เมื่อปลายปีที่แล้ว ศูนย์ฯ ได้พาท่านไปรู้จักกับแนวโน้มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมในสหรัฐฯ ซึ่งเทรนด์ลำดับต้น ๆ คืออาหารจากพืช (Plant-based food) ซึ่งได้รับความนิยมสูงขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ป่านมา และยังไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องจากผู้คนหันมารับประทานอาหารมังสวิรัติและอาหารวีแกน (vegan) ซึ่งใกล้เคียงกับอาหารเจกันมากขึ้น ทั้งจากเหตุผลด้านสุขภาพและความรับผิดชอบต่อสังคม
ร้านอาหารต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งสังเกตเห็นเทรนด์ plant-based food ก็ได้ปรับเมนูให้เหมาะสมกับความนิยมของผู้บริโภค โดยอาหารจากพืชได้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมร้านอาหารที่เติบโตเร็วที่สุด และแนวโน้มนี้คาดว่าจะดำเนินต่อไปในอนาคต
จากรายงานของ Allied Market Research คาดว่า ตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 74.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 11.9% ซึ่งการเติบโตนี้ได้รับแรงผลักดันจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารจากพืช
ความนิยม Plant-based food ในปัจจุบัน
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส มีรายงานว่า ในปี 2565 ตลาด plant-based food ของสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในจำนวนนี้ 10% หรือประมาณ 1.15 พันล้านดอลลาร์เป็นมูลค่าตลาดเนื้อสัตว์เทียมจากพืช (Plant-based meat) ซึ่งเคยคาดการณ์กันไว้ว่า ภายในปี 2572 ตลาด plant-based meat จะเติบโตสูงถึง 23.9%
นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดของ SPINS ที่เก็บข้อมูลในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม 2565 – กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับยอดค้าปลีกโดยรวมของสหรัฐฯ (U.S. retail sales) ยอดขาย plant-based meat เมื่อเทียบกันปีต่อปียังคงทรงตัวโดยอยู่ที่ประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยอดขายนี้สูงกว่ายอดขายในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 ประมาณ 40%
ทั้งนี้ ตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของการบริโภค Plant-based food ไม่ใช่เหตุผลเรื่องการต่อต้านการทารุณสัตว์เสมอไป หากแต่เป็นเรื่องของประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มีรายงานจาก The Vegan Review ว่า Millennials และ Gen-Z เป็นผู้บริโภคกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริโภคอาหารประเภทผัก เพราะเป็นกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น Millennials และ Gen-Z มักจะติดต่อสื่อสารรวมไปถึงการแชร์เรื่องราวการใช้ชีวิตประจำวันของตนเองถึงกันและกันอย่างรวดเร็วผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งส่งผลให้เทรนด์การบริโภค plant-based food ส่งผ่านถึงกันอย่างรวดเร็วด้วย
นมจากพืชได้รับความนิยมสูงสุด
นอกเหนือจากเนื้อสัตว์วีแกนแล้ว ผลิตภัณฑ์นมจากพืชก็กำลังมาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าเกือบ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 10% โดยนมมังสวิรัติทุกประเภท เช่น ถั่วเหลือง ข้าว อัลมอนด์ โอ๊ต และมะพร้าว (รวมกะทิ) มีส่วนช่วยในการเติบโตของตลาด นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์นมจากพืชประเภทอื่น ๆ เช่น เนย ชีสจากพืช (เช่น คอทเทจชีส) ครีมชีส และซาวครีม ล้วนมียอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักด้วยเช่นกัน นับเป็นสินค้าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกลุ่ม plant-based food
ความท้าทายของตลาดเนื้อสัตว์เทียมจากพืช (Plant-based meat)
แม้ในภาพรวมตลาด plant-based food ในสหรัฐฯ จะยังเติบโตและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2566 นี้ ปริมาณการขาย plant-based food ในกลุ่มเนื้อสัตว์เทียมหรือ plant-based meat ในสหรัฐฯ ลดลงจากปีที่แล้วเกือบ 20% และยอดขายของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เทียมแช่เย็น (Refrigerated plant-based meat) ในสหรัฐฯ ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2565 – พฤษภาคม 2566 มูลค่าลดลง 18% ทำให้บางคนกังวลว่า อุตสาหกรรมนี้กำลังเข้าสู่ขาลงหรือไม่ เนื่องจาก แม้ว่าราคาต่อปอนด์จะเพิ่มขึ้น 2.1% แต่จำนวนบริษัทที่เข้าสู่ตลาดเนื้อสัตว์เทียมจากพืชมีจำนวนมากกว่าและในสัดส่วนที่สูงกว่าจำนวนผู้บริโภคที่เข้าสู่วงจรการบริโภค plant-based meat ซึ่งทำให้เกิดสภาวะ “สินค้าล้นตลาด” โดย Plant Based Foods Association (PBFA) คาดว่าสาเหตุนี้อาจเกิดจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคทุกส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์เทียมจากพืช เนื้อสัตว์จากสัตว์ และอาหารทั้งหมด
สัญญาณบวกจาก Plant-based industry
อย่างไรก็ดี แม้ตลาด plant-based meat จะชะลอตัวลงในปีนี้ แต่เชื่อกันว่าโอกาสยังคงมีอยู่อีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงต้องการอาหารทางเลือกของเนื้อสัตว์ มีรายงานว่า 3% ของคนอเมริกันระบุตนเองว่าเป็น “vegan” และ 5% ระบุว่าเป็น “vegetarian” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของของผู้บริโภคกลุ่มนี้ในสหรัฐฯ โดยคาดว่า ปัจจุบัน 70% ของประชากรสหรัฐฯ มีการบริโภคอาหารประเภท plant-based food
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมามีตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ plant-based food เปิดเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตามข้อมูลใหม่ที่รวบรวมตั้งแต่เมษายนถึงกรกฎาคม 2566 จากฐานข้อมูล Job Analytics ของ GlobalData พบว่ามีตำแหน่งงานใน plant-based industry ในสหรัฐฯ เปิดเพิ่มขึ้นถึง 32% หรือ 596 ตำแหน่งในช่วงเวลาที่สำรวจ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเป็นไปได้ที่ตลาด plant-based food จะยังเติบโตในอนาคต เนื่องจากธุรกิจต่าง ๆ ยังมองเห็นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นหรือเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด
สำหรับบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ก็เริ่มขยายความร่วมมือออกไปเรื่อย ๆ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Nestlé ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทอาหารระดับโลกได้ร่วมมือกับ More Foods แบรนด์เนื้อวีแกนของอิสราเอล และ Morinaga Milk Industry ของญี่ปุ่นเข้าซื้อกิจการ Tofurky ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้พืชในสหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นสัญญาณในทางบวกของอุตสาหกรรมอาหารจากพืช
Plant-based food ยังไปได้ไกลในอเมริกา
ในระยะแรกอาหารทางเลือกจากพืชมีเป้าหมายไปที่กลุ่มลูกค้าวีแกนและกลุ่มมังสวิรัติเท่านั้น แต่ปัจจุบัน Plant-based food ได้กลายเป็นตัวเลือกปกติสำหรับทุกกลุ่มผู้บริโภคที่เลือกทานอาหารโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับ (values-oriented consumers) เป็นหลัก และนำอาหารทางเลือกจากพืชรวมเข้าไว้ในชีวิตประจำวัน
สถิติข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักถึงคุณประโยชน์ของอาหารจากพืชที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขับเคลื่อนทั้งความต้องการของผู้บริโภคและความสนใจของภาคธุรกิจในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เน้นพืชเป็นสำคัญ และดูเหมือนว่า plant-based sector จะมีการเติบโตมากยิ่งขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าสู่ตลาด plant-based ต่อไป
อ้างอิง
https://www.ditp.go.th/post/143314