เทรนด์การรีไซเคิลในฐานะส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาขยะเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยมาพักใหญ่แล้ว การรณรงค์เพื่อรีไซเคิลอยู่รอบ ๆ ตัวเรา ทั้งภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลขยะและวัสดุเหลือใช้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
การรีไซเคิลเป็นกระบวนการแปรรูปหรือปรับปรุงคุณภาพขยะและวัสดุเหลือใช้บางประเภท เพื่อให้ขยะเหล่านั้นกลับมามีคุณภาพและ/หรือมูลค่าเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับของเดิม โดยไม่ได้เพียงช่วยให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากขยะบางประเภทสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้
วันนี้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ จะพาไปรู้จักกับการเปลี่ยนเศษเหล็กและโลหะที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นรายได้
คุณสัมฤทธิ์ เดชเดชานุกุล ผู้ก่อตั้งและผู้บริหาร Wongpanit (WPN) Recycling Company และคุณกรองทิพย์ โสมาลา ภริยา ได้ให้สัมภาษณ์กับทางศูนย์ฯ เกี่ยวกับธุรกิจการคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553
ก่อนที่จะผันตัวมาทำธุรกิจคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิล คุณสัมฤทธิ์เคยเปิดร้าน Liquor Store หรือร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเมือง Baltimore รัฐ Maryland มาก่อน ซึ่งธุรกิจเป็นไปได้ด้วยดี แต่คุณสัมฤทธิ์พบปัญหาเกี่ยวกับการจัดการเรื่องกล่องกระดาษ ซึ่งมีเหลือเยอะมากจากกล่องบรรจุเหล้า เบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่าง ๆ
จุดเริ่มต้นของ Wongpanit (WPN) Recycling Company
เนื่องจากธุรกิจร้าน Liquor Store ของคุณสัมฤทธิ์เป็นไปได้ด้วยดี แต่กลับมีปัญหาการจัดการเรื่องกล่องกระดาษมากมาย ซึ่งต้องจ้างบริษัทอื่นมารับไปทิ้ง จึงเกิดคำถามว่า จะทำอย่างไรได้กับกล่องกระดาษเหล่านี้ และหากนำไปรีไซเคิล จะสามารถต่อยอดเป็นตัวเงิน หรือสร้างธุรกิจได้หรือไม่
คุณสัมฤทธิ์จึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับการรีไซเคิล และพบข้อมูลของบริษัทวงษ์พาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งโดย ดร. สมไทย วงษ์เจริญ ซึ่งเปิดอบรมด้านการจัดการขยะแบบครบวงจร และในปี 2553 คุณสัมฤทธิ์ตัดสินใจเริ่มธุรกิจรีไซเคิลกระดาษ โดยเริ่มจากบริษัทเล็ก ๆ เช่า warehouse ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 5,000 ตารางฟุต ในเมือง Baltimore ซึ่งช่วงเริ่มต้นธุรกิจ คุณสัมฤทธิ์ทำธุรกิจกันเองกับลูกชาย และมีลูกจ้างเพียง 2 คนเท่านั้น
จุดมุ่งหมายของธุรกิจรีไซเคิลกระดาษในช่วงแรกนั้น จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ใครจะมาขายกระดาษให้เรา และเราจะนำไปขายต่อให้ใคร คุณสัมฤทธิ์เริ่มต้นการเก็บกระดาษจากที่ต่าง ๆ โดยจัดรถขนส่งไปเก็บมาฟรี แต่การบริหารจัดการกระดาษที่ได้มานั้น ใช้เงินทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องใช้เครื่องจักร automatic recycling baler ในการคัดแยกและรีไซเคิลกระดาษ ซึ่งทำแล้วไม่คุ้มทุน
หลังจากที่รีไซเคิลกระดาษมาสักระยะ คุณสัมฤทธิ์จึงได้เปลี่ยนมารีไซเคิลขยะจำพวกโลหะ เศษเหล็ก (metal) ซึ่งมีต้นทุนไม่สูงมาก และในภายหลังพบว่า ตอบโจทย์ในการทำธุรกิจได้มากกว่า และทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การทำธุรกิจรีไซเคิล
หลังจากหันมาทำธุรกิจรีไซเคิล คุณสัมฤทธิ์ยังทำร้าน Liquor Store ต่ออีก 2-3 ปี และได้ปล่อยให้คนอื่นเช่าเพื่อทำกิจการต่อ และหันมาทำธุรกิจรีไซเคิลขยะโลหะอย่างเต็มตัว
นอกจากการอบรมของบริษัทวงษ์พาณิชย์ที่ประเทศไทยแล้ว คุณสัมฤทธิ์ยังเรียนรู้เพิ่มเติมต่อยอดด้วยตัวเอง และเข้าคลาสเรียนรู้เกี่ยวกับระบบ zoning และการจัดทำใบอนุญาตต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการประกอบธุรกิจรีไซเคิลในสหรัฐฯ จนเข้าใจถ่องแท้ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจประเภทนี้อย่างไร
ธุรกิจรีไซเคิลโลหะได้รับการตอบรับดีขึ้นเรื่อย ๆ มีลูกค้านำขยะโลหะ เศษเหล็กต่าง ๆ มาขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเน้นการคัดแยกเฉพาะขยะโลหะ เช่น ทองแดง ทองเหลือง อะลูมิเนียม และเหล็ก รวมทั้งรถยนต์เก่า (junk car) โดยรับมาจากชุมชน ธุรกิจ และโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อส่งต่อให้โรงงานรีไซเคิลทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ซึ่งลูกค้าของคุณสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง Baltimore และยังมีลูกค้าจากต่างรัฐด้วยเช่นกัน เช่น รัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน
ในช่วงแรกที่เริ่มทำรีไซเคิลขยะโลหะ คุณสัมฤทธิ์เปิดรับซื้อ 7 วันต่อสัปดาห์ แต่ในตอนนี้ เปิด 6 วันต่อสัปดาห์ หยุดวันพุธเพียงวันเดียว และคุณสัมฤทธิ์ยังกล่าวเสริมด้วยว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน
อุปสรรคในการทำธุรกิจ
อุปสรรคหลัก ๆ ที่คุณสัมฤทธิ์พบคือ การทำงานร่วมกับคนที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน ซึ่งบริษัทได้จ้างคนอเมริกันจากหลากหลาย background มาทำงาน ซึ่งจะต้องเรียนรู้และทำงานร่วมกันเป็นทีมให้ได้ และปัญหาสำคัญอีกอย่างที่เคยประสบคือ คู่แข่งทางธุรกิจที่รวมตัวกันต่อต้านไม่ให้คุณสัมฤทธิ์เปิดธุรกิจ ซี่งเคยมีกรณีที่คนเหล่านั้นรวมตัวกันล็อบบี้นักการเมืองท้องถิ่นและตำรวจ และทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้คุณสัมฤทธิ์เปิดบริษัทนี้ได้ เนื่องจากในเมือง Baltimore มีผู้ทำธุรกิจรีไซเคิลเพียงไม่กี่ราย จึงไม่ต้องการให้มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีก แต่คุณสัมฤทธิ์ไม่ย่อท้อและเดินหน้าทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้
แผนการในอนาคต
คุณสัมฤทธิ์อยากที่จะถ่ายทอดส่งต่อความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนี้ให้กับคนไทยที่สนใจ และมีแผนการที่จะจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับคนไทยในสหรัฐฯ ด้านการรีไซเคิลขยะแต่ละประเภท เช่น ขยะโลหะ พลาสติก แก้วและกระดาษ เป็นต้น รวมไปถึงอบรมเกี่ยวกับกฎระเบียบ ระบบและ software ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ เพื่อให้คนที่สนใจได้นำไปประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป
การฝึกอบรมครั้งแรกจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน โดยมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะสอนเกี่ยวกับการรีไซเคิลขยะทุกประเภท ตั้งแต่ขบวนการคัดแยก จัดเก็บ และส่งต่อ รวมไปถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการเปิดเป็นธุรกิจในสหรัฐฯ อีกด้วย
ขณะนี้คุณสัมฤทธิ์และทีมงานกำลังจัดเตรียมหลักสูตรการอบรม ซึ่งจะรวมถึงการดูงานที่โรงงาน WPN ใน Baltimore โดยได้รับความร่วมมือจาก ดร. สมไทย วงษ์เจริญ ที่จะบินมาจากประเทศไทยพร้อมวิทยากรท่านอื่น โดยจะเปิดรับผู้เข้าอบรมจำนวนไม่มาก สำหรับคนไทยที่สนใจทำธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจัง โดยวางแผนที่จะเปิด pre-register เร็ว ๆ นี้
นอกจากนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดประชุมหารือชุมชนธุรกิจไทยรายเดือน ซึ่งเร็ว ๆ นี้คุณสัมฤทธิ์ฯ จะเข้าร่วมบรรยายด้วย
ท่านผู้อ่านที่สนใจ สามารถติดตามการเปิดลงทะเบียนการอบรมโดยคุณสัมฤทธิ์ และการประชุมชุมชนธุรกิจไทย ในเว็บไซต์และเฟสบุ๊คของศูนย์ฯ และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ในอนาคตอันใกล้ Stay tuned!
อ้างอิง