ความต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพที่เพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาน้ำมันถั่วเหลืองสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

วิกฤตการณ์น้ำมันระหว่างปี ค.ศ. 1970 ถึง 1980 เป็นช่วงที่กลุ่มประเทศตะวันออกกลางหยุดส่งน้ำมันให้กับหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ (net importer of oil)  แต่ในวันนี้สถานการณ์ได้เปลี่ยนไป ปัจจุบันสหรัฐฯ กลายเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ในขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า ความต้องการใช้น้ำมันจะเกินอุปทานในอนาคตอันใกล้ เพราะในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นหลายอย่างยังต้องใช้น้ำมัน และมักจะถูกมองข้ามไป เช่น การผลิตอาหาร เสื้อผ้า พลาสติก วัสดุก่อสร้าง และเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่ง ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันที่ผลิตในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนมิถุนายน 2564 ราคาน้ำมันถั่วเหลืองในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยได้แรงหนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันถั่วเหลืองที่ Chicago Board of Trade (CBOT) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ในปีนี้ โดยปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ของสัปดาห์เดียวกันนั้นที่เกือบ 72 เซ็นต์ต่อปอนด์ ซึ่งตัวเลขนี้เกินจุดสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นในปี 2551

การ rebound หรือการฟื้นตัวของราคาน้ำมันถั่วเหลือง ได้ส่งผลให้น้ำมันถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในหุ้นที่มีผลงานดีที่สุดแห่งปี พร้อมไปกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ไม้แปรรูป ข้าวโพด และหมู โดยน้ำมันถั่วเหลืองมักถูกใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เช่น ซีเรียล ขนมปัง และของขบเคี้ยวอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำมันพืชที่เพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักมาจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน ดังเห็นได้จากนโยบายของประธานาธิบดีไบเดนที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 โดยคาดว่า เชื้อเพลิงชีวภาพโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลหมุนเวียน จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของความต้องการน้ำมันพืชในอนาคต

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดว่า ภาคอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพจะมีความต้องการใช้น้ำมันถั่วเหลือง 12 พันล้านปอนด์ในช่วงปีการเก็บเกี่ยว 2564 – 2565 เพิ่มขึ้นจาก 9.5 พันล้านปอนด์ในปีการเก็บเกี่ยว 2563 – 2564 โดยผู้ผลิตพยายามที่จะเร่งผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า กำลังการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 935 ล้านแกลลอนในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามรายงานของ StoneX Group และกำลังการผลิตนี้ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่าสองพันล้านแกลลอนต่อปีภายในปี 2566

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัท Archer Daniels Midland (ADM) ประกาศการลงทุนมูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างโรงงานโม่ถั่วเหลืองแห่งใหม่ในเมือง Spiritwood รัฐนิวเจอร์ซีย์ โดยจะแปรรูปถั่วเหลืองดิบเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันและแป้ง โดย ADM ได้ระบุว่า โรงงานจะเปิดใช้งานก่อนการเก็บเกี่ยวในปี 2566 และนำถั่วเหลืองเข้าสู่กระบวนการผลิตได้มากถึง 150,000 บุชเชลต่อวัน

ทั้งนี้ ADM ไม่ใช่บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ลงทุนในเรื่องนี้ เพราะเมื่อเดือนมีนาคม บริษัท Cargill ประกาศ จะลงทุน 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงโรงงานแปรรูปกากถั่วเหลืองใน 7 รัฐให้ทันสมัย เพื่อให้โรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มการผลิต นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน บริษัท Cargill ได้ประกาศการร่วมทุนกับ Love’s Family of Companies เพื่อสร้างโรงงานดีเซลทดแทนแห่งใหม่ในเมือง Hastings รัฐเนแบรสกา โดยเมื่อเปิดทำการโรงงานจะสามารถผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเวียนได้ถึง 80 ล้านแกลลอนต่อปีออกสู่ท้องตลาด

นาย โรเจอร์ วอชฮอร์น หัวหน้าฝ่ายจัดหาสินค้าเกษตร ของ Cargill มั่นใจว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้เล่นสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดเชื้อเพลิงหมุนเวียน นอกจากนี้ บริษัทเอกชนอื่น ๆ นอกภาคเกษตรก็กำลังลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน โดยบริษัท Phillips 66 บริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ของสหรัฐฯ ยืนยันเมื่อเดือนเมษายนว่า ทางบริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นโรงงานแปรรูปถั่วเหลืองในรัฐไอโอวา และจะซื้อน้ำมันถั่วเหลืองที่ผลิตที่นั่น 100% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4,000 บาร์เรลต่อวัน

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://asiaweekguide.com/renewable-fuel-push-drives-soyoil-prices-to-record-high/

192 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top