ในปี 2565 ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะใช้จ่ายสำหรับของชำ (groceries) ในแต่ละเดือนเพิ่มขึ้น 14% จากปีที่แล้ว และ 22% จากช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยแม้ว่า ผู้คนจะใช้จ่ายสำหรับอาหารนอกบ้าน (food away from home) มากขึ้น แต่การทำอาหารทานเองที่บ้านจะยังคงได้รับความนิยม
ผู้บริโภคคาดหมายว่าค่าของชำจะเพิ่มขึ้น
ผลสำรวจชาวอเมริกันกว่า 1,000 รายของบริษัท KPMG พบว่า ผู้บริโภคประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับของชำในปี 2565 โดยเฉลี่ยที่ 611 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เมื่อเทียบกับ 532 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนในปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 14% โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่กว่า 55% ประมาณการค่าใช้จ่ายสำหรับของชำของตนในปี 2565 อยู่ที่ระหว่าง 101-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับของชำในปี 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 22% ซึ่งสูงกว่าราคาสินค้าอุปโภคอื่น ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามและดูแลร่างกาย (personal care) ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 14% เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย 10% ยาตามใบสั่งแพทย์ 9% ร้านอาหาร 8% เครื่องใช้ไฟฟ้า 6% และ 3% สำหรับการซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน และความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ
การซื้อของออนไลน์ยังคงมาแรง
โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ผู้คนหันมาซื้อของชำทางออนไลน์ เนื่องจากการกักตัวหรือการทำงานจากบ้าน และแม้ว่าในช่วงปี 2564 ที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง จำนวนผู้คนที่เข้าไปซื้อของชำในร้าน (foot traffic) จะเพิ่มขึ้น แต่ในภาพรวมระหว่างเดือนมกราคม 2563 ถึงกันยายน 2564 นับเป็นช่วงที่การซื้อของชำทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด โดยบางช่วงเพิ่มถึง 200% จากปีก่อนหน้า
สำหรับปี 2565 ยังคาดการณ์กันว่า ผู้คนส่วนมากยังคงสามารถทำงานจากบ้านได้ และด้วยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่คาดว่าจะสูงขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคจะต้องใช้จ่ายกับการชอปปิ้งออนไลน์สูงขึ้นเช่นกัน
แนวโน้มค่าใช้จ่ายสำหรับของชำจะพุ่งสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
ถึงแม้ว่าขณะนี้ยังคงมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผู้คนจำนวนมากเริ่มกลับไปทำงานในสำนักงาน เรียนหนังสือ หรือทำธุระอื่น ๆ ซึ่งทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเกิดขึ้นนอกบ้านมากขึ้น และผู้บริโภคจะกลับมาใช้จ่ายสำหรับบริการจากร้านอาหาร ทั้งแบบเต็มรูปแบบ (Full-service) และแบบจำกัด (Limited-service) ซึ่งแนวโน้มการใช้บริการร้านอาหารนี้ได้เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2564 แล้ว
ดังนั้น แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสำหรับของชำจะสูงขึ้นในปี 2565 ทั้งจากราคาของที่แพงขึ้นจากปัญหา supply chain และความต้องการของผู้บริโภคที่จะยังคงสูงขึ้น แต่แนวโน้มดังกล่าว (trajectory) จะปรับตัวลดลง เนื่องจากส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายสำหรับร้านอาหาร
แต่ค่าใช้จ่ายสำหรับอาหารนอกบ้านก็จะไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
โดยที่ผู้บริโภคในปัจจุบันมีทั้งกลุ่มที่สามารถทำงานจากบ้านหรือสำนักงานก็ได้ และกลุ่มที่ยังทำงานที่บ้านแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในปี 2565 จึงมีแนวโน้มว่า ผู้บริโภคจะยังใช้จ่ายสำหรับของชำค่อนข้างมาก โดยยังคงทำอาหารทานเองที่บ้าน และใช้บริการร้านอาหารเป็นครั้งคราวขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งผลสำรวจพบว่า
35% จะทำอาหารเย็นทานเอง ในขณะที่เพียง 26% จะทานอาหารเย็นนอกบ้านมากขึ้น
32% จะทำอาหารกลางวันทานเองบ่อยขึ้น และเพียง 24% จะทานอาหารกลางวันนอกบ้านมากขึ้น
ในส่วนของ Take Out และ Delivery นั้น ผลสำรวจพบว่า
21% จะสั่งอาหารเย็นแบบ delivery และ 22% จะสั่ง take out
20% จะสั่งอาหารกลางวันแบบ delivery และ 21% จะสั่ง take out
นอกจากนี้ ผลสำรวจจากการวิจัยทางการตลาดของบริษัท Euromonitor International สำหรับปี 2565 คาดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มว่าจะระมัดระวังและประหยัดในการใช้จ่ายมากขึ้น รวมไปถึงการมองหาทางเลือกสำหรับการซื้อสินค้าที่จะเปลี่ยนไปจากวิธีการซื้อสินค้าแบบดั้งเดิมที่เคยทำมาอย่างเช่น การลองช็อปปิ้งในโลกดิจิทัลเสมือนจริงหรือ Metaverse
แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคและแนวทางการปรับตัวของธุรกิจต่าง ๆ ในช่วงปี 2565
- ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนสินค้า หรือ Supply chain disruptions จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้วิธีสมัครสมาชิก (subscription service) หรือซื้อสินค้ามือสองมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องปรับตัวเพื่อเสนอสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการ เช่น การจัดคิวออนไลน์ (virtual queue system) และการให้บริการเช่าสินค้าหรือขายสินค้ามือสอง (refurbished)
- ผู้บริโภคจะใส่ใจสภาพแวดล้อมและภาวะโลกร้อนมากขึ้น โดยเฉพาะการลดขยะอาหาร (Food Waste) การจัดทำรายการเพื่อซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็นและไม่กักตุน รวมไปถึงลดการใช้พลาสติกและรีไซเคิลมากขึ้น และคนรุ่นใหม่จะสร้างกระแสเรื่องนี้ให้เป็นที่สนใจของคนรุ่นเก่า โดยเฉพาะคนในครอบครัวได้มากขึ้น
- กลุ่มผู้สูงอายุจะซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์มากขึ้น การทำแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นในอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุได้มากขึ้น
- ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีความระมัดระวังทางการเงินมากขึ้น รวมทั้งมีการทดลองลงทุน และซื้อ Cryptocurrency ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ภาคธุรกิจเสนอบริการให้คำปรึกษาทางการเงิน หรือทำให้บริการเข้าถึงง่าย ด้วยการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ
- ผู้บริโภคจะหันมาให้คุณค่ากับประสบการณ์มากกว่าสิ่งของที่จับต้องได้ โดยปีที่แล้วคนจำนวนมากยังอยู่ในช่วงจัดลำดับความสำคัญของชีวิต แต่ในปีนี้ผู้คนจะเริ่มตัดสินใจสร้างความเปลี่ยนแปลง ธุรกิจจึงต้องมีความยืดหยุ่นต่อสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
- ผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตออนไลน์หรือประชุมหารือผ่าน video chat ในช่วงที่ผ่านมา กำลังเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเข้าสู่การพบปะกันในชุมชนดิจิทัลเสมือนจริง เช่น การจัดคอนเสิร์ตแบบ virtual หรือ metaverse ที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากช่วงทดลองไปสู่การใช้งานอย่างจริงจัง
- การซื้อของของมือสองไม่ถูกมองว่าไม่เก๋อีกต่อไป และกำลังกลายเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการของที่ลักษณะพิเศษเฉพาะตัว หรือต้องการซื้อของราคาย่อมเยา ธุรกิจจึงสามารถตอบสนองด้วยการมีโปรแกรมซื้อคืน (buyback program) ที่อาจตอบแทนด้วยบัตรกำนัล บัตรของขวัญ หรือส่วนลดสำหรับซื้อของในร้าน
- คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ มีแนวโน้มจะย้ายออกไปอยู่ชานเมืองหรือนอกเมืองมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ธุรกิจและบริการต่าง ๆ ย้ายหรือไปเปิดสาขาในพื้นที่เหล่านั้น
- ผู้บริโภคจะยังคงมองหาและคาดหวังสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างความสุข (self-care and happiness)ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นการบำรุงร่างกายและจิตใจ เช่น คอร์สฝึกสมาธิ กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกัญชา จึงมีแนวโน้มจะเป็นที่นิยมมากขึ้น
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดพฤติกรรมการเข้าสังคมแบบ hybrid ซึ่งมีทั้งผู้บริโภคที่อยากกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติและผู้บริโภคที่ยังต้องการใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ทำให้ธุรกิจและบริการต่างๆจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เตรียมพร้อม และมีความยืดหยุ่นในการเสนอขายสินค้าและบริการตามความต้องการของผู้บริโภค
อ้างอิงจาก
https://www.supermarketnews.com/consumer-trends/us-consumers-expect-higher-grocery-spending-2022