การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในรูปแบบที่แตกต่าง หลังโควิด-19

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เหมือนครั้งใด ๆ ในประวัติศาสตร์ โดยครั้งนี้ ผู้บริโภคมีเงินออมเพิ่มขึ้นจากปกติ ธุรกิจต่างเร่งรีบที่จะเริ่มการจ้างงานอีกครั้ง รวมถึงรัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมายเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปี 2550-2552

กลุ่มธุรกิจใหม่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ ภาระการชำระหนี้ในครัวเรือนของสหรัฐฯ อยู่เกือบระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2523 ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 18% จากระดับสูงสุดก่อนเกิดโรคระบาดในเดือน ก.พ. 2563 และราคาบ้านทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 14% เทียบกับช่วงก่อนการเกิดโรคระบาดเช่นเดียวกัน

ในขณะเดียวกัน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้า วัตถุดิบ และแรงงาน ที่ปกติมักจะเกิดขึ้นในช่วงท้ายของการขยายตัว กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์และธนาคารกลางสหรัฐคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นชั่วคราว แต่ยังมีอีกหลายฝ่ายกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจจะยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าธุรกิจจะเปิดทำการเป็นปกติอีกครั้ง

มาตรการและข้อจำกัดต่าง ๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรวดเร็วในฤดูใบไม้ผลิปีที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายกังวลว่า จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าคนงานและภาคธุรกิจจะฟื้นตัว แต่ตอนนี้พวกเขาคาดว่า เศรษฐกิจจะสามารถปรับตัวได้ดีขึ้นเกินระดับก่อนเกิดโรคระบาดในไตรมาสนี้ โดยภายในสิ้นปีนี้ GDP น่าจะปรับตัวไปถึงยังจุดเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้หากไม่เคยเกิดการระบาดใหญ่อีกระลอก

การฟื้นตัวจากภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2533-2534 ปี 2544 และระหว่างปี 2550-2552 ก่อให้เกิด การว่างงาน ซึ่งทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงเป็นเวลาหลายปี แต่ในครั้งนี้ ตลาดแรงงานดูตึงตัวมากขึ้น ดัชนีค่าจ้างแรงงานในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 0.9% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี 2550 แม้ว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 6.1% สูงกว่าช่วงก่อนการระบาดใหญ่ก็ตาม

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นถึงสี่สัญญานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อน ได้แก่

ความแตกต่างระหว่างภัยธรรมชาติและภัยทางการเงิน

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอดีตมักเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยหรือมูลค่าสินทรัพย์ที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อผลผลิต รายได้ รวมถึงการจ้างงาน ซึ่งบางครั้งเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี

ในขณะที่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจจากแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางการเงิน แต่คล้ายกับการหยุดชะงักที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งอุปสงค์และอุปทานของสินค้าและบริการจะยังคงอยู่ตามปกติ และเมื่อภัยพิบัติผ่านพ้นไป เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาวะถดถอยทั่วไป จากการศึกษาสถิติการคืนภาษีบุคคลธรรมดาของชาวนิวออร์ลีนส์ในปี 2561 พบว่า หลังจากพายุเฮอริเคนคาทรีนาถล่มครั้งใหญ่ในช่วงแรก รายได้ของผู้ประสบภัยกลับคืนสู่สภาพเดิมภายในเวลาไม่กี่ปี และยังแซงหน้าผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

การได้รับวัคซีนอย่างแพร่หลายเปรียบเสมือนการควบคุมภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ผู้บริโภคกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น และธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดใหม่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และการจ้างงานก็เพิ่มมากขึ้น

นโยบายการเงินและการคลัง

รัฐบาลเร่งกำหนดนโยบายทางการเงินการคลังเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรวดเร็ว จึงทำให้สามารถจำกัดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวที่รวดเร็วขึ้น อาทิ การจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายผลประโยชน์การว่างงาน และโครงการ Paycheck Protection Program โดยใช้งบประมาณสูงกว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งก่อน คิดเป็นมูลค่า 5.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4.4% ของ GDP จนถึงปี 2567 เทียบกับงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2550-2552 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ 2.4% ของ GDP ระหว่างปี 2551 ถึง 2555

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ริเริ่มการซื้อพันธบัตรขนาดใหญ่ และรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำเกือบศูนย์จนกว่าการจ้างงานเต็มจำนวนจะกลับมา และอัตราเงินเฟ้ออยู่เหนือเป้าหมายที่ 2% โดยเจ้าหน้าที่กล่าวว่า อาจจะไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจนถึงปี 2567

ผลลัพธ์คือรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับก่อนเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ

ครัวเรือนและธุรกิจที่มีการฟื้นตัวดีขึ้น

“บ่อยครั้งที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่สมดุลบางอย่าง เรามีที่อยู่อาศัยมากเกินไป หรือมีหนี้สินมากเกินไป หรือมีเงินเฟ้อมากเกินไป” คาเรน ไดแนน ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกล่าว แต่ความไม่สมดุลดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ เนื่องจากนโยบายกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ช่วยป้องกันความเสียหายในวงกว้าง

การออมมักจะเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากครัวเรือนกังวลกับการใช้จ่ายและต้องการออมเงินสด แต่ก็ไม่เคยมากขนาดนี้ ชาวอเมริกันออมเงินในอัตรา 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในเดือน เม.ย. ซึ่งมากกว่าก่อนเกิดวิกฤตถึง 2 เท่า ส่งผลให้พวกเขาใช้จ่ายฟุ่มเฟือยมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง

ปัญหาการขาดแคลน ภาวะคอขวด ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ

ข้อเสียอย่างหนึ่งของการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วคืออุปสงค์ฟื้นตัวเร็วกว่าอุปทาน ทำให้เกิดภาวะ “คอขวด” และแรงกดดันด้านค่าจ้างและราคาซึ่งปกติแล้วจะเกิดขี้นในช่วงหลายปีหลังจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

อัตราเงินเฟ้อมักจะปรับตัวลดลงในช่วงระหว่างภาวะถดถอยและการฟื้นตัวในช่วงต้น จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้นแต่ในครั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค(ไม่รวมอาหารและพลังงาน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ 0.9% ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึง เม.ย. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นรายเดือนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2525

ในส่วนของการจ้างงาน นายจ้างที่ต้องการจ้างงานกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยระหว่างเดือนเมษายนของปีที่แล้วถึงมีนาคมของปีนี้ จำนวนผู้หางานต่อหนึ่งงานที่เปิดรับสมัครลดลงจาก 5 เหลือเพียง 1.2 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสองครั้งก่อน

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.wsj.com/articles/the-economic-recovery-is-here-rebound-jobs-stock-market-unemployment-biden-aid-package-11622642152

1,854 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top