ไทยขึ้นแท่นผู้ส่งออกทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลก

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดเผยข้อมูลสถิติล่าสุดพบว่า ในปี 2561 มีปริมาณปลาทูน่าที่ได้จากการประมงทั่วโลกทั้งสิ้น 5.2 ล้านตัน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าปลาทูน่าทั้งแบบสด แช่แข็ง และแปรรูป ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในโลก โดยในปี 2562 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าปลาทูน่าทั้งสิ้น 2.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.95 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าปลาทูน่าทั่วโลก

ในปี 2563 ขนาดของอุตสาหกรรมปลาทูน่าโลกมีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะขยายตัวมาอยู่ที่มูลค่า 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2569 หรือขยายตัวด้วยอัตราเฉลี่ย 3 % ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2564 – 2569 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากรายได้ผู้บริโภคเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับทูน่าปริมาณ 5.2 ล้านตันที่ได้จากการประมงทั่วโลกนั้น แบ่งเป็นทูน่าสายพันธุ์ Skipjack 57.50 % สายพันธุ์ Yellowfin 28.70 % สายพันธุ์ Bigeye 8.20 % สายพันธุ์ Albacore 4.60 % และสายพันธุ์ Atlantic Bluefin 1.0 % โดยคาดว่าปริมาณการทำประมงปลาทูน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.3 ล้านตันภายในปี 2567 โดยน่านน้ำทะเลสำหรับการประมงปลาทูน่าที่สำคัญได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิก 70 % มหาสมุทรอินเดีย 20 % และมหาสมุทรแอตแลนติกและเมดิเตอร์เรเนียน 10 %

จากข้อมูลความนิยมบริโภคทูน่าในสหรัฐอเมริกาพบว่า ปลาทูน่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันนิยมเลือกบริโภคเป็นอันดับที่ 3 รองจากกุ้งและปลาแซลมอน แต่ในช่วงต้นปี 2563 ปริมาณความต้องการบริโภคลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด– 19 ซึ่งทำให้ความต้องการบริโภคโดยรวมของปลาทูน่าลดลง โดยเฉพาะปลาทูน่าสดและแช่แข็ง

อย่างไรก็ตามคาดว่า ภาวะการแพร่ระบาดในสหรัฐฯ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการแจกจ่ายวัคซีน ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันหันกลับไปบริโภคสินค้ามากขึ้น ช่วยให้อุตสาหกรรมร้านอาหารและผู้ให้บริการอาหารขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และทำให้ตลาดค้าปลีกสินค้าปลาทูน่าในสหรัฐฯ ขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 ในปี 2564

การนำเข้าปลาทูน่าของสหรัฐฯ

ในเดือนมกราคม 2564 สหรัฐฯ มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าปลาทูน่าทั้งสิ้น 132.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือนำเข้าเพิ่มขึ้น 20.03 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งแบ่งเป็นสินค้าปลาทูน่ากระป๋องเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 113.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 85.25 % สินค้าปลาทูน่าแช่เย็น 15.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 11.93 % และสินค้าปลาทูน่าแช่แข็ง 3.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.85 %

สหรัฐฯ นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องสูงสุดจากไทย ปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทูน่ากระป๋องทั้งหมด

เดือนมกราคม 2564 สหรัฐฯ นำเข้าปลาทูน่ากระป๋องมูลค่ารวม 113.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.47 % เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา และมีการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องสูงสุดจากไทยถึง 47.60 % คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 53.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 12.47 % ทั้งนี้ สหรัฐฯ มีแนวโน้มนำเข้าสินค้าปลาทูน่ากระป๋องจากไทยเพิ่มขึ้นมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2561 โดยนำเข้าส่วนที่เหลือจากเวียดนาม อินโดนีเซีย เม็กซิโก และมอริเชียส ตามลำดับ

จุดแข็งและจุดอ่อนของไทยในการส่งออกปลาทูน่า 

ประเทศไทยมีจุดแข็งสำคัญในฐานะผู้ส่งออก จากการที่ไทยเป็นผู้ประกอบการแปรรูปและส่งออกสินค้าปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะสินค้าปลาทูน่ากระป๋อง ทำให้มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกสูง นอกจากนี้อุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าอาหารทะเลและปลาทูน่าของไทยยังมีขนาดใหญ่และกำลังการผลิตมากเพียงพอ ตามความต้องการของผู้นำเข้า และอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าอาหารทะเลไทยมีอุตสาหกรรมรองรับสนับสนุนแบบครบวงจร

อย่างไรก็ตาม การประมงไทยยังประสบปัญหาการทำประมงที่ไม่ได้มาตรฐานตามหน่วยงานมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรือประมงเถื่อนออกทำการประมง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสินค้า รวมไปถึงปัจจัยค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังมีปัญหาแรงงานผิดกฎหมายที่หน่วยงานและผู้บริโภคในต่างประเทศให้ความสนใจ นอกจากนี้กระบวนการผลิตและแปรรูปสินค้าปลาทูน่าในไทย ส่วนมากยังคงเป็นการรับจ้างผลิตให้กับผู้นำเข้าในต่างประเทศ ทำให้สินค้าแบรนด์ไทยขาดการพัฒนาสินค้าอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ โอกาสการส่งออกของไทยก็คือ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปีหลังมีแนวโน้มกำลังฟื้นตัว หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้การใช้จ่ายภาคประชาชนในประเทศ นอกจากนี้อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าปลาทูน่าในสหรัฐฯ หดตัวต่อเนื่อง จากอุปสรรคด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะปัจจัยด้านค้าแรงงานในประเทศที่ค่อนข้างสูง ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าปลาทูน่า เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น และในปัจจุบันผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อสุขภาพยิ่งขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภคปลาทูน่ามากขึ้น

เพราะนอกจากเนื้อปลาทูน่าจะได้รับความนิยมไปทั่วโลกมานานนับร้อยปีแล้ว ยังเป็นแหล่งอาหารที่ให้โปรตีนสูงเทียบเท่ากับเนื้อไก่ แต่ทูน่ามีราคาถูกกว่า ทั้งยังไม่มีกลิ่นที่รุนแรง สามารถนำไปปรุงอาหารได้อย่างหลากหลาย และที่สำคัญทูน่าเป็นอาหารทะเลที่มีไขมันน้อย เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่กำลังให้ความนิยมกับกระแสรักษ์สุขภาพในปัจจุบัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/732588/732588.pdf&title=732588&cate=650&d=0

3,622 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top