ทำความรู้จักกับธุรกิจ Startup (ตอนที่ 1)

ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งผู้ก่อตั้งจำนวนไม่น้อยไม่เพียงต้องการสร้างรายได้ แต่ต้องการพลิกโฉมอุตสาหกรรม และบางคนก็อาจถึงขั้นใฝ่ฝันจะทำธุรกิจที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงโลกโดยการสร้างสินค้าและบริการใหม่ ๆ หรือใช้นวัตกรรมในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสินค้าและบริการแบบเดิม ซึ่งบางอย่างได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี และบางครั้งก็ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างมหาศาลทีเดียว

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ Startup

Startup คือบริษัทอายุน้อยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร และสร้างความดึงดูดต่อลูกค้า โดยสตาร์ทอัพมีรากฐานมาจากนวัตกรรม (Innovation) ที่มักมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ หรือสร้างหมวดหมู่สินค้าและบริการใหม่ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจสตาร์ทอัพจำนวนมากยังเปลี่ยนวิธีคิดและการทำธุรกิจในแบบดั้งเดิมที่เคยทำกันมา นั่นเป็นสาเหตุที่บริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากเป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมของตนว่าเป็น “disruptors”

หลายคนอาจคุ้นเคยกับสตาร์ทอัพ ใน Big Tech มากที่สุด เช่น Facebook, Amazon, Apple, Netflix, Google หรือที่เรียกรวมกันว่าหุ้น FAANG และแม้แต่บริษัทคนอเมริกันคุ้นหูกันมาขึ้นอย่าง WeWork, Peloton และ Beyond Meat ก็ถือเป็นสตาร์ทอัพด้วยเช่นกัน

Startups ส่วนใหญ่ทำงานกันอย่างไร

โดยทั่วไปบริษัทสตาร์อัพจะทำงานคล้ายบริษัทอื่น ๆ แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือวิธีการดำเนินงาน

บริษัททั่วไปทำในสิ่งที่เคยทำหรือเคยเป็นมาก่อน เช่น เจ้าของร้านอาหารอาจทำแฟรนไชส์ (Franchise) ร้านอาหารที่มีอยู่แล้ว ซึ่งคือการทำงานตาม template ที่มีอยู่แล้วสำหรับธุรกิจนั้น ๆ

แต่บริษัทสตาร์ทอัพมีเป้าหมายเพื่อสร้าง template ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร บริษัทอย่าง Blue Apron หรือ Dinnerly ขายอาหารทางออนไลน์ในรูปแบบ meal kits ที่ประกอบด้วยวัตถุดิบและสูตรอาหาร ทำให้ลูกค้ามีโอกาสรับประทานอาหารแบบเดียวกับที่เชฟในร้านปรุง แต่มีความสะดวกสบายและมีทางเลือกมากกว่า ธุรกิจเช่นนี้เปิดโอกาสให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและมากกว่าร้านอาหารหลายเท่า แทนที่จะเป็นหลักพัน การทำธุรกิจ meal kits สามารถเข้าถึงลูกค้าถึงเป็นหลักแสนหรือล้านคน

เป้าหมายของ Startups

มีปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพแตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ นั่นคือ การเติบโตและความรวดเร็ว (growth and speed) บริษัทสตาร์ทอัพมีเป้าหมายที่จะต่อยอดความคิดอย่างรวดเร็ว โดยมักทำผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการวนซ้ำ ซึ่งคือการปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องผ่านคำติชมและข้อมูลการใช้งานของลูกค้า บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งเริ่มสร้างสินค้าจากโครงพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพน้อยที่สุด (Minimal Viable Produce หรือ MVP) เพื่อทดสอบและแก้ไขจนกว่าจะพร้อมออกสู่ตลาด

และในขณะที่กำลังปรับปรุงผลิตภัณฑ์อยู่นั้น ก็จะมองหาวิธีการขยายฐานลูกค้าอย่างรวดเร็วไปด้วย ซึ่งฐานลูกค้าขนาดใหญ่ย่อมช่วยสร้างส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็จะช่วยสร้างรายได้มากขึ้น สำหรับนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์และขยายกลุ่มลูกค้าต่อไปอีกในที่สุด

การเติบโตอย่างรวดเร็วและการใช้นวัตกรรมนี้เป็นไปเพื่อเป้าหมายสูงสุด นั่นคือ การเปิดตัวสู่สาธารณชน (going public) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนกลุ่มที่เรียกว่า early stage investors ในการนำเงินมาลงทุนและเก็บเกี่ยวผลตอบแทน ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ในสำนวนของธุรกิจสตาร์ทอัพเรียกกันว่า “exit”

การระดมเงินทุนสำหรับธุรกิจ Startup

โดยทั่วไปบริษัทสตาร์ทอัพจะระดมเงินผ่านการระดมทุนหลายรอบ ดังนี้

  • รอบ pre-liminary หรือที่เรียกกันว่า bootstrapping เมื่อผู้ก่อตั้ง และอาจรวมถึงเพื่อน และครอบครัวร่วมกันลงทุนในธุรกิจ
  • หลังจากนั้นจะมีการระดมทุนสำหรับ seed funding โดยนักลงทุนเรียกว่า “angel investors” หรือ early stage investors ซึ่งเป็นผู้มีรายได้สุทธิสูงที่มักจะลงทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น
  • ถัดจากนั้น เป็นรอบการระดมทุนแบบซีรีย์จาก A, B, C และ D ซึ่งนำโดยบริษัทร่วมลงทุน (venture capital) เป็นหลัก ที่จะลงทุนตั้งแต่หลายสิบจนถึงหลักหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • และท้ายที่สุดบริษัทสตาร์ทอัพอาจตัดสินใจเป็นบริษัทมหาชนและเปิดรับเงินจากภายนอกผ่านการเสนอขายหุ้น (IPO) การเข้าซื้อกิจการโดยบริษัทจัดซื้อเพื่อวัตถุประสงค์พิเศษ (SPAC) หรือการจดทะเบียนโดยตรงในตลาดหลักทรัพย์ที่ใคร ๆ ก็สามารถลงทุนในบริษัทมหาชนได้ ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพและผู้สนับสนุนกลุ่มแรก ๆ ก็สามารถขายหุ้นของตนเพื่อรับผลตอบแทนก้อนโตได้

เป็นที่น่าสังเกตว่าในสหรัฐฯ นั้น ระยะเริ่มต้นของการระดมทุนมักจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีสินทรัพย์มากเป็นพิเศษ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (The Securities Exchange Commission or SEC) เรียกว่า “accredited investors” เนื่องจากเชื่อว่ารายได้ที่สูงและมูลค่าสุทธิของนักลงทุนเหล่านี้ทำให้สามารถรับความเสี่ยงของการลงทุนได้ เพราะในขณะที่ทุกคนต้องการผลตอบแทนสูงอย่างการลงทุนของ Peter Thiel ในบริษัท Facebook ที่ได้ผลตอบแทนกว่า 200,000% แต่ตามรายงานที่เขียนโดยนักวิจัยของ UC Berkeley และ Stanford พบว่าสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ประมาณ 90% ไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหมายความว่า early stage investors มีโอกาสที่จะไม่ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเลย

ธุรกิจ startup จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร

การที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะประสบความสำเร็จ ผู้เกี่ยวข้องควรตอบคำถามสำคัญเหล่านี้ให้ได้

  • ทีมงานหรือลูกจ้างในบริษัทมีความกระตือรือร้นและเชื่อมั่นในไอเดียของตนและบริษัทหรือไม่? ในบางครั้งแม้แต่แนวคิดที่โดดเด่นก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จหรือดึงดูดลูกค้าผู้บริโภคได้หากทีมงานไม่พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุน
  • ผู้ก่อตั้งบริษัทมีความเชี่ยวชาญในขอบเขตของงานที่ทำอยู่หรือไม่?
  • ทีมงานเต็มใจที่จะให้เวลากับงานหรือไม่? ในระยะเริ่มต้นของการตั้งบริษัท พนักงานมักต้องทำงานหนักมาก จากการสำรวจในปี 2018 โดย MetLife และสภาหอการค้าสหรัฐฯ พบว่าเจ้าของสตาร์ทอัพทำงานกว่าวันละ 14 ชั่วโมง หากทีมงานไม่พร้อมที่จะอุทิศเวลา ก็อาจประสบความยากลำบากในการเติบโตของธุรกิจได้
  • ทำไมถึงต้องเป็นแนวความคิดนี้และทำไมต้องตอนนี้? ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพต้องคิดว่า สิ่งที่ตนเองกำลังทำเป็นแนวคิดใหม่หรือไม่ ถ้าใช่ เหตุใดจึงยังไม่เคยมีใครลองทำมาก่อน ถ้าไม่ใช่ อะไรจะทำให้บริษัทสามารถแก้ไข ปรับปรุง หรือตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
  • ตลาดใหญ่แค่ไหน? ขนาดของตลาดของสตาร์ทอัพจะเป็นตัวกำหนดขนาดของโอกาส บริษัทที่เน้นเทคโนโลยีเฉพาะกลุ่ม (niche technology) อาจเอาชนะคู่แข่งได้ แต่จะไปต่ออย่างไร ตลาดที่เล็กเกินไปอาจไม่สร้างรายได้มากพอที่จะอยู่รอดได้

หากบริษัทสตาร์ทอัพสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ทั้งหมด ก็อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของ 10% ของบริษัทที่จะอยู่รอดได้ในระยะเริ่มต้น

จะลงทุนกับ Startups ได้อย่างไร

น่าเสียดายที่การลงทุนกับสตาร์ทอัพไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ หรือเหมาะกับทุกคน

ผู้ที่จะเข้าถึงธุรกิจสตาร์ทอัดในระยะเริ่มต้นได้ต้องเป็นนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (accredited investor) กล่าวคือมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือมีมูลค่าสุทธิ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่รวมที่อยู่อาศัยหลัก ทั้งนี้ ผู้ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุนอย่างถูกต้องอาจขอสถานะนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง (accredited investor status) ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงรายได้หรือมูลค่าสุทธิ

หากไม่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังมีทางเลือกอื่น ๆ ในการระดมทุน เช่น WeFunder หรือ Seedinvest ที่ทุกคนสามารถลงเงินก้อนเล็กเพื่อแลกกับการเริ่มต้นลงทุนกับสตาร์ทอัพได้ โดย Seedinvest เสนอโอกาสการลงทุนขั้นต่ำที่เพียงประมาณ 500 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าเงินทุนที่ accredited investors ต้องใช้ในการลงทุนกับสตาร์ทอัพถึง 50 เท่า

อ้างอิง

https://www.forbes.com/advisor/business/what-is-a-startup/

564 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top