ราคาอาหารในสหรัฐฯ มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นทั้งในร้านขายของชำและในร้านอาหาร จากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ทำให้บางบริษัทต้องขึ้นราคาสินค้า ในขณะที่บางบริษัทเลือกที่จะขายสินค้าในปริมาณลดลงในราคาเดิม
เมื่อเดือนที่แล้วร้าน Chipotle ขึ้นราคาสำหรับเมนูอาหารประมาณ 4% เนื่องจากค่าแรงและวัตถุดิบในการประกอบอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นท่ามกลางความต้องการที่สูงขึ้น The Wall Street Journal รายงานว่า ร้านอาหาร Red Robin และ Cracker Barrel ได้ขึ้นราคาประมาณ 3% และอาจจะต้องขึ้นราคาต่อไปอีก หากต้นทุนสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ในเดือน พ.ค. ราคาผู้บริโภค (consumer price) ของสหรัฐฯ แตะระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยเพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากต้นทุนของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สำหรับการอบทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงขึ้น ทำให้บางบริษัทได้เริ่มขายสินค้าด้วยราคาเท่าเดิม แต่ในปริมาณที่น้อยกว่า
แม้แต่บริษัทที่มุ่งทำธุรกิจกับกลุ่มลูกค้าที่เลือกซื้อสินค้าด้วยงบประมาณที่ประหยัดกว่าก็ยังถูกบังคับให้ขึ้นราคา นายไมเคิล วิททีสกี ซีอีโอของห้างค้าปลีกราคาประหยัด Dollar Tree กล่าวเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมาว่าบริษัทพยายามดิ้นรนเพื่อคงราคาสินค้าให้อยู่ในระดับต่ำ
ทำไมราคาอาหารพุ่งขึ้น
ราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ โดยในระยะหลังต้นทุนด้านยานพาหนะขนส่งและน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้ราคาผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้น ราคาอาหารก็สูงขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับปัญหาห่วงโซ่อุปทาน สินค้าหลักที่จำเป็น (key commodities) กลายเป็นสินค้าที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากความล่าช้าในการขนส่ง การขาดแคลนแรงงานในประเทศ และภัยแล้งที่รุนแรงในหลาย ๆ ประเทศ
การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการขนส่งทั่วโลก ทำให้การขนส่งสินค้าเป็นเรื่องยาก ความล่าช้าทำให้ค่าขนส่งต้องแพงขึ้น เนื่องจากบริษัทต่างๆ แข่งขันกันเพื่อแย่งชิงพื้นที่จำกัดบนเรือ ในตู้คอนเทนเนอร์ และรถบรรทุกส่งของ
ค่าขนส่งในต่างประเทศระหว่างเอเชียและสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นประมาณ 250% จากช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว ตามข้อมูลของ Freightos ตลาดการขนส่งสินค้าออนไลน์ โดยห้างค้าปลีกอุปกรณ์เกี่ยวกับการซ่อมแซมบ้านอย่าง Home Depot ได้เริ่มเช่าเหมาลำเรือและตู้คอนเทนเนอร์ของตัวเองเพื่อนำผลิตภัณฑ์เข้าประเทศได้เร็วขึ้น
การขาดแคลนแรงงานในสหรัฐฯ ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งอย่างมาก ตั้งแต่การขาดแคลนคนขับรถบรรทุก ไปจนถึงร้านอาหารและร้านขายของชำที่ต้องดิ้นรนหาคนงาน บริษัทหลายแห่ง รวมถึงร้าน Chipotle และ McDonalds ต้องขึ้นค่าจ้างพนักงาน ในขณะที่บริษัทอื่น ๆ พยายามให้สิ่งจูงใจเพิ่มเติมเพื่อชักจูงให้พนักงานกลับมาทำงาน อาทิ ร้าน One Jersey Mike’s ในแคลิฟอร์เนียเสนอโบนัสจ้างงานสูงถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ ภัยแล้งครั้งใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เช่น บราซิล และอาร์เจนตินาก็เป็นแรงผลักดันให้ราคาข้าวโพด กาแฟ และถั่วเหลืองสูงขึ้นเช่นกัน เมื่อเดือน พ.ค. สำนักข่าว Reuters รายงานว่า บราซิลเผชิญกับภัยแล้งครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 91 ปี และแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นรัฐที่รับผิดชอบอุปทานอาหารของประเทศมากกว่า 25% ก็ต้องเจอกับภัยแล้งขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อราคาอาหารในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
ยิ่งไปกว่านั้น ราคาเนื้อสัตว์ก็พุ่งสูงขึ้นเมื่อช่วงกลางเดือน มิ.ย. จากการโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับบริษัท JBS ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ที่ดำเนินการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อวัว ไก่ และหมูของประเทศประมาณ 20-25%
ราคาผู้บริโภคอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี และไม่มีสัญญาณว่าราคานั้นจะอ่อนตัวลง ผู้บริหารจาก General Mills และ Campbell Soup Company เตือนว่า พวกเขาอาจถูกบังคับให้ขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องหากปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังคงดำเนินต่อไป
โฆษกของ Campbell บอกกับสำนักข่าว Insider ว่า อุตสาหกรรมอาหารทั้งหมดกำลังประสบกับภาวะเงินเฟ้อ “Campbell มีวิธีการหลายอย่างเพื่อรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงการวิเคราะห์ราคาในทุก portfolio เพื่อให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตในวงกว้าง”
ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ ยังคงขึ้นราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ราคาของสินค้าจะเริ่มมีความสมดุลขึ้นเมื่อวิกฤตการณ์การขนส่งทางเรือเริ่มบรรเทาลง แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะคงอยู่ไปอีกนานเพียงใด
อ้างอิงข้อมูลจาก