หลังรอคอยมานานกว่า 26 ปี ล่าสุด บริษัท AquaBounty ของสหรัฐฯ ประกาศพร้อมวางจำหน่าย “แซลมอนตัดต่อพันธุกรรม” ให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันได้ลองเป็นครั้งแรก
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2538 บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อะควาเบาน์ที (AquaBounty) ได้เริ่มกระบวนการขอรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) สหรัฐฯ เพื่อขออนุมัติการเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนแอตแลนติกที่ดัดแปลงพันธุกรรมสำหรับการนำมาบริโภคเป็นอาหารเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อทางการค้า อะควาแอดเวนเทจ (AquAdvantage) โดยปลาแซลมอนดังกล่าว ถูกพัฒนาขึ้นด้วยการรวมยีนที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อการเจริญเติบโตของปลาแซลมอนธรรมชาติในมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Chinook) เข้ากับจีโนมของปลาแซลมอนแอตแลนติก ซึ่งส่งผลให้ปลาเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และลดเวลาในการเพาะพันธุ์เพื่อนำออกสู่ตลาดจาก 3 ปี เหลือเพียง 18 เดือน โดยอะคว เบาน์ทีจะสามารถเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนสดได้มากขึ้นถึง 70 % ต่อปี เมื่อเทียบกับการเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนแอตแลนติกทั่วไป
เมื่อปี 2558 FDA ได้อนุมัติและให้การรับรองว่า ปลาแซลมอนของบริษัทอะควาเบาน์ทีมีความปลอดภัยในการบริโภคเท่าเทียมกับปลาแซลมอนปกติ แต่ทางบริษัทฯ มิได้เริ่มทำการเพาะพันธุ์ปลาจนกระทั่งปี 2562 เนื่องจากเกิดความล่าช้าเรื่องข้อกำหนดของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ เกี่ยวกับการติดฉลากอาหารที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ
ล่าสุด ทางบริษัทได้ประกาศว่า ปลาแซลมอนจำนวนกว่า 5 เมตริกตัน ที่ถูกจับขึ้นมาในครั้งแรกในช่วงปลายเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้ถูกสั่งจองหมดแล้ว โดยนาย โจ ลาสโปรกาตา รองประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท Samuels and Son Seafood ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายปลาแซลมอนของอะควาเบาน์ทีได้กล่าวว่า “ปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมของอะควาเบาน์ที เป็นปลาแซลมอนที่ผลิตในสหรัฐฯ มีคุณภาพที่เชื่อถือได้ และมีรสชาติอร่อย ”
แนวโน้มผลกระทบของปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรมต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ผู้พิพากษาประจำ U.S. District Court for the Northern District of California ได้ตัดสินคดีที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยื่นฟ้อง FDA เรื่องการรับรองปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรม โดยผู้พิพากษาระบุว่า การกระทำของ FDA เป็นการละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม และสั่งการให้ FDA กลับไปศึกษาถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่ปลาแซลมอลดัดแปลงพันธุกรรมเหล่านี้หลุดออกไปปะปนกับแซลมอนตามธรรมชาติ
สตีฟ มาชูดา ทนายความของเอิร์ธจัสติส (Earthjustice) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “ผลการตัดสินครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์บอกกับ FDA มานานหลายปี ว่าการเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม จะก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ หากปลาหลบหนีและรั่วไหลปะปนกับปลาแซลมอนในธรรมชาติ ซึ่ง FDA ต้องเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงนั้นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้น”
“พวกเราควรมุ่งเน้นไปที่การช่วยประชากรปลาแซลมอนป่าในธรรมชาติที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ใช่การผลิตสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของพวกมัน” เขากล่าว
จากการศึกษาพบว่า มีความเสี่ยงสูงที่สิ่งมีชีวิตปรับแต่งพันธุกรรมจะหลบหนีเข้าไปในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งในกรณีนี้ ปลาแซลมอนที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม จะสามารถผสมข้ามสายพันธุ์กับปลาพื้นเมืองได้ หรือที่เรียกว่า “การปนเปื้อนจากพันธุกรรม” ที่ปกติจะเกิดขึ้นกับพืชดัดแปลงพันธุกรรม ไปผสมเกสรกับพืชตามธรรมชาติ ซึ่งการปนเปื้อนเหล่านี้ ทำให้เกษตรกรสหรัฐฯ ต้องเสียเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การพัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ด้วยการดัดแปลงพันธุกรรมย่อมมีผู้ไม่เห็นด้วย อันเนื่องมาจากผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น กรณีที่สัตว์หลบหนีออกจากสถานเพาะเลี้ยง และอาจใช้ชีวิตปะปนอยู่กับสัตว์สายพันธุ์ธรรมชาติ หรือแม้แต่ผสมพันธุ์กับสัตว์ในสายพันธุ์ธรรมชาติ
แต่ทั้งนี้ FDA ได้พิจารณาแล้วว่า แซลมอนของอะควาเบาน์ทีจะไม่มีผลกระทบต่อธรรมชาติ โดยยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบขั้นตอนการผลิตและเพาะพันธุ์ของอะควาเบาน์ทีมีมาตรฐาน และกระบวนการติดตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่น่าเป็นห่วงต่อระบบนิเวศสหรัฐฯ เนื่องจากมีโอกาสน้อยมากที่ปลาแซลมอนอะควาเบาน์ทีจะสามารถหลบหนีจากสถานเพาะเลี้ยงออกไปได้ หรือสามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้ รวมถึงมีโอกาสน้อยมากที่จะทำการผสมพันธุ์กับปลาแซลมอนแอตแลนติกตามธรรมชาติ โดยมีกรอบมาตรการกักกันทางกายภาพและชีวภาพที่เป็นตัวกำหนด
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://reason.com/2021/05/14/after-26-years-of-fda-delays-u-s-consumers-can-finally-buy-genetically-enhanced-aquabounty-salmon/
- https://www.foodsafetynews.com/2020/11/judge-orders-fda-to-analyze-risks-of-escape-by-genetically-engineered-salmon/
- https://www.fda.gov/animal-veterinary/animals-intentional-genomic-alterations/questions-and-answers-fdas-approval-aquadvantage-salmon