“ดิ ฟิออร่า” (Di Fiora) เพิ่งจะเดินทางผ่านการฉลองเปิดร้านครบ 1 ปี มาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และนั่นก็หมายความว่า เพียงไม่นานหลังจากวันแรกของการเปิดร้านในย่านเศรษฐกิจที่มีแบรนด์ดังระดับโลกถือกำเนิดขึ้นแห่งนี้ ต้องประสบกับปัญหาและวิกฤติอย่างหนัก ตั้งแต่ก่อนจะได้ลิ้มรสความสำเร็จที่เจ้าของกิจการทุกคนต่างใฝ่ฝัน หลังจากการทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจทั้งหมดไปกับการเปลี่ยนอาคารว่างเปล่าให้เป็นร้านอาหารในฝัน แต่ในเมื่อได้เริ่มก้าวออกจากจุดเริ่มต้นแล้วมันก็ต้องเดินต่อไปให้จบ ด้วยความมุ่งมั่นและแน่วแน่ที่จะเดินไปให้ถึงเป้าหมาย บนเส้นทางที่วาดแผนผังเอาไว้อย่างชัดเจน
คมสันต์ มีปิยะเลิศ “คุณกระต่าย” และ ธิดาภัสสร์ อริยหิรัญตระกูล “คุณกระตอย” หรือ เชฟใหญ่ชิมมี่ สองพี่น้องที่ได้ร่วมกันเปิดร้านอาหารในเมืองซีแอตเทิล เมืองท่าและแหล่งท่องเที่ยวบนชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา โดยคุณกระต่ายได้บอกเล่าประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดน บนเส้นทางสู่เป้าหมายสูงสุดที่เธอใฝ่ฝันเอาไว้ คือการเป็นเจ้าของแบรนด์ “ดิ ฟิออร่า” ที่จะไม่หยุดเพียงความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหาร
ก่อนจะมาเป็น “Di Fiora” ในซีแอตเทิล
คุณกระต่ายเล่าว่า เธออาจเป็นคนที่มีโอกาสดีกว่าคนอื่นที่ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน เพราะเธอมีคุณน้าที่เป็นเจ้าของร้านอาหารไทยในเมืองซีแอตเทิล โดยเธอเดินทางมายังสหรัฐฯ ในปี 2551 หลังจากเรียนจบในสาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
“พอจบออกมาก็ทำงานบริษัทเอกชนที่เมืองไทย แต่เราก็รู้ได้เลยว่ามันไม่ใช่ตัวตนของเรา และช่วงนั้นค่าเงินดอลลาร์ฯ สูง เราจึงมองหาช่องทางทำเงินให้ได้มาก ๆ เลยตัดสินใจมาเริ่มเรียนรู้กับคุณน้า เพราะอยากลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ชีวิตใหม่ ๆ”
ก้าวแรกกับประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศและสิ่งที่ได้เรียนรู้
ด้วยความเป็นคนช่างฝันที่เกิดมาในครอบครัวฐานะปานกลาง มันจึงทำให้เธอคิดว่าอยากจะหาเงินให้ได้มาก ๆ เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แต่ภาพฝันช่างต่างกับความจริง เพราะเธอต้องทำงานทุกอย่างทุกแผนกในร้าน ตั้งแต่เริ่มเปิดร้านยันปิดร้าน
“ภาพของคนไทยที่ใช้ชีวิตเมืองนอกที่เราเห็นจากสื่อมันอาจจะดูสวยหรู แต่พอเราได้เรียนรู้ความเป็นจริงแล้วเราเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง เพราะถ้าเราไม่ได้ถูกบริษัทส่งตัวมาทำงาน คนไทยเราก็จะมาอยู่ในส่วนงานบริการเป็นส่วนใหญ่ เช่นร้านอาหาร ร้านนวด โรงแรม หรือร้านขายของชำ
“พอได้ทำงานจริง ๆ เราก็รู้ว่ามันไม่ได้เหมือนที่คิดและวาดฝันเอาไว้ มันไม่ได้สวยหรู มันคืองานหนัก กว่าจะได้เงินมาแต่ละดอลลาร์”
ต่อมาเธอได้เข้าใจว่างานหนักที่ต้องทำ มันคือสิ่งที่น้าอยากให้เธอมีประสบการณ์ตรง ให้เธอได้รู้ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้น้าต้องผ่านอะไรมาบ้าง เธอเรียนรู้ทุกอย่างในร้านเหมือนเป็นเจ้าของร้าน และมันก็ทำให้เธอตั้งเป้าว่าเธอจะเป็นเจ้าของร้านในสักวัน เธอตั้งใจเก็บประสบการณ์ทั้งระบบ แม้งานจะหนักก็ไม่เกี่ยง และวันนี้เธอก็ได้ยกเครดิตให้กับคุณน้า สำหรับข้อมูลดี ๆ ที่ช่วยให้เธอก้าวมาไกลถึงจุดนี้ได้
จากก้นครัวสู่หน้าร้าน
คุณต่ายเริ่มออกมาช่วยงานหน้าร้านมากขึ้น แม้ว่าภาษาอังกฤษของเธอในขณะนั้นจะไม่ได้ดีเลิศ แต่เธอก็อาศัยความมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีเป็นตัวตั้ง ใช้ความเป็นคนไทยที่อ่อนน้อมถ่อมตน จนทำให้เธอได้รู้จักกับลูกค้าและเพื่อนมากมาย เส้นทางธุรกิจของเธอก็เริ่มต้นขึ้นด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากสังคมที่กว้างขึ้น จากเพื่อนใหม่ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ รวมไปถึงการตลาดที่ช่วยให้ทำธุรกิจได้ในระยะยาว เมื่อเล่าถึงตรงนี้ คุณต่ายฝากไปถึงน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ว่า ภาษาอังกฤษคือใบเบิกทางสำคัญ ซึ่งเธอเชื่อว่าเด็กสมัยนี้มีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีมาก และขอให้น้อง ๆ พัฒนาตัวเองต่อไป
“พอเราอยู่ข้างนอกเราก็เห็นว่าร้านอาหารทำเงินอย่างไร ตอนนั้นในหัวคือโฟกัสว่าจะต้องทำร้านอาหารแน่นอน เพราะเรามองไม่เห็นอาชีพอื่นในสหรัฐฯ แล้ว เราไม่ได้มีปริญญาที่จะไปยื่นสมัครเป็นครูเป็นหมอ และงานร้านอาหารมันก็เป็นงานที่สามารถสร้างรายได้ให้เรา และส่งเงินกลับไปให้ทางบ้านที่เมืองไทยด้วย”
จุดเริ่มต้นของ “Di Fiora” และการมาเยือนของ “โควิด-19”
“โปรเจคนี้ที่เกิดขึ้นเราใช้เวลานานมาก การเริ่มต้นธุรกิจที่นี่มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่อให้คุณมีเงินก็ใช่ว่าคุณจะเปิดได้เลย คุณต้องมีเครดิต และการนำเสนอผลงานที่ต้องถูกใจผู้ให้เช่าสถานที่เพื่อเปิดร้านด้วย”
สองพี่น้องช่วยกันออกไอเดียเพื่อสร้างโปรเจคร้านให้ออกมาสมบูรณ์แบบ ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ อาหารไทยขึ้นชื่ออยู่แล้วด้วยรสชาติและเอกลักษณ์ แต่ทำไมอาหารไทยจึงก้าวไปไม่ถึงความเป็นอาหารอิตาเลี่ยน อาหารญี่ปุ่น หรืออาหารฝรั่งเศสได้ ทำไมอาหารไทยจึงมีราคาถูกกว่า ในขณะที่ผู้ประกอบการก็เหนื่อยเหมือนกัน ทั้งคู่ออกแบบร้านจากความชอบและรสนิยมส่วนตัว โดยร้านของพวกเธอจะต้องแตกต่าง และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
“เราอยากนำเสนอความเป็นไทย แต่จะไม่นำเสนอเสียทีเดียวว่าเป็นร้านอาหารไทยโดยตรง เพราะเราได้บวกเอาความเป็นเอเชียเข้าไปด้วย และเอาความเป็นไทยมาผสมผสานกับความเป็นท้องถิ่นของเมืองนี้ด้วย มันเลยกลายเป็นคอนเซปของ ‘ดิ ฟิออร่า’ ซึ่งมีรูปแบบอาหารที่เป็นฟิวชั่นที่รสชาติดีมาก ๆ มีการเสิร์ฟ การจัดจาน จัดวางอาหารเป็นแบบอินเตอร์ ผนวกกับน้องสาวเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านอาหาร จึงเกิดเป็นการปรับสูตรและรูปแบบของอาหารให้ออกมาเป็นเอเชียนฟิวชั่น พอเราเอาไปเสนอกับเจ้าของสถานที่ เขาตื่นเต้นกับไอเดียของเราและตัดสินใจทำสัญญา”
คุณต่ายย้ายมาอยู่ในย่านนี้ประมาณ 2-3 ปีก่อนเปิดร้าน เพื่อศึกษาฐานลูกค้าและเก็บข้อมูลทางธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบในรูปแบบของร้านที่เธอและน้องสาวได้ตั้งธงเอาไว้ และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง
จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนการตกแต่งร้าน และเปิดรับสมัครพนักงานเพื่อขับเคลื่อนทีม ดิ ฟิออร่า “เราบอกน้อง ๆ ให้ลืมความเป็นร้านอาหารที่เคยทำเคยเห็น เราอยากเปลี่ยนใหม่หมด คุณสามารถแต่งตัวสบาย ๆ ได้ คุณจะเล่นยังไงก็ได้ให้คุณสามารถขายเอกลักษณ์ของคุณ เพื่อให้ลูกค้าเข้ามาและมีความสุขไปกับ อาหาร บรรยากาศ และการบริการของเรา”
เพราะความฝันและแนวทางของร้านคือการทำให้ “อาหาร บรรยากาศ และการบริการ” เปรียบเสมือนโชว์ที่ลูกค้าอยากจะเข้ามาดูและมาสัมผัส “ความเป็น ดิ ฟิออร่า”