เป็นที่ทราบกันดีว่า อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นหมายถึงผู้บริโภคต้องใช้จ่ายมากขึ้นสำหรับสินค้าและบริการเดียวกัน หากรายได้ของผู้บริโภคยังเท่าเดิมหรือไม่เป็นไปตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อของผู้บริโภคเหล่านั้นก็จะลดลง ในที่สุดอัตราเงินเฟ้อจะเป็นตัวเพิ่มค่าครองชีพโดยรวม ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดที่น่ากังวล ก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ
กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง
บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Whirlpool Corporation และ Procter & Gamble (P&G) เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของนักช็อปชาวอเมริกันจำนวนมากที่ขณะนี้เริ่มระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และนักช็อปส่วนหนึ่งซื้อสินค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นักเศรษฐศาสตร์หลายรายให้ความเห็นว่า แนวโน้มทางเศรษฐกิจขณะนี้ เสมือนเป็นการทำลายอุปสงค์ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังสูญเสียกำลังซื้อไป
นักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์อีกว่า ข้อมูลการใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Consumption) หลังจากที่ปรับอัตราเงินเฟ้อแล้วจะเติบโตเพียง 1% ต่อปีในไตรมาสที่สาม ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันแรกของการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 อย่างไรก็ดี คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภายในประเทศจะฟื้นตัวในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าที่ลดลง
ร้านอาหารต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบจากกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงเช่นกัน ผลการสำรวจของเดือนกันยายน 2565 จากบริษัทวิจัย Datassential Inc. พบว่าผู้บริโภคครึ่งหนึ่งเลิกรับประทานอาหารในร้านอาหารเนื่องจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยการตัดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นทางเลือกแรกที่ผู้บริโภคเลือกเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย รองลงมาคือการลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายและการเดินทาง
นอกจากนี้ ข้อมูลสำรวจจากบริษัท S&P Global ได้แสดงว่า กิจกรรมทางธุรกิจของผู้ประกอบการและผู้ให้บริการต่าง ๆ หดตัวลงเป็นอย่างมากในช่วงเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการประเมินที่เกือบจะแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 อันเนื่องมาจากความต้องการของลูกค้าที่ลดลงเป็นอย่างมาก ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาะเงินเฟ้อที่ไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแปลง (stubborn inflation)
ในส่วนของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ช่วงเดือนตุลาคม 2565 ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดว่า การใช้จ่ายของชาวอเมริกันจะเป็นไปแบบไม่มีชีวิตชีวาและชะลอตัวจนถึงสิ้นปี และความไม่แน่นอนโดยรวมเกี่ยวกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคนี้ กำลังส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อภาคธุรกิจ
จากสภาวะเงินเฟ้อ การอุปโภคบริโภคที่ชะลอตัวลง รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังหดตัวลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า สหรัฐฯ กำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75 จุด จาก 3.75% เป็น 4% เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และส่งสัญญาณแผนการที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อไป โดยอาจเพิ่มขึ้นทีละน้อย แต่ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการลดอัตราเงินเฟ้อ และควบคุมความต้องการสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี หากกลไกทางเศรษฐกิจถูกบีบให้ต้องชะลอตัวลงมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจได้
อัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อสินเชื่อของผู้บริโภค และจะส่งผลต่อไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสามารถกำหนดเป้าหมายได้เฉพาะด้านอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านอุปทานได้ กล่าวคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยช่วยลดความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการของผู้บริโภค และลดความต้องการจำนองหรือขอสินเชื่อ ซี่งการที่ผู้คนเลิกจำนองหรือขอสินเชื่อรถยนต์ใหม่ ถือเป็นการควบคุมพฤติกรรมผู้บริโภคในระบบเศรษฐกิจแบบหนึ่ง แต่ธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมปริมาณการสร้างอพาร์ตเมนต์ หรือเพิ่ม/ลดอัตราการผลิตรถยนต์ได้
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เตือนว่า นโยบายการจัดการและควบคุมภาวะเงินเฟ้อนี้ย่อมทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยอาจเริ่มปรากฏให้เห็นในตลาดแรงงานก่อน ซึ่งการคาดการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2565 แสดงให้เห็นว่า อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ในปีหน้า จากระดับปัจจุบันที่ 3.5% ซึ่งโดยปกติอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 0.5% หรือมากกว่านั้น ถือเป็นสัญญาณของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
ผลของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อผู้บริโภค นักลงทุน และธุรกิจ
อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบหลายประการต่อสภาวะตลาดและเศรษฐกิจ ซึ่งบางส่วนเป็นผลบวก และเป็นไปเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในระยะยาว แต่บางส่วนอาจมีความเสี่ยงที่ยากจะแบกรับ
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทำให้เกิดเงื่อนไขทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยจะเป็นช่วงที่ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้ (credit spreads) มักจะลดลง ราคาหุ้นและมูลค่าหุ้นตกลง และเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งเงื่อนไขทางการเงินดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ เนื่องจากสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ อาจอ่อนค่ากว่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังกระทบกับการออมเพื่อการเกษียณ และการลงทุนอื่น ๆ หากราคาหุ้นยังคงลดลง
ผู้บริโภคที่มีบัตรเครดิตอาจเห็นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น โดยล่าสุดอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 18.7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี
นอกจากนี้ ด้วยอัตราการจำนองบ้านที่แพงขึ้น ชาวอเมริกันบางกลุ่มอาจพบว่า การซื้อบ้านในฤดูหนาวนี้ทำได้ยากขึ้น แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มคลี่คลายลงบ้าง แต่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยสำหรับการกู้ยืมคงที่ 30 ปี (30-year fixed loan) ซึ่งเป็นชนิดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เคยลดลงไปถึงต่ำกว่า 4% ในช่วงปลายเดือนมีนาคม แต่เพิ่มกลับขึ้นมาเป็น 7% ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งหมายความว่าผู้ซื้อบ้านครั้งแรกที่อาจไม่มีเงินสำรองเพียงพอ อาจต้องถูกบีบให้ถอนตัวจากตลาดไปโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี เมื่อมองไปถึงปี 2566 ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้บริโภคจะสามารถใช้จ่ายได้ในระดับใด ท่ามกลางราคาข้าวของที่ยังคงสูงอยู่ และอาจเพิ่มขึ้นต่อไปในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วนำไปสู่ภาวะตลาดแรงงานที่กำลังเริ่มอ่อนตัวลงอย่างชัดเจน เนื่องจากเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ธุรกิจจำนวนมากขึ้นอาจเห็นอุปสงค์ลดลง หรือหมดหนทางที่จะชดเชยราคาที่สูงขึ้นของตนเอง ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากชะลอการจ้างงานหรือลดคนงาน โดยบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังอย่าง Meta, Intel และ Google ได้เริ่มระงับการจ้างงานชั่วคราวสำหรับบางตำแหน่งแล้ว
นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่า แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีความเสี่ยง แต่ก็มีความจำเป็น เพื่อลดภาระครัวเรือนของชาวอเมริกัน จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไปว่ามาตรการของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ระดับใดและรวดเร็วเพียงใด และฝ่ายต่าง ๆ จะมีมาตรการรองรับผลกระทบต่าง ๆ ที่ชาวอเมริกันต้องเผชิญในระยะกลางและระยะสั้นนี้อย่างไร
อ้างอิง
https://time.com/6227633/inflation-federal-reserve-interest-rates/
https://www.washingtonpost.com/business/interactive/2022/fed-rate-hikes-economy/