จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลให้กิจการค้าขายอาหารสำเร็จรูปในซุเปอร์มาร์เก็ตต้องประสบปัญหา เนื่องจากมาตรการข้อจำกัดการรับประทานอาหารภายในร้าน และความถี่ของผู้บริโภคที่เดินทางไปซื้อของภายในร้านลดลง และเน้นการเดินทางไปที่ร้านเพื่อซื้ออาหารที่สามารถกักตุนได้เป็นเวลานานแทน
จากข้อจำกัดนี้ ผู้ค้าปลีกบางรายสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ประโยชน์จากการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับการขายอาหารสำเร็จรูป
“อาหารสำเร็จรูปที่เตรียมไว้ และพื้นที่เตรียมอาหารของแผนกของสดได้รับผลกระทบอย่างหนัก” เอริค ริชาร์ด ผู้ประสานงานอุตสาหกรรมสัมพันธ์ของ International Dairy Deli Bakery Association (IDDBA) กล่าว
ริชาร์ดอธิบายว่า ยอดขายอาหารสำเร็จรูปมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุด หรือโอกาสเฉลิมฉลองพิเศษ ในขณะเดียวกัน ยอดขายก็ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้วและในช่วงเวลาอื่น ๆ
“อาหารสำเร็จรูปสำหรับการเฉลิมฉลองพิเศษมียอดขายที่ดีมากในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา” แองเจลา โบโซ ผู้อำนวยการด้านการศึกษาของ IDDBA กล่าว “เพราะมีวันสำคัญสำหรับการฉลอง 2 วัน ได้แก่ วันแข่งซูเปอร์โบล์และวันวาเลนไทน์ โดยมียอดขายที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จึงเป็นการยืนยันว่า ผู้คนยังต้องการฉลองวันหยุดและโอกาสพิเศษแม้ว่าจะสถานการณ์จะไม่เหมือนเดิมก็ตาม”
จาการวิจัยของ IDDBA พบว่า ยอดขายอาหารสำเร็จรูปปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 40 ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ใหม่ ๆ และถึงตอนนี้ยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่
“ผู้ค้าปลีกบางรายปรับตัวโดยจัดทำรูปแบบการเสนอขายอาหารสำเร็จรูปไว้อย่างดี เช่น การรับส่งสินค้าหน้าร้าน ซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงปีที่ผ่านมาได้” ริชาร์ดกล่าว “ในขณะที่เจ้าของธุรกิจรายอื่น ๆ ต่างก็ดิ้นรนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเสนอขายสินค้าของตนผ่านทางอีคอมเมิร์ซเช่นเดียวกัน”
“หากสามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวกสบาย และพึงพอใจในการซื้ออาหารสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์อาหารสดผ่านช่องทางออนไลน์ได้ พวกเขาก็จะสั่งซื้อทางออนไลน์ต่อไป” เขากล่าว
ริชาร์ดเห็นว่า ดูเหมือนว่ากลุ่มผู้บริโภคจะกลับมาใช้ชีวิตประจำวันในการจับจ่ายใช้สอยตามปกติอีกครั้ง ซึ่งเป็นสัญญานที่ดีสำหรับกิจการซื้อขายอาหารสำเร็จรูปภายในร้าน แต่ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มขึ้นของยอดขายอาหารผ่านทางอีคอมเมิร์ซ จะยังสามารถคงตัวในช่วงระยะต่อจากนี้ไปได้หรือไม่
Gelson’s Markets ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย เป็นหนึ่งในผู้ค้าปลีกที่หันมาสนใจการให้บริการสั่งอาหารสำเร็จรูปผ่านทางออนไลน์เมื่อปีที่แล้ว
“เราสร้างวิธีที่ปลอดภัยและง่ายสำหรับลูกค้าของเรา เพื่อเป็นทางเลือกให้เขาได้รับประทานอาหารคุณภาพระดับภัตตาคารนอกเหนือจากการปรุงอาหารที่บ้านและเพื่อทดแทนร้านอาหารที่ปิดตัวลง” พอล นีแลนด์ รองประธานฝ่ายปฏิบัติการใหม่ประจำหนึ่งในสาขาของ Gelson’s Markets กล่าว
“นอกจากนี้ เรายังได้พัฒนาและเพิ่มเมนูเพื่อเสนอทางเลือก ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายได้” นีแลนด์กล่าว
นีแลนด์อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญที่เขาเรียนรู้อย่างหนึ่งจากการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์คือลูกค้าที่มีอายุมากไม่สามารถเข้าใจวิธีสั่งซื้อทางออนไลน์ได้เสมอไป แม้ว่าพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านหรือสมาชิกในครัวเรือน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการวางตลาดของโปรแกรมในอนาคต
ทางด้านร้าน West Des Moines ในรัฐไอโอวา ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการให้บริการร้านอาหารและมีการนำเสนอขายอาหารสำเร็จรูปอันหลากหลาย ได้เริ่มให้บริการจัดส่งอาหารกับบริษัทขนส่ง DoorDash ในช่วงต้นของการระบาด
นางแองเจลา วอลทซ์ รองประธานกลุ่มร้านอาหารของซุเปอร์มาร์เก็ต Hy-Vee กล่าวว่า “บริษัทได้พัฒนาและสร้างเว็บไซต์อาหารสำเร็จรูปของตัวเองชื่อ Hy-Vee Mealtime To Go โดยเว็บไซต์นี้ช่วยให้ลูกค้าสามารถสั่งได้ทั้งอาหารปรุงร้อนและอาหารที่นำไปอบเองได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มาพร้อมกับบริการรับสินค้าหน้าร้านหรือจัดส่งภายในเวลาเพียง 30 นาที หรือสั่งล่วงหน้าได้” นางวอลทซ์อธิบาย
“เรายังคงขยายความร่วมมือกับบริษัทขนส่งต่อไป เพราะเราเชื่อว่า ลูกค้าในร้านอาหารของเราได้สร้างวิถีใหม่ ๆ สำหรับการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง” เธอกล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.supermarketnews.com/prepared-foods/grocers-turn-e-commerce-boost-prepared-foods