ก่อนเปิดร้านไม่นาน ก็เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน แต่ในช่วงนั้นสหรัฐฯ ยังไม่ได้รับผลกระทบ ประกอบกับเป็นช่วงเดียวกันกับที่ทางร้านจำเป็นต้องเริ่มเปิดทำการเพราะสถานการณ์บังคับ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าเช่าร้านที่ต้องเริ่มจ่าย หลังสัญญาตกแต่งร้าน 6 เดือนกำลังจะหมดลง
“พอเราเปิดร้านมาได้สักระยะหนึ่งเท่านั้นเอง ก็เจอปัญหาเรื่องของโควิด เพราะฉะนั้นรูปแบบที่พูดมาทั้งหมดคือทำไม่ได้ ความฝันของเราที่จะให้ลูกค้าเข้ามานั่งรับประทานอาหาร เพื่อที่จะได้ดูโชว์ของเรา มันกลับตาลปัตร มันช็อกไปเลย”
ด้วยงบที่มีอยู่จำกัดและตัวเลือกในการตกแต่งร้านจากศูนย์ เพื่อที่จะให้ร้านออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้งบที่ตั้งเอาไว้เกิดบานปลาย ทั้งยังค่าใช้จ่ายในการจ้างงานก่อสร้างต่าง ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ และระยะเวลาในการขอใบอนุญาตที่ต้องถูกยืดออกไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เจ้าหน้าเริ่มมีการหยุดงานหรือทำงานจากบ้านมากขึ้น ส่งผลให้ ดิ ฟิออร่า เริ่มกิจการจาก “ติดลบ”
คุณต่ายยอมรับว่า นั่นคือช่วงเวลาที่ย่ำแย่ เพราะเธอไม่สามารถหันหน้าไปพึ่งใครได้ ทุกคนเจอกับสถานการณ์ที่หนักหนาด้วยกันทั้งสิ้น ซ้ำร้ายผลประกอบการของทางร้านที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบการจัดเก็บภาษีของรัฐ จึงไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล
“จากนั้นก็เริ่มล็อกดาวน์ นั่งกินในร้านก็ไม่ได้ เราซื้อของที่จำเป็นก่อนสำหรับทำขายทูโกให้ลูกค้าซื้อกลับไปกินที่บ้าน รูปแบบของร้านที่เราตั้งไว้อย่างสวยหรู สามารถเลือกลูกค้าได้ ทุกอย่างพัง ณ ตอนนั้น คิดอยู่อย่างเดียวคือ ทำอย่างไรให้อยู่รอด”
แต่ทุกปัญหามีทางออก เพราะไม่ว่าอย่างไรคนเราก็ต้องกิน และอาหารไทยมีความหลากหลาย ลูกค้าสามารถรับประทานได้ทุกมื้อทุกวัน “ขอบคุณโควิดที่ทำให้เรามาโฟกัสในเรื่องของการทำสูตรอาหารใหม่ ที่ตอบโจทย์กับลูกค้าที่ต้องกินประจำ ซึ่งอาหารไทยเป็นอาหารที่กินได้ประจำอยู่แล้ว อาหารไทยมีให้เลือกหลากหลาย เราจึงดึงเมนูอาหารไทยเข้ามา และอาหารที่เราตั้งเป้าไว้ เราก็ทำเหมือนกัน”
และในช่วงโควิดทุกคนใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน ซึ่งโลกโซเชียลคือสิ่งที่ทุกคนมีในมือ ดิ ฟิออร่า จึงถือโอกาส สร้างแบรนด์ ผ่านโซเชียล โดยการนำหน้าร้านไปไว้บนโลกออนไลน์ในทุก ๆ แพลตฟอร์ม
ความสำเร็จ ณ วันนี้
“หนึ่งปีที่เกิดขึ้นมันคือความภูมิใจ ถามว่าประสบความสำเร็จไหมคงต้องวัดกันอีกยาว เพราะธุรกิจมันคือสายป่าน แต่ ณ ตอนนี้ที่เราสามารถผ่านวิกฤติมาได้ เราพูดได้เต็มปากว่าเราภูมิใจ”
“กุญแจของเราคือการเลือกอาหารที่ “เธอกับฉันชอบ” จากนั้นเรามาสร้างสูตรและโปรโมท ถิ่นเดิมของเราเป็นคนนครราชสีมา เราจึงได้คิดสูตรไก่ทอดและตั้งชื่อว่า “โคราช ชิคเก้น วิงส์” หลังจากนั้นไม่นานสูตรไก่ของเราก็โด่งดังในโลกออนไลน์ สำนักข่าว “ซีแอตเทิลไทม์” เข้ามาชิมไก่ของเรากับเครื่องดื่มพิเศษที่เราเลือกให้ดื่มคู่กัน เขาเรียกเราว่าเป็นโอเอซิสในช่วงโควิด เขาชื่นชอบบรรยากาศของร้าน รสชาติอาหาร และเขาชอบไก่ทอดของเรามาก เรื่องราวของร้านเราก็ได้ตีพิมพ์ลงในซีแอตเทิลไทม์ มันเหมือนฟ้าประทาน และนั่นก็ทำให้ลูกค้าเข้ามามากขึ้น”
จากนั้นสื่อจากหลายประเทศเริ่มเข้ามาสัมภาษณ์ รวมไปถึงคนมีชื่อเสียงและเหล่าบรรดาเน็ตไอดอลชื่อดัง ที่พร้อมใจกันเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศในร้าน และช่วยโพสต์ออกไปจนมีคนชมและแชร์เป็นจำนวนมาก โดยที่ทางร้านไม่ต้องจ่ายค่าการตลาดเลย นอกจากนี้ทางร้านยังสนับสนุนท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นในด้านของศิลปะและวัตถุดิบ และที่สำคัญในช่วงวิกฤติโควิดที่ทุกคนเหนื่อยและท้อ ทางร้านยังได้สร้างแคมเปญในการส่งข้าวให้กับเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลใกล้เคียงด้วย
“ความสำเร็จเราพูดได้ในหลายมิติว่าเราวัดกันตรงไหน แต่คอนเซปคือเราไม่ได้สร้างแค่ร้านอาหาร เราต้องการสร้างแบรนด์ ดิ ฟิออร่า เราต้องการไปได้ไกลมากกว่าร้านอาหาร ตอนนี้เราสร้างอาหารและขายได้ถึงจานละ 50 กว่าเหรียญ เครื่องดื่มของเราขายได้มากกว่า 20 เหรียญ จุดนี้ถือว่าเราภูมิใจ เพราะเราได้พลิกรูปแบบของการทำธุรกิจร้านอาหารไทยไปแล้ว”
คุณกระต่ายได้แสดงความขอบคุณกับทุกคนที่มีส่วนช่วยให้ร้านมาถึงจุดที่ไกลกว่าที่คาดคิด ทั้งในส่วนของชื่อเสียงและรายได้ ซึ่งในปัจจุบันเธอเล่าว่ามีเจ้าของสถานที่หลายแห่งและนักลงทุนเสนอตัวเข้ามาทาบทามให้เปิดร้านต่อ ๆ ไป ซึ่งเธอเองก็เชื่อมั่นว่าเธอ น้องสาว และทีมงาน ดิ ฟิออร่า ทุกคนสามารถเดินไปได้อีกไกล และเธอมั่นใจว่าแบรนด์ของเธอจะไม่หยุดเพียงแค่ร้านอาหารอย่างแน่นอน
“เราไม่ได้แข่งขันกับใคร เราแข่งขันกับธุรกิจของเราเอง เราภูมิใจกับคำชมของหลาย ๆ คน ว่าเราทำได้อย่างไรในช่วงโควิด ถ้าไม่ใช่โควิดเราจะทำได้ขนาดไหน”
สิ่งที่อยากส่งต่อไปถึงเจ้าของธุรกิจร้านอาหารในอนาคต
“ขอให้มีความตั้งในที่แน่วแน่ เราต้องสร้างธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และมีคุณค่าในตัวมันเอง ขอให้น้อง ๆ ค้นหาตัวเองให้เจอว่าอยากทำธุรกิจแบบไหน ยกตัวอย่างร้านอาหารเราต้องตั้งเป้าให้ชัดแล้วลงมือทำ”
และต้องยอมเหนื่อย แต่ทุกรายละเอียดที่เราลงมือทำมันคือของเรา สูตรที่เราคิดค้นมันคือสูตรของเรา คือความภาคภูมิใจของเรา ซึ่งแต่ละคนมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และไม่มีใครสามารถลบหรือทำลายตัวตนของเราไปได้
“ในส่วนของต่ายคือไม่ได้ตั้งเงินก่อน แต่เราตั้งเป้าว่าอยากสร้างแบรนด์ ดิ ฟิออร่า ให้มีสัมผัสแบบนี้ที่เราอยากให้เป็น ฉะนั้นทุกอย่างที่ต่ายและน้องสาวลงในรายละเอียดมันคือตัวตนของเรา น้องสาวทุ่มเทให้กับการคิดค้นสูตรอาหาร มันก็คือความภาคภูมิใจของเขาที่เขาคิดค้น ในขณะที่ต่ายอยู่ข้างนอกเป็นคนตกแต่งร้าน ทุกจุดทุกอย่างในร้าน ผ่านตาต่ายทุกชิ้น ผ่านมือต่ายทุกอัน ต่ายทำเองหมด จัดร้านเองทั้งหมด มันคือบ้านของเรา เรามีความสุขที่อยู่ในร้านตลอดเวลา มันคือของของเรา แล้วลูกค้าที่มา เพื่อนของเราที่มาทุกคน ก็สามารถสัมผัสได้”
“อะไรที่ไม่เคยทำต้องทำให้ได้ ถ้าเราไม่เริ่มทำ เราก็จะไม่กล้าทำ และไม่รู้ว่าผลมันจะเป็นยังไง เอาความผิดพลาดมาเรียนรู้เพื่อก้าวต่อไป แม้จะเหนื่อย จะท้อ เราต้องบอกตัวเองว่าเราจะผ่านมันไปได้ ทุกอย่างจะประสบความสำเร็จได้ขึ้นอยู่กับทัศนคติของเรา”
“เราต้องมีทัศนคติที่ดีและโฟกัสให้ถูกจุด เลือกสังคม เลือกคนที่จะนำพาเราไปในทิศทางที่เราต้องการ จากที่เคยปาร์ตี้สังสรรค์พอทำร้านเราโฟกัสที่ร้าน เพราะเราอยู่ในจุดที่เราเลือกและอยากจะเป็น ซึ่งเรามีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดขึ้นในธุรกิจของเรา ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มจากลูกค้า คำชื่นชม การได้เห็นน้อง ๆ มีรายได้ เราภูมิใจตรงนี้ มันทำให้เรามั่นใจว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ และขอขอบคุณทุกคนที่มองเห็นเราและยินดีที่ได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์ในครั้งนี้”