ทำความเข้าใจวิกฤต Supply Chain และปัญหาการจัดส่งสินค้าในสหรัฐฯ

ตั้งแต่ช่วง 2564 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับปัญหา supply chain และการขนส่งสินค้าทั้งทางน้ำและทางบก และยังมีความเป็นไปได้ว่าปัญหาเหล่านี้จะยังคงอยู่ตลอดทั้งปี 2565

การคงอยู่และขยายวงกว้างมากขึ้นของปัญหา supply chain อย่างรุนแรงในสหรัฐฯ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดการขาดแคลนคนงาน คนขับรถบรรทุก ท่าเรือและโกดังหลายแห่งปิดบริการ และการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค

สาเหตุที่ก่อให้เกิดวิฤต supply chain และปัญหาการขนส่งสินค้า

ในช่วงเริ่มแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 การผลิตและขนส่งสินค้าต่าง ๆ ลดลงเนื่องจากการ lockdown ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ภาคอุตสาหกรรมเกิดการเลิกจ้างงานสูงขึ้น แต่ต่อมาผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าที่ใช้สำหรับการทำงานจากบ้าน อาหาร และสินค้าจำเป็นอื่น ๆ มากขึ้น แทนการใช้จ่ายสำหรับสันทนาการและการท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ e-commerce

เมื่อความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้น แต่กลับมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการผลิตสินค้า รวมไปถึงศักยภาพในการขนส่งสินค้าที่ไม่เพียงพอจากการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกส่งสินค้า ซึ่งทำให้เกิด “ปัญหาคอขวด” ตามท่าเรือและศูนย์ส่งสินค้าทางบกต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความติดขัดเป็นทอด ๆ จนท้ายที่สุดทำให้เกิดวิกฤต supply chain ขึ้น

Photo Credit: Apu Gomes/Agence France-Presse/Getty Images

ยิ่งไปกว่านั้น การขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจค้าปลีกและ e-commerce ภายหลังจากโควิด-19 ระบาดหนักในช่วงเริ่มแรก ยังนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง คือโกดังและคลังเก็บสินค้าในบริเวณชานเมืองใหญ่ ๆ หลายแห่งในสหรัฐฯ ถูกใช้เก็บสินค้าจนเกือบเต็ม มีรายงานจาก CBRE Group ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ว่า คลังเก็บสินค้าใน The Inland Empire ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย มีพื้นที่ว่างเหลือน้อยกว่า 1% และคลังเก็บสินค้าในตอนเหนือของรัฐนิวเจอร์ซีมีพื้นที่เหลือแค่ 2.4% เท่านั้น

โกดังและคลังเก็บสินค้าที่หนาแน่นไปด้วยสินค้าต่าง ๆ ทำให้เรือขนส่งสินค้าติดขัดและหยุดชะงักที่ท่าเรือหลายแห่งในสหรัฐฯ ท่าเรือบางแห่งมีตู้คอนเทนเนอร์ถูกวางทิ้งไว้ เนื่องจากไม่สามารถขนถ่ายสินค้าไปไว้ที่คลังเก็บสินค้าหรือส่งออกไปสถานที่ต่าง ๆ ได้ ทำให้เรือขนส่งสินค้าบางลำต้องลอยลำอยู่นอกชายฝั่งหลายวัน หรือในบางครั้งหลายสัปดาห์ก่อนจะสามารถโหลดสินค้าลงที่ท่าเรือได้

หนทางแก้ปัญหาของผู้นำเข้าสหรัฐฯ

จากวิกฤต supply chain และปัญหาการขนส่งสินค้าที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้นำเข้าสินค้าหลายรายในสหรัฐฯ เริ่มจัดการกับระบบ supply chain ของตนเองใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการหยุดชะงักของการส่งสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้

ผู้ส่งสินค้าบางรายเริ่มวางแผนล่วงหน้าและดำเนินการส่งถ่ายสินค้าสำหรับจำหน่ายช่วงวันหยุดปลายปี (holiday-season orders) เร็วขึ้น และหลายรายย้ายการจัดส่งสินค้าจากท่าเรือในฝั่ง West Coast ไปยังท่าเรือฝั่ง East Coast หรือ Gulf Coast ของสหรัฐฯ แทน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดความแออัดของท่าเรือหลักใน Los Angeles และ Long Beach ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่โดยปกติจะมีการรับส่งสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ถึง 40%

ผลกระทบอื่น ๆ จากวิกฤต supply chain

การระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้วิกฤต supply chain ของสหรัฐฯ แย่ลงเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป สถานการณ์โลก เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมไปถึงการ lockdown ของจีนเนื่องจากการระบาดหนักของโควิด-19 ในประเทศ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับระบบ supply chain ทั่วโลก

เป็นที่ทราบกันว่า วิกฤต supply chain จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้า วัตถุดิบ ชิ้นส่วนการผลิต และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาผู้บริโภคได้เห็นสินค้าหลายชนิดขาดตลาด ร้านขายของชำบางแห่งอาจต้องปล่อยให้ชั้นวางของว่างเปล่าไปหลายวันขณะรอสินค้า และสำหรับตลาดสินค้าออนไลน์ มีแนวโน้มว่าเร็ว ๆ นี้ อาจจะได้เห็นสินค้า เสื้อผ้า และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ขาดตลาดเช่นกัน

Photo Credit: cnn.com

บริษัท Datasembly ได้สำรวจข้อมูลจากผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าและราคาในร้านขายของชำในสหรัฐฯ พบว่า ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา สินค้าที่ลูกค้าจะเลือกซื้อหมดสต๊อกถึง 31% เทียบกับเพียง 11% เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยพบปัญหาสินค้าหมดสต๊อกได้บ่อยครั้งในรัฐคอนเนทิคัต เดลาแวร์ มอนแทนา นิวเจอร์ซีย์ โรดไอแลนด์ เท็กซัส และวอชิงตัน ซึ่งทั้งหมดพบปัญหาสินค้าในร้านขายของชำหมดสต๊อกเกิน 40%

ปัจจุบันชาวอเมริกันต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นกับสินค้าชิ้นเดิมหรือแบบเดิมที่เคยซื้อมาตลอด มีรายงานในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมาว่า ค่าใช้จ่ายในการซื้อชองบริโภคอุปโภคจากร้านขายของชำในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9% จากปีที่ผ่านมา และราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น 56% เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง ไข้หวัดนก และสถานการณ์ในยูเครน

โดยปกติแล้ว ปริมาณและราคาของสินค้าแต่ละอย่างขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่างคือ วัตถุดิบ แรงงาน และการขนส่ง หากขาดสิ่งใดใน 3 ปัจจัยนี้ไป ย่อมส่งผลให้เกิดความอ่อนไหวต่อเครือข่ายที่ประกอบด้วยผู้จัดหาวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้ขนส่ง ผู้ขาย และผู้บริโภค และอาจทำให้มีการหยุดชะงักทั้งระบบ supply chain ประกอบกับความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เมื่อเกิดปัญหาสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันระหว่างผู้ขาย ซึ่งได้รับผลกระทบในระดับที่แตกต่างกันไป หลายรายเลือกจะตั้งราคาขายสำหรับผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายเต็มราคา ทำให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงเป็นผู้ได้สินค้าไป และร้านค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Walmart Amazon Safeway หรือ Kroger ที่มีกำลังซื้อและต่อรองกับผู้ผลิตสูงกว่าร้านค้าปลีกรายเล็ก สามารถซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากในแต่ละครั้งเพื่อกักตุน ในขณะที่ร้านค้าปลีกที่โดยปกติขายสินค้าราคาถูก (discount retailers) และร้านค้าปลีกขนาดเล็กอื่น ๆ ก็จะไม่สามารถหาสินค้าเหล่านั้นมาวางขายได้

แม้ว่าวิกฤต supply chain จะเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว และทุกส่วนของวงจรก็เริ่มปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา แต่หลายฝ่ายยังคาดว่า supply chain จะยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องไปตลอดปีนี้ ตราบใดที่ยังมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายส่วนของโลก ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องวางแผนเพื่อปรับตัว และเตรียมตัวให้พร้อมต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต เพื่อไม่ให้ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและวงจรเศรษฐกิจในวงกว้าง

อ้างอิง

https://www.nytimes.com/2022/02/01/business/supply-chain-disruption.html

https://www.wsj.com/articles/u-s-importers-are-trying-to-ship-around-potential-labor-disruption-11647777602

https://www.cbsnews.com/news/product-shortages-inflation-supply-chain-2022/

923 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top