โควิด-19 ระลอกใหม่ในเอเชีย ส่งผลให้ซัพพลายเชนของชิปทั่วโลกหยุดชะงัก

ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศแถบตะวันตกกำลังกลับมาคึกคักอีกครั้ง การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 ในเอเชีย ซึ่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการฉีดวัคซีน กำลังส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์คอขวดครั้งใหม่ในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า ราคาสินค้ากำลังปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดใหญ่

การระบาดของโควิด-19 ในท่าเรือที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลกซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าไปทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลกอย่างไต้หวันและมาเลเซีย ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนชิปทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และเทคโนโลยี

ปัญหาที่สร้างความปวดหัวครั้งใหม่ก่อให้เกิดความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ หลังจากพบว่า สถิติราคาผู้บริโภคและราคาหน้าโรงงานของจีนและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ มื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวยังดำเนินต่อไป อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก

เมื่อปีที่ผ่านมา จีน ไต้หวัน และประเทศอื่น ๆ ในเอเชียยังคงควบคุมโรคระบาดได้ดีกว่าในสหรัฐฯ และยุโรป และจำกัดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้บางส่วน แต่เมื่ออัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในประเทศทางแถบตะวันตก รัฐบาลต่างเริ่มยกเลิกข้อจำกัด ส่งผลให้เศรษฐกิจในแถบตะวันตกกำลังเริ่มฟื้นตัว

ในขณะที่สถานการณ์ล่าสุดในเอเชีย อัตราการกระจายวัคซีนยังคงตามหลังฝั่งตะวันตก และแม้ว่าทางการจะมีมาตรการควบคุมเขตแดนของประเทศอย่างเข้มงวด แต่โควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ในขณะที่เวียดนามซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และที่มียอดการติดเชื้อต่ำในช่วงก่อนหน้านั้น ก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน

นอกจากนี้ อัตราการฉีดวัคซีนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำทั่วเอเชีย ทำให้ให้รัฐบาลยังคงต้องบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และการห้ามเดินทาง ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต และทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลง

“การระบาดระรอกใหม่ในเอเชียกำลังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เปราะบาง  และเป็นช่วงที่เพิ่งเริ่มเห็นการฟื้นตัวของการค้าโลก” นิค มาร์โร หัวหน้านักวิเคราะห์การค้าระดับโลกของ Economist Intelligence Unit ในฮ่องกงกล่าว

ที่หยานเถียน ท่าเรือตู้สินค้าในเมืองเซินเจิ้นทางตอนใต้ของจีน เกิดการระบาดใหญ่ในหมู่พนักงานท่าเรือทำให้การขนส่งทางเรือหยุดชะงัก และส่งผลให้อุตสาหกรรมการเดินเรือระหว่างประเทศตึงเครียดมากขึ้น หลังจากที่ต้องต่อสู้กับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์เรือเกยตื้นที่คลอดสุเอซเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

เรือบางลำต้องรอถึงสองสัปดาห์เพื่อขนถ่ายสินค้าที่หยานเถียน โดยมีตู้สินค้าประมาณ 160,000 ตู้ที่รอการโหลดสินค้า ราคาของการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุตไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 6,341 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี และมากกว่าสามเท่าของราคาในปีก่อนหน้า

เมื่อปีที่ผ่าน ท่าเรือหยานเถียนมีการขนส่งสินค้ามากกว่าท่าเรือลอสแอนเจลิส ซึ่งเป็นท่าเรือที่หนาแน่นที่สุดในสหรัฐฯ เกือบ 50% และในไตรมาสแรกของปีนี้ ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือหยานถินมีอัตราเพิ่มขึ้น 45% จากปีก่อนหน้า

โดยเฉลี่ยแล้ว ท่าเรือหยานถินจะมีการขนส่งตู้คอนเนอร์มากกว่า 13 ล้านตู้ต่อปี ในขณะที่ล่าสุด อัตราการขนส่งอยู่ที่เพียง 30% ของระดับปกติเท่านั้น โดยความล่าช้าดังกล่าว น่าจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์

ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมการผลิตชิปในไต้หวันซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของกำลังการผลิตชิปของโลก ซึ่งรวมถึงชิปที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นสัดส่วนที่สำคัญ กำลังประสบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดใหญ่

ที่ King Yuan Electronics Co. หนึ่งในบริษัททดสอบชิปและบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวันพบว่า มีพนักงานมากกว่า 200 คนติดเชื้อโควิด-19 ในเดือนนี้ ในขณะที่คนงานอีก 2,000 คนถูกกักตัว ซึ่งทำให้รายได้ของบริษัทลดลงในเดือนนี้ประมาณหนึ่งในสาม

และในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานจากต่างประเทศหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปและการผลิตตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน และโมดูลหลักอื่นๆ ที่ใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคและรถยนต์ ได้รับผลกระทบจากระลอกใหม่ของโควิด-19 เช่นเดียวกัน

Infineon Technologies AG ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของเยอรมนีที่มีโรงงานสองแห่งในมาเลเซีย ได้รับคำสั่งจากหน่วยงานด้านสุขภาพให้ปิดโรงงานแห่งหนึ่งเมื่อต้นมิถุนายน ซึ่งทำให้การส่งมอบชิปบางส่วนล่าช้า เนื่องจากโรงงานอื่นๆ ทั่วโลกของบริษัทใช้กำลังการผลิตตามขีดกำหนดสูงสุดและและไม่สามารถผลิตเพิ่มอีกได้

Malaysia Semiconductor Industry Association กล่าวว่า การปิดเมืองจะลดกำลังการผลิตลงระหว่าง 15% ถึง 40%

ธุรกิจขนาดเล็กกำลังประสบปัญหาเนื่องจากการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีการส่งมอบสินค้าช้าลง และราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น

“ผมกำลังซ่อมรถสามคันที่มีปัญหาด้านไฟฟ้า และชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่สั่งไปเป็น back-ordered ซึ่งยังไม่มีกำหนดว่าจะได้รับเมื่อไหร่” เฮคเตอร์ มาร์ติเนซ ผู้บริหารบริษัทไรย์ ออโต้แคร์ ในเมือง Rye รัฐนิวยอร์ก กล่าว “ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีการส่งมอบล่าช้า ในขณะที่ยางรถยนต์ก็ประสบปัญหาขาดตลาด และราคาอะไหล่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา”

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.wsj.com/articles/the-global-logistics-logjam-shifts-to-shenzhen-from-suez-11623403801

213 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top