การเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวของสหรัฐฯ

ในปัจจุบันหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับปากท้องและความเป็นอยู่ โดยที่ภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินในกระเป๋าของผู้บริโภคทุกคน ภาวะเงินเฟ้อทำให้เงินที่เรามีอยู่นั้นมีมูลค่าน้อยลง ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากภาวะเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จะกระทบต่อการใช้จ่ายและความเป็นอยู่ของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

โดยปกติแล้ว ภาวะเงินเฟ้อส่งผลเสียแก่ผู้บริโภคในแง่ที่ทำให้กำลังซื้อลดลง และในส่วนของภาคธุรกิจก็ต้องการให้ระดับของภาวะเงินเฟ้อคงที่ เนื่องจากจะส่งผลดีต่อการลงทุน ผลกำไร และผลตอบแทนที่จะสูงขึ้นในอนาคต และภาวะเงินเฟ้อต่ำและคงที่นั้นยังเอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อรัฐบาลชำระหนี้กู้ยืมระยะยาวในช่วงภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลจะได้ประโยชน์จากการที่มูลค่าของเงินลดลง แต่ใช้เงินจำนวนเงินเท่าเดิมในการชำระหนี้

อย่างไรก็ดี ตามรายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคของสหรัฐฯ ซึ่งวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer-price Index หรือ CPI) แตะระดับสูงสุดในรอบสี่ทศวรรษหรือนับตั้งแต่ปี 2524 โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2565 เพิ่มขึ้น 8.6% จากเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวของและสินค้าอื่นสูงขึ้น โดยแทบไม่มีแนวโน้มว่าจะผ่อนคลายลงเมื่อใด

ทำไมภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เริ่มต้นจากความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มมากกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็กำลังเผชิญกับวิกฤต supply chain ปัญหาการชาดแคลนนค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายในประเทศ และสหรัฐฯ ยังประสบปัญหาการจัดส่งสินค้า เนื่องจากการขาดคนขับรถบรรทุกส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปยังที่ต่าง ๆ ภายในประเทศ ทำให้มีสินค้ามากมายติดอยู่ในเรือและโกดังเก็บสินค้าตามท่าเรือ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งและประกันสินค้าพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว

Credit: CBS news

ในขณะเดียวกัน เมืองใหญ่หลายแห่งในประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตและส่งออกสินค้าที่สำคัญที่สุดของโลก ได้เข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดอยู่หลายสัปดาห์ ตามนโยบาย zero-covid policy ของรัฐบาลจีน ซึ่งทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งปิดหรือหยุดทำการผลิตชั่วคราว ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบ สินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมไปถึงสหรัฐฯ ซึ่งนำเข้าสินค้าและผลิตภัณฑ์จำนวนมากจากจีน

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนก็มีส่วนทำให้ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ร่วมกันคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อราคาสินค้าและน้ำมันโลก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินรายใหญ่ให้กับโรงงานในหลายประเทศในยุโรป

นอกจากนี้ ทั้งยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกธัญพืชหลายประเภท อาหารสำหรับปศุสัตว์ และวัตถุดิบสำหรับปุ๋ยรายใหญ่ สถานการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เกิดการขาดแคลนปุ๋ยเพื่อการเกษตร ส่งผลให้ราคาปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรในสหรัฐฯ และการขาดแคลนปุ๋ยเพื่อการเกษตรนั้นยังส่งกระทบต่อราคาอาหารโลกและรวมไปถึงการขาดแคลนอาหารอีกด้วย

ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ราคาอาหาร น้ำมัน และสินค้าในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 460 ดอลลาร์สหรัฐทุกเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้จ่ายในจำนวนเท่ากันของปีก่อน ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 50% ราคาพลังงาน เช่น แก๊สหุงต้ม เพิ่มขึ้น 34.6% ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 12% ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 11.9% ราคารถมือสองเพิ่มขึ้น 16.1% ราคารถใหม่เพิ่มขึ้น 12.6% ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเช่าบ้านหรือซื้อบ้านเพิ่มสูงขี้น 5.5% ค่าใช้จ่ายในร้านค้าของผู้บริโภคชาวอเมริกันโดยทั่วไปเพิ่มขึ้น 10% ในส่วนของการเดินทาง ราคาค่าตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้น 37.8% และค่าตั๋วโดยสารทั่วไปเพิ่มขึ้น 21.7%

Credit: CNN

ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดเล็ก ได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากผลสำรวจของ business.org พบว่า 92% ของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กต้องเผชิญกับการขึ้นราคาของสินค้าและวัตุดิบต่าง ๆ

ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 สินค้า วัตถุดิบและบริการต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำเนินกิจการมีราคาสูงขึ้น ทำให้ 80% ของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าและบริการเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าอาจจะเสี่ยงต่อการสูญเสียลูกค้าก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าของธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก และต้องยอมสูญเสียผลกำไรไปบ้างหลังจากการขึ้นราคาสินค้า เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กจึงไม่ควรที่จะขยายธุรกิจในตอนนี้ และอาจจะต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินต่อไปได้ และที่สำคัญควรจะให้ความสำคัญกับการทำการตลาดในธุรกิจของตนเองเพื่อส่งเสริมยอดขาย

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลูกจ้างต่างก็เรียกร้องขอปรับเงินเดือนและค่าแรงให้สูงขึ้นเพื่อรับกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น ในปี 2565 นี้องค์กรธุรกิจในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่กำลังมีแผนการเพิ่มงบประมาณการจ่ายเงินเดือน 4% หรือมากกว่านั้น และหลายองค์กรกำลังจะเพิ่มงบประมาณเงินเดือนตามผลงาน โดยจะมีการเพิ่มเงินเดือน 5 %ขึ้นไป

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่บรรเทาลงในสหรัฐฯ ธุรกิจจำนวนมากเริ่มให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ พนักงานบางส่วนกลับเข้าทำงานออฟฟิศทุกวัน แต่ยังมีบางกลุ่มที่ยังทำงานจากที่บ้าน และกลุ่มที่ทำงานแบบผสมผสานกัน อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นและกำลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ลูกจ้างต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ

แนวทางการชะลอภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2565 ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปี 2565  อีกร้อยละ 0.75 สู่ระดับร้อยละ 1.5 – 1.75 ซึ่งสูงกว่าอัตราการปรับครั้งที่ผ่านมา และถือเป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นในอัตราสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2537

Source: Federal Reserve Bank
Graphic: Jiachuan Wu and Nigel Chiwaya / NBC News

เป้าหมายของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือ การเพิ่มต้นทุนสินเชื่อทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนทางการเงินของธนาคารสูงขึ้น ซึ่งหากผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ต้องการกู้ยืมกับทางธนาคารก็จะต้องจ่ายคืนในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากทุกคนจะต้องจ่ายภาษีดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้น

ผู้บริโภคหรือธุรกิจที่ไม่ต้องการจ่ายเงินมากขึ้นไปกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจจะเลื่อนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาเงินทุน ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ผู้คนประหยัดเงินมากขึ้น เป็นการลดประมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดอัตราเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

แนวทางการใช้จ่ายของชาวอเมริกันในช่วงภาวะเงินเฟ้อ

ภาวะเงินเฟ้อและการขึ้นราคาอาหารและสินค้าในสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันจำเป็นต้องเปลี่ยนนิสัยการชอปปิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ผู้บริโภคส่วนใหญ่นอกจากจะเลือกซื้อเฉพาะของกินของใช้ที่จำเป็น ไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่แพงจนเกินไป ใช้คูปองส่วนลดในการซื้ออาหารและสินค้าเพื่อช่วยในการประหยัดเงิน ผู้บริโภคหลายรายต้องวางแผนการซื้ออาหารและของเข้าบ้านในแต่ละเดือน บางรายยอมที่จะต้องขับรถไกลขึ้น 2-3 ไมล์เพื่อไปซื้ออาหารและของที่ร้านชำที่อยู่ไกลบ้านออกไปเพียงเล็กน้อยแต่ราคาถูกกว่าร้านที่อยู่ใกล้บ้าน บางรายต้องสมัครสมาชิกเพื่อให้ได้รับส่วนลดหรือดีลดี ๆ จากซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายของชำต่าง ๆ ผู้บริโภคที่รายได้ไม่สูงอาจจะงดซื้อเนื้อสัตว์แต่หันมารับประทานไข่แทน เนื่องจากเนื้อสัตว์มีราคาที่สูงขึ้นมาก

ในช่วงภาวะเงินเฟ้อและข้าวของแพงเช่นนี้ อาจะทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่สบายใจกับการใช้จ่ายและบริหารเงินในกระเป๋า ธุรกิจต่าง ๆ ก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ดังนั้น การเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคคือ การกลับไปสู่พื้นฐานที่รู้ว่าตนเองใช้จ่ายเงินไปเพื่ออะไรและใช้จ่ายอย่างประหยัดขึ้น มีแผนการที่รอบคอบในการใช้จ่ายในแต่ละเดือน การออมเงิน รวมไปถึงการลงทุนต่าง ๆ ในระยะยาว นอกจากนี้ อาจจะมีการพิจารณาวิธีการเพิ่มรายได้จากทางอื่นถ้าทำได้ อย่างไรก็ดี ถ้าทุกคนรู้จักที่จะเรียนรู้ ปรับตัว และวางแผนรับมือไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน คิดก่อนชอป หรือวางแผนหาอาชีพเสริมในช่วงภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้ ก็จะทำให้การเงินของเราไปต่อได้ไม่มีสะดุดนั่นเอง

อ้างอิง

https://www.cnn.com/2022/06/10/economy/may-inflation-gas-prices/index.html

https://www.forbes.com/advisor/investing/fed-raises-interest-rates/

https://www.forbes.com/sites/forbesfinancecouncil/2022/05/25/the-impact-of-inflation-on-small-businesses-and-how-to-manage-it/?sh=74d12186ae41

https://hbr.org/2022/05/how-companies-can-prepare-for-a-long-run-of-high-inflation

https://www.nytimes.com/2022/05/15/business/inflation-grocery-prices.html

https://www.shrm.org/resourcesandtools/hr-topics/compensation/pages/as-inflation-soars-workers-expect-bigger-raises.aspx

https://www.wsj.com/articles/us-inflation-consumer-price-index-may-2022-11654810079

912 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top