Photo Credit: https://www.theverge.com/2021/6/11/22529534/archer-maker-air-taxi-evtol-reveal-specs
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา บริษัท อาร์เชอร์ เอวิเอชั่น (Archer Aviation) จากเมือง Palo Alto รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มีการเปิดตัว “Maker” หรือแท็กซี่บินได้ด้วยวิธีอัดประจุไฟฟ้าคันแรก มีเป้าหมายเพื่อลดความแออัดของการจราจรบนท้องถนน และลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนให้เป็นศูนย์ โดยคาดว่า จะสามารถเริ่มผลิตรถแท็กซี่ลอยฟ้าแบบ 4 ที่นั่งในปี 2565 และส่งมอบให้กับลอสแอนเจลิสและไมอามี ซึ่งจะเป็นสองเมืองแรกที่ได้สัมผัสกับแท็กซี่ลอยฟ้าในปี 2567
ความสนใจในเครื่องบินไร้มลพิษที่สามารถบินขึ้นและลงจอดได้เหมือนเฮลิคอปเตอร์ และบินได้เหมือนเครื่องบินกำลังเติบโตขึ้น เนื่องจากบริษัทด้านการบินและอวกาศกำลังมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมไอเดียการลดความแออัดของการจราจรบนท้องถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
การเปิดตัวของยานพาหนะแห่งอนาคตในครั้งนี้ จัดแสดงที่โรงเก็บเครื่องบินโดยใช้เทคโนโลยี XR เพื่อจำลองการบินแบบเสมือนจริง และยังเป็นวันเดียวกับที่ 2 บริษัทผู้ผลิตอากาศยานและโดรนจากสหราชอาณาจักรและบราซิล ได้เปิดตัวอากาศยานที่บินขึ้นและจอดลงในแนวดิ่ง (electric Vertical Take-Off and Landing – eVTOL) เช่นเดียวกัน
เครื่องบินของอาร์เชอร์ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินในเชิงพาณิชย์ แต่ได้จัดแสดงเปิดตัวสุดอลังการ ภายใต้การดูแลของ เคนนี ทัต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความคิดสร้างสรรค์คนใหม่ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์หลายสิบปีในการออกแบบและการผลิตรายการโทรทัศน์
เบรทท์ แอดคอค ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอร่วมของอาร์เชอร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ทางบริษัทคาดการณ์ว่า จะเปิดตัวเครื่องบินโดยสาร 4 ที่นั่งเชิงพาณิชย์ในปี 2567 ที่นครลอสแอนเจลิสและไมอามี ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติการบินของเครื่องบินโดยสาร 4 ที่นั่งกับหน่วยงานภาครัฐ
“เป้าหมายที่แท้จริงของเรา คือ การแก้ปัญหาการคมนาคมที่แออัดทั้งในใจกลางเมืองและรอบ ๆ ตัวเมือง” แอดคอค กล่าว
แท็กซี่ไฟฟ้าแห่งอนาคตชนิดนี้สามารถบินได้ที่ความเร็ว 150 ไมล์ต่อชั่วโมง (หรือประมาณ 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในระยะทางสูงสุด 60 ไมล์ (หรือประมาณ 100 กิโลเมตร) ซึ่งทางบริษัทวางแผนจะเก็บค่าโดยสารเริ่มต้นสำหรับผู้โดยสาร 1 คนที่ประมาณ 3- 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อไมล์
ตัวอย่างเช่น ในนครนิวยอร์ก การเดินทางในระยะ 17 ไมล์ จากสนามบินนานาชาติ จอห์น เอฟ เคนเนดีถึงแมนฮัตตัน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 50 – 70 ดอลลาร์สหรัฐ และใช้เวลาประมาณในการบินประมาณ 5-7 นาที เมื่อเทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์ที่จะใช้เวลา 60 – 90 นาที
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าตลาด eVTOL จะมีมูลค่าหลายพันล้านในทศวรรษหน้า แต่ไม่มีการคาดหมายว่าจะสร้างรายได้ในตลาดทันที และระยะเวลาของการอนุมัติด้านทางกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ก็ยังคงไม่แน่นอน
ในส่วนของกระบวนการอนุมัติ องค์การบริหารการบินแห่งชาติ หรือ Federal Aviation Administration (FAA) กล่าวว่า FAA สามารถรับรองเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น eVTOL ผ่านกฎระเบียบที่มีอยู่แล้วได้ ซึ่งเราอาจออกเงื่อนไขพิเศษหรือข้อกำหนดเพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับประเภทของโครงการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น ก็ย่อมต้องมีการแข่งขัน อาร์เชอร์กำลังมีข่าวพัวพันในการต่อสู้ทางกฎหมายกับ Wisk Aero คู่แข่งที่ได้รับการสนับสนุนจาก Boeing ซึ่งกล่าวหาว่า อาร์เชอร์ขโมยความลับทางการค้าและละเมิดสิทธิบัตร และสัปดาห์ก่อนการเปิดตัว อาร์เชอร์ได้ขอให้ศาลแคลิฟอร์เนียยกฟ้องและยื่นฟ้อง Wisk สำหรับการให้ “ข้อมูลเท็จ” และขอให้ทำการสืบสวนทางอาญาแยกต่างหาก
ทั้งนี้ อาร์เชอร์วางแผนที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ผ่านการควบรวมกิจการกับ Atlas Crest ซึ่งเป็นบริษัทแบบ blank-check company (คือบริษัทที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจ แต่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนำมาเพิ่มทุนและเข้าเทรดในตลาด) รวมมูลค่า 3.8 พันล้านดอลลาร์ และเงินลงทุนจาก United Airlines มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://finance.yahoo.com/news/archers-flying-taxi-makes-splashy-022635712.html