“น้องข้าวมันไก่” สาวไทยกับเส้นทางการเป็นเจ้าของร้านอาหารชื่อดังในพอร์ตแลนด์ที่ไม่ได้โรยด้วยดอกกลีบกุหลาบ 1/2

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “น้องข้าวมันไก่” หรือผ่านสายตากับภาพสาวน้อยผมสีทองและรอยยิ้มอันสดใส เจ้าของกิจการ “Nong′s Khao Man Gai” ร้านข้าวมันไก่เจ้าดังในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนอกจากความสำเร็จอันน่าทึ่ง ที่เธอสร้างขึ้นมาด้วยสองมือและเงินเพียงไม่ถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ประสบการณ์ชีวิตของเธอก่อนที่จะก้าวสู่ความสำเร็จก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มาดูกันว่าสาวน้อยผมทองในวันนั้น ณ ปัจจุบันในวัย 41 ปี กับการเป็นเจ้าของบริษัทและสวมบทบาทคุณแม่ ชีวิตของเธอดำเนินไปอย่างไร “เป้าหมายและความสำเร็จ” ของเธอในวันนี้คืออะไร

น้อง พูนสุขวัฒนา หรือที่ใครหลายคนเรียกเธอว่า “เชฟน้อง” เดินทางจากประเทศไทยสู่สหรัฐอเมริกา กับความตั้งใจเต็มเปี่ยมที่จะหาเงินสร้างเนื้อสร้างตัว และช่วยเหลือครอบครัวที่เมืองไทย เธอเดิมพันอนาคตด้วยเงินติดตัวเพียง 70 ดอลลาร์สหรัฐ กับทักษะภาษาอังกฤษซึ่งไม่ได้อยู่ในระดับที่ดี

ก่อนจะมาเป็น น้องข้าวมันไก่

คุณน้องเกิดและโตในกรุงเทพมหานคร อาศัยอยู่กับครอบครัวที่มีคุณแม่เป็นแม่ครัวในร้านอาหารและพ่อที่เป็นโรคติดสุรา เธอเติบโตมากับการพบเห็นพ่อทำร้ายร่างกายแม่ และตัวเธอเองก็ถูกพ่อทุบตีอยู่เสมอ สิ่งเดียวที่เธอสามารถทำได้ในวัยเด็กคือตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด จนติดอยู่ใน 5 อันดับต้นของห้องตลอด ซึ่งเพื่อน ๆ ของเธอไม่ได้รับรู้เลยว่า ภายใต้รอยยิ้มและเสียงหัวเราะที่เธอมอบให้เพื่อน ๆ นั้น เบื้องหลังเธอต้องใช้ความพยายามมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ อีกหลายคน เพราะเธอทำการบ้านและอ่านหนังสือได้ในยามพ่อหลับเท่านั้น

“ก่อนบินไปสหรัฐฯ ที่บ้านครอบครัวฐานะไม่ค่อยดี พี่เรียนจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจ แม่ทำงานคนเดียว พ่อขี้เมา ทำงานอะไรก็โดนเขาไล่ออก เมาแล้วตี ตีแม่ ตีพี่ด้วย พี่มีแรงผลักดันตั้งแต่เด็กว่าเราจะไม่จบตรงนี้ พี่ต้องทำการบ้านตอนเขาหลับ ตื่นเช้ามาคือเมาเลย กลับมาตอนเย็นก็เมา แต่พี่เรียนเก่งมันเหมือนเป็นทางออกของเรา ให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง”

คุณน้องเรียนจบได้เข้าทำงานเป็นคนแรกของรุ่น ทันทีที่เรียนจบเธอเข้าทำงานเป็นแอร์โฮสเตส ซึ่งเป็นงานที่เธอฝากความหวังเอาไว้สูงมาก และเธอตั้งใจว่าจะทำงานนี้ให้ดีที่สุดเพื่อแม่

“แต่ทำได้ไม่นานก็ต้องออกเพราะคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณา นับว่าเป็นความล้มเหลวครั้งแรก เพราะเราตั้งใจทำงานและต้องการงานนั้นมาก เราอยากช่วยแม่ คิดว่าเราคงยังไม่พร้อม เราอาจจะยังเด็ก อาจจะพยายามไม่พอ ประกอบกับมีแฟนด้วย”

เธอแต่งงานกับสามีสัญชาติอเมริกันและบินไปพอร์ตแลนด์ สหรัฐฯ ในปี 2546 ด้วยวัย 23 ในขณะนั้น แต่ทั้งคู่ไม่สามารถประคับประคองชีวิตคู่ต่อไปได้ โดยเธอคิดว่าอาจจะเป็นเพราะทั้งคู่ยังเด็กเกินไป จึงทำให้ต้องหย่าร้างกันไป จากนั้นเธอทำเรื่องอยู่สหรัฐฯ ต่อและสร้างชีวิตของตัวเอง

เริ่มทำธุรกิจของตัวเองหลังจากเป็นลูกจ้างในร้านอาหาร 7 ปี

การทำงานในร้านอาหารไม่ใช่ความคิดแรกของเธอ ทันทีที่เดินทางมาถึงสหรัฐฯ คุณน้องลองสอบทำงานแอร์โฮสเตสแต่ไม่ได้ สมัครงานร้านสะดวกซื้อก็ไม่ได้ สมัครห่อของขวัญในห้างก็ยังไม่ผ่านเกณฑ์อยู่ดี

“เรารู้แล้วว่าในตลาดแรงงานเรามีข้อจำกัด ร้านอาหารไม่ได้เป็นความคิดแรกที่อยากทำ แม่เป็นกุ๊กที่ร้านอาหารเมืองไทย เวลาปิดภาคเรียนเราก็ไปทำงาน เพื่อหาค่าเล่าเรียน สมัยก่อนคิดว่าแม่ต้องลำบาก ทำงานส่งเสียจนเราจบปริญญาตรี อยากให้เรามีอนาคต เราอยากทำงานนั่งโต๊ะให้แม่สบาย การทำงานในร้านอาหารหรือเป็นเจ้าของร้านอาหารไม่ได้อยู่ในความคิดเลย แต่ตอนที่เติบโตมาเราก็ต้องทำอาหารกินเองอยู่แล้ว เพราะเราไม่มีเงินไปกินข้างนอก เราไม่ซื้อกินเลย และก็ไม่ได้คิดว่าทักษะการทำอาหารเป็นเรื่องพิเศษอะไร”

“ก่อนจะเปิดร้านทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหารไทยในออริกอน ทำมาหลายร้าน ทำอยู่ประมาณ 7 ปี ตอนมามีเงิน 70 ดอลลาร์ฯ คิดว่าทำงานเก็บเงินไปก่อน พี่อยากแตกต่างแต่ก็มีโอกาสน้อย เพราะไม่ได้ไปเรียนหนังสือเหมือนคนอื่น คิดในใจว่าจะลุยเอง ไม่อยากเรียนเพราะไม่อยากกู้เงินเรียน”

เธอเล่าว่า ก่อนที่จะเปิดร้านเป็นของตัวเอง เธอได้เข้าไปทำงานในร้านอาหารที่มีชื่อว่าป๊อก ๆ มีเจ้าของเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งหน้าที่รับผิดชอบภายในร้านของเธอคือมือตำส้มตำ และในขณะที่ทำงานอยู่นั้นเธอก็สงสัยว่าทำไมทางร้านถึงสามารถคว้ารางวัลร้านอาหารยอดเยี่ยมประจำปีมาได้

“เราอยากเรียนรู้วิชา และอยากรู้ด้วยว่าถ้าเราได้ทำอาหารเราจะชอบไหม เพราะในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ก็จะเป็นเจ้าของร้านอาหาร”

“เริ่มธุรกิจปี 2552 แต่ก่อนจะเปิดได้มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เงินเก็บมามันก็ไม่พอเปิดร้าน ตอนนั้นอยู่ตัวคนเดียว ไม่มีแฟน เราคิดไปว่าเราอาจจะต้องเสิร์ฟอาหารไปตลอดชีวิต เริ่มเศร้า ๆ เริ่มหมดหวังแล้ว แต่ก็บอกตัวเองว่า ฉันจะสร้างอนาคตของฉันเอง ด้วยมือของฉันเอง เลยทุ่มหมดตัว”

ประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในต่างประเทศ

คุณน้องเล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานของเธอ โดยเฉพาะร้านสุดท้ายที่เธอได้มีโอกาสเข้าไปทำงาน สอนอะไรให้เธอหลายอย่าง เธอได้เรียนรู้ว่าถึงแม้ว่าฝีมือในการทำอาหารอาจจะไม่เลอเลิศ แต่ด้วยมีวิธีการจัดการที่แตกต่างและเป็นระบบ มันจะทำให้เห็นข้อได้เปรียบ

“ทางร้านสามารถที่จะสื่อสารและเล่าเรื่องราวกับลูกค้าได้ว่าอาหารมาจากไหน ส่วนผสมมาจากไหน ตรงนั้นเขาได้เปรียบและเป็นร้านที่ประสบความสำเร็จ แม้ตอนนี้จะปิดไปแล้ว”

“สิ่งที่ได้จริง ๆ คือความมั่นใจ ถ้าเราทำอาหารให้สุด สมัยก่อนร้านอาหารที่สหรัฐฯ ไม่ได้มีรสชาติเหมือนที่เมืองไทย เพราะวัตถุดิบต่าง ๆ ไม่ได้เหมือนที่เมืองไทย เราอยากทำให้รสชาติเหมือนที่เมืองไทย เราต้องหาส่วนผสมที่ดีที่สุดมันหายาก แต่ถ้าตั้งใจทำลูกค้าก็จะเห็น เราอยากจะให้ผลงานเราออกมาเป็นแบบนี้”

การทำงานย่อมมีอุปสรรคเข้ามาเสมอ แต่เธอก็ผ่านมันมาได้ ด้วยความมั่นใจและการปรับสูตรหาความสมดุลของรสชาติ

“บางคนเขาไม่เข้าใจอาหารเรา เขาก็จะบอกว่า นี่ไม่ใช่อาหารไทย เราก็บอกใช่ด้วยความมั่นใจ เราทำจริง ๆ เวลาที่เรามาจากต่างเมือง เรามีความกลัว เรากลัวลูกค้า และเราก็พูดภาษาเขาไม่ได้ด้วย เราต้องปรับสูตรเพื่อหาสมดุลตามลูกค้าด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งช่วงแรก ๆ เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก ไหนจะปัญหาค่าเช่าแพง ค่าแรงงานก็แพง ค่าวัตถุดิบที่ต้องให้รสชาติออกมาเหมือนเมืองไทยอีก เราต้องหาสมดุลเพื่อให้เราสามารถทำธุรกิจได้ เพราะการทำธุรกิจมันต้องมีกำไร และเราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอด นี่คือเรื่องที่ยากมากและถือเป็นอุปสรรคสำคัญ”

ต่อตอนที่ 2

1,878 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top