หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Hackathon มาบ้างแล้วตามสื่อต่าง ๆ ในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในชีวิตประจำวัน แต่ทว่า คำนี้จริงๆ แล้วหมายถึงอะไรกันแน่
Hackathon มาจากคำภาษาอังกฤษสองคำ คือคำว่า Hack ซึ่งเป็นการสื่อถึงทางลัดหรือวิธีแก้ปัญหา และคำว่า Marathon ซึ่งสื่อถึงความพยายามที่จะทำเรื่องยากหรือซับซ้อน ให้ประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น เมื่อนำสองคำนี้มารวมกัน จึงเกิดคำว่า Hackathon
Techsauce ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยีในโลกธุรกิจ ได้อธิบายความหมายของ Hackathon ว่าเป็น “กิจกรรมการระดมสมองของทีมนักแก้ปัญหาและนักพัฒนามากมาย ที่เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อค้นหาและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น”
ในช่วงแรกเริ่ม Hackathon เป็นกิจกรรมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการวมตัวกันของเหล่าโปรแกรมเมอร์ในแวดวง IT อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ Hackathon ถูกปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาที่กว้างขวางขึ้น เช่น ปัญหาทางเทคโนโลยี สังคม หรือแม้แต่การศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรธุรกิจมากมาย ยังมีการประยุกต์ใช้ Hackathon เพื่อพัฒนาธุรกิจและค้นหาไอเดียทางธุรกิจใหม่ๆ จากบุคลากรภายในองค์กรอีกด้วย
คุณ เจ แห่ง Chim Media, Inc. กล่าวไว้กับทางศูนย์ BIC ว่า ปัจจุบัน Hackathon เป็นกิจกรรมการแข่งขันอย่างหนึ่ง ซึ่งคอนเซ็ปต์นี้ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในวงการสตาร์ทอัพ โดยเมื่อมีการจัดแข่งขันขึ้นมา Hackathon ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีการนำเอาข้อมูลดี ๆ ไอเดียใหม่ ๆ และความรู้จากคนเก่ง ๆ และผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงผู้เข้าร่วมแข่งขัน มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งจุดนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ Chim Media Inc. ได้จุดประกายกิจกรรมการแข่งขัน Chimnovate Hackathon ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว
เข้าสู่การจัด Chimnovate Hackathon 2022
จาก passion ในเรื่องอาหาร และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของคุณเจ แห่ง Chim Media Inc. ที่ต้องการจะมองหาโอกาสใหม่ ๆ รวมไปถึงการฟื้นฟูและหาทางออก (solution) ในเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ Chimnovate Hackathon 2022 จึงเกิดขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจแข่งกันปั้นแบรนด์ธุรกิจอาหารไทยในสหรัฐฯ
Hackathon ในครั้งแรกนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง Chim Media Inc. และ Chula Global Innovation Club (CGIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทางทีมงานของ CGIC และ รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย หรือ อาจารย์หลิน เป็นผู้ที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำต่างๆ รวมถึงการ set up กิจกรรมในครั้งนี้
กระบวนการแข่งขันของ Chimnovate Hackathon 2022 เริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โดยมีโจทย์คือ Revitalizing Thailand’s Gastrodiplomacy through Building & Scaling Virtual Restaurants in the USA หรือ การสร้างแบรนด์ร้านอาหารไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยเทคโนโลยี พร้อมมุ่งส่งเสริมแบรนด์ของประเทศและซอฟต์พาวเวอร์ โดยใช้อาหารไทยเป็นธงนำ
การแข่งขันจัดแบบ virtual มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน โดยเป็นคนไทยในสหรัฐฯ 20% จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด ส่วนผู้แข่งขันจากประเทศไทยแบ่งเป็นนักศึกษา 50% และอีก 50% เป็นผู้ที่ทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น เจ้าของธุรกิจ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งในท้ายที่สุดได้มีการคัดเลือก 8 ทีมสุดท้าย ที่ได้พัฒนา 8 โปรเจกต์ มานำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ในช่วงการแข่งขัน จะมี Incubation Program เป็นระยะเวลาประมาณ 8 สัปดาห์ ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะได้เข้าร่วมคลาสต่าง ๆ 27 คลาส และมีวิทยากรถึง 24 คน มาร่วมสอนและบรรยาย ซึ่งหลายคนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในสาขาและสายอาชีพต่าง ๆ นอกจากวิทยากรแล้ว ยังมีเจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ จำนวนมากที่ได้เข้าร่วมอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้ช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมชั้นเยี่ยม
ในระหว่างการอบรม แต่ละทีมต้องพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารไทยออนไลน์ผ่าน feedback loop ซึ่งเป็นการผ่านคำติชมของบรรดาวิทยากรและเจ้าของธุรกิจร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมโครงการในทุกระยะ โดยสามารถจับคู่กับร้านที่พร้อมร่วมพัฒนาเมนูและ prototype ซึ่งร้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจะร่วมประเมินผลงานของผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกทีม คิดเป็น 20% ของคะแนนตัดสิน
หลังการอบรม 8 สัปดาห์ แต่ละทีมต้องนำส่งผลงานแก่คณะกรรมการ ก่อนนำเสนอ (pitching) ใน Demo Day ที่จะเป็นการพิจารณาตัดสินขั้นสุดท้าย
Chimnovate Hackathon 2022 ได้แข่งขันจบสิ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทีมต่าง ๆ ได้ส่งผลงานในช่วงเดือนธันวาคม 2565 และมีการประกาศผลตัดสินแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีผลงานที่ได้รางวัลจาก 3 ทีม ได้แก่
- โปรเจกต์ ZWEI จากทีม INNOZITY ที่นำเทคโนโลยี VR มาผนวกเข้ากับการอบรมพนักงานในธุรกิจอาหาร คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขัน Chimnovate Hackathon 2022 ไปครองพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท และโล่ประกาศเกียรติคุณ
- รองชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของโปรเจกต์ Chuck & Roll จากทีม Silver Spoon กับแผนธุรกิจแบบแฟรนไชส์ของอาหารจานไก่ ที่พร้อม scale อย่างรวดเร็วในสหรัฐฯ ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท และโล่ประกาศเกียรติคุณ
- รองชนะเลิศอันดับ 2 คือ โปรเจกต์ Season จากทีม Season ที่ได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับรวบรวม promotion ร้านอาหารผ่านการเล่าเรื่องด้วย comic และ animation ที่มาพร้อมกับ feature ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อย่างการวางแผนควบคุมแคลอรี่ หรือการคำนวณระดับการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการทำอาหารจานต่างๆ ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
ผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนที่เข้ารับการอบรมตามเกณฑ์ ยังได้รับประกาศนียบัตรจาก Chula Global Innovation Club และ Chim Media นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสในการร่วมงานกับบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมสนับสนุนการแข่งขัน รวมถึงมีโอกาสได้รับการลงทุนจาก angel investors หรือ venture capital และที่สำคัญ ทุกทีมมีสิทธิ์เป็นเจ้าของและต่อยอดผลงานใช้ทำธุรกิจจริงในสหรัฐฯ โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาการเข้าร่วมแข่งขัน
หลังจากการแข่งขันครั้งที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทาง Chim Media Inc. มีแผนจะจัดให้มีการแข่งขัน Chimnovate Hackathon อีกครั้งในปี 2023 นี้ จะจัดขึ้นเมื่อไหร่ มีคอนเซ็ปต์หรือโจทย์ว่าอะไร Please stay tuned!
อ้างอิง