 6 วิตามินซี ไทอามีน และแร่ธาตุ เช่น เหล็ก แคลเซียม ทองแดง และเหล็ก โดยประเทศไทยนั้น สามารถผลิตน้ำผึ้งได้ปีละ 10,110 ตัน ซึ่งปัจจุบันถือเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากเวียดนาม และเป็นอันดับที่ 36 ของโลก สร้างเม็ดเงินให้ประเทศถึง 616 ล้านบาท
ล่าสุด โอกาสในการขยายตลาดน้ำผึ้งไทยไปยังสหรัฐอเมริกาได้เปิดกว้างขึ้น ภายหลังจากเมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา สมาคมผู้ผลิตน้ำผึ้งสหรัฐฯ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (US International Trade Commission : USITC) เกี่ยวกับการทุ่มตลาดสินค้าน้ำผึ้งดิบจากบางประเทศ โดยคาดว่า USITC จะเริ่มการไต่สวนในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว อาจกลายมาเป็นช่องทางและโอกาสในการเพิ่มมูลค่าและของน้ำผึ้งไทยในสหรัฐฯ ได้
ผลการศึกษาวิจัยของแกรนด์ วิว (Grand View Research) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ตลาดน้ำผึ้งทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 9.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโต (compound annual growth rate – CAGR) ในอัตรา 8.2% ต่อปี ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด ได้แก่ ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เนื่องจากผู้คนหันมาให้ความสนใจ lifestyle แบบเน้นการมีสุขภาพที่ดีมากขึ้น
น้ำผึ้งมีส่วนผสมทางโภชนาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน แร่ธาตุ แคลเซียม และสารต้านอนุมูลอิสระ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีสรรพคุณทางยาหลายประการ และสามารถช่วยปรับปรุงระบบการเผาผลาญของร่างกาย รักษาระดับความดันโลหิต ลดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และยังสามารถรักษาแผลไฟไหม้ได้อีกด้วย ดังนั้น น้ำผึ้งจึงถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย นอกเหนือจากการประกอบอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและยา ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของตลาดได้อีกทางหนึ่ง
อุตสาหกรรมการผลิตและการจัดหาน้ำผึ้งสำหรับผู้บริโภคขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศของประเทศ และด้วยเหตุนี้ ภูมิภาคเพียงไม่กี่แห่ง เช่น อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย และยุโรป จึงเป็นกลุ่มผู้ผลิตรายหลักของโลก อย่างไรก็ดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เริ่มขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกน้ำผึ้งรายใหญ่ไปยังตลาดยุโรป และอเมริกาเหนือ
การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกส่งผลให้อุปสงค์และอุปทานสำหรับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในปี 2563 ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ความต้องการน้ำผึ้งได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก เนื่องจากคุณสมบัติทางยาอันยอดเยี่ยม ผู้เลี้ยงผึ้งร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นกำลังพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อฟื้นฟูการผลิตและการเติมเต็มห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตที่เน้นการมีสุขภาพดีและการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
การนำเข้าน้ำผึ้งของสหรัฐอเมริกา
สหรัฐฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งรวมในปี 2563 เป็นมูลค่า 417.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลผลิตภายในประเทศในปี 2562 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ โดยสหรัฐฯ มีแหล่งนำเข้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ อาร์เจนตินา (22.3%) บราซิล (16.5%) เวียดนาม (14.5%) อินเดีย (13.8%) และ นิวซีแลนด์ (10.5%) รวมเป็นร้อยละ 77.5 ของการนำเข้ารวมของสหรัฐฯ
ในปี 2563 สหรัฐฯ นำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งจากไทยเป็นมูลค่า 1.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 45.11 และมีสัดส่วนตลาดนำเข้าร้อยละ 0.37 ซึ่งการนำเข้าที่ลดลง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลจากกระทรวงพาณิชย์เข้มงวดตรวจสอบ เพื่อป้องกันการแอบอ้างส่งออกสินค้าน้ำผึ้งที่มาจากประเทศว่าเป็นสินค้าไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ได้ให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะว่า ปัจจุบันการบริโภคเพื่อสุขภาพเป็นปัจจัยสำคัญชักจูงให้ผู้บริโภคลดการบริโภคน้ำตาลอ้อยหรือหัวบีท และหันมาบริโภคสารให้ความหวานชนิดอื่น ๆ จึงเป็นปัจจัยให้ผู้บริโภคหันมาเลือกน้ำผึ้งซึ่งเป็นความหวานธรรมชาติมากขึ้น
เพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดสินค้าน้ำผึ้ง ผู้ผลิตและส่งออกไทยที่ต้องการจะส่งออกน้ำผึ้งไปสหรัฐฯ อาจจะพิจารณาขอเอกสารรับรอง เพื่อแสดงถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับและความถูกต้องของน้ำผึ้ง จากองค์กร True Source Certified Honey (https://truesourcehoney.com) ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการตอกย้ำและสร้างความมั่นใจให้ผู้นำเข้าว่าเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นทางออกทางหนึ่งในการเลี่ยงปัญหาสวมสิทธิ์ ซึ่งองค์กรได้มอบให้ NSF ทำหน้าที่เป็น Certified Body พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบ โดยผู้ผลิต/ส่งออกไทยขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Marci Burton, mburton@nsf.org
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/731962/731962.pdf&title=731962&cate=650&d=0
- https://www.grandviewresearch.com/industry-analysis/honey-market