ทำความรู้จักแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ (ตอนที่ 3)

“สตาร์ทอัพ” เป็นเทรนด์ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ เนื่องจากสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม ความแปลกใหม่ ความท้าทาย และการเติบโตที่ก้าวกระโดด และในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศในโลกให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสตาร์ทอัพให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อส่งเสริมการเติบโตไปจนถึงขั้นของการ “exit” และขยายตลาดออกไปให้กว้างขึ้น

ก่อนหน้านี้ ศูนย์ฯ ได้เคยแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักกับธุรกิจสตาร์ทอัพในภาพรวม และสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ มาแล้ว ในครั้งนี้เป็นตอนที่ 3 ที่ศูนย์ฯ จะพาท่านไปทำความรู้จักกับประเภทของแหล่งเงินทุนสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเริ่มต้นและขยายตัวของธุรกิจ

ประเภทของเงินทุนและการระดมเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพ

ประเภทของเงินทุนสตาร์ทอัพมีหลายแบบสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ ดังนั้น การทำความเข้าใจในแต่ละประเภทของเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจได้ว่า มีแหล่งเงินทุนแบบใดอยู่บ้าง และสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทอย่างไร

1.) การระดมทุนด้วยตนเอง (Self-Funding)

ร้อยละ 39 ของผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพใช้เงินทุนของตนเองหรือระดมทุนสำหรับการตั้งธุรกิจด้วยตนเอง ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจัดหาเงินทุนที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจโดยอิสระ ที่อาจทำให้ต้องประหยัดเงินส่วนตัว หรือใช้งบประมาณที่จำกัด หรือใช้เวลายาวนานในการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งกลยุทธ์การระดมทุนด้วยตนเองมี ดังนี้

  • Bootstrapping เป็นการใช้เงินทุนของตัวเอง เป็นวิธีที่เหมาะสมในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่ยังไม่มีผลงานหรือผลลัพธ์ที่จะโชว์กับนักลงทุน นอกจากนี้ Bootstrapping อาจไม่ใช่แค่การใช้เงินทุนส่วนบุคคลในการเริ่มต้นธุรกิจเท่านั้น ธุรกิจที่เริ่มต้นด้วยเงินทุนแบบ Bootstrapping และทำรายได้ในช่วงการเริ่มต้นธุรกิจ สามารถใช้เงินรายได้นั้นดำเนินธุรกิจต่อไปแทนที่จะแสวงหาเงินทุนจากภายนอกหรือนักลงทุน อย่างไรก็ดี เชื่อกันว่า Bootstrapping มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีคือช่วยให้ผู้ก่อตั้งธุรกิจสามารถควบคุมเงินทุนในธุรกิจของตนได้ แทนที่จะต้องจ่ายคืนให้แก่นักลงทุน หรือจ่ายดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ส่วนข้อเสียของ Bootstrapping คือหากสตาร์ทอัพล้มเหลว ก็มีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียเงินออมหรือเงินของครอบครัวและเพื่อนฝูงไป
  • บัตรเครดิต (Credit Cards) เป็นทุนอีกประเภทหนึ่งที่ผู้ประกอบการใช้สำหรับการใช้จ่ายที่จำเป็นในการขยายธุรกิจสตาร์ทอัพ และเป็นเสมือนเงินสดสำรองในกรณีเกิดเหตุจำเป็น โดยร้อยละ 17 ของธุรกิจสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ใช้บัตรเครดิตเป็นแหล่งเงินทุน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการใช้บัตรเครดิตคือ การต้องจับตาดูอัตราดอกเบี้ย และการชำระเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายธรรมเนียมและผลกระทบต่อคะแนนเครดิต (credit score)

  • การแลกเปลี่ยน (Barter) เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาทดแทนการจัดซื้อของเป็นจำนวนมาก และช่วยประหยัดเงินทุนในการดำเนินงานและขยายเครือข่าย เช่น การซื้อเฟอร์นิเจอร์ โทรศัพท์ หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยสตาร์ทอัพที่ใช้วิธีนี้ สามารถเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นประโยชน์เป็นการตอบแทน
  • การมอบความไว้วางใจจากลูกค้า (Customer Commitment) สตาร์ทอัพบางรายเริ่มต้นธุรกิจด้วยความไว้วางใจจากลูกค้ารายแรก ๆ ที่เชื่อมั่นในศักยภาพและคุณค่าของธุรกิจ จนในบางสถานการณ์สามารถใช้เงินที่ลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการเป็นเงินทุนเริ่มต้นได้

2.) การระดมทุนแบบ Crowdfunding

Crowdfunding เป็นวิธีระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเป็นที่นิยมและเหมาะสำหรับสตาร์ทอัพที่เริ่มมีชื่อเสียง มีผลงานที่สามารถแสดงได้ชัดเจน โดยเจ้าของธุรกิจจะต้องแสดงรายละเอียดของบริษัท เป้าหมายทางธุรกิจ แผนการสร้างกำไร และจำนวนเงินทุนที่ต้องการ พร้อมทั้งเหตุผลจูงใจ ส่วนผู้สนใจลงทุน สามารถให้เงินทุนทั้งในรูปแบบของการจ่ายเงินเพื่อสินค้าหรือบริการล่วงหน้า หรืออาจให้เปล่าในรูปของการบริจาค ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกคนที่สนใจและเชื่อมั่นในศักยภาพสตาร์ทอัพนั้น ๆ สามารถร่วมสนับสนุนเงินทุนได้

โลโก้ของ U.S. Small Business Administration หรือ SBA (Photo credit: www.sba.gov)

3.) เงินกู้ (Loans)

ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพสามารถใช้เงินกู้เพื่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุง หรือเปิดธุรกิจใหม่ได้ โดยต้องมีคุณสมบัติในการขอสินเชื่อ ซึ่งแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับผู้ให้กู้ จำนวนเงิน และประเภทของเงินกู้ที่ผู้ประกอบการต้องการ รูปแบบเงินกู้ที่นิยมในสหรัฐฯ มีดังนี้

  • สินเชื่อชนาดเล็กหรือรายย่อย (SBA Microloan) องค์กร U.S. Small Business Administration (SBA) ของสหรัฐฯ มีโปรแกรมต่าง ๆ มากมาย เช่น สินเชื่อรายย่อย เพื่อให้บริษัทต่าง ๆ มีเงินทุนหมุนเวียนสูงถึง 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ
  • ผู้ให้กู้รายย่อย (Microlenders) องค์กรเหล่านี้ให้กู้ยืมเงินจำนวนไม่มากนัก โดยมักจะอยู่ระหว่าง 5,000-50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตัวเลือกนี้เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่อาจไม่มีคุณสมบัติเพียงพอได้รับสินเชื่อธุรกิจตามแบบมาตรฐาน และเงินทุนประเภทนี้สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างคะแนนเครดิต เพื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นได้มากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ โดยที่เงินกู้กลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก ผู้ให้กู้รายย่อยเหล่านี้จึงตอบสนองต่อแผนธุรกิจที่อาจดูเสี่ยงเกินมากกว่าผู้ให้กู้รายอื่น ๆ และเงินกู้ลักษณะนี้มักมีเงื่อนไขและการชำระคืนที่ยืดหยุ่นมากกว่า
  • เงินกู้ยืมจากครอบครัวและเพื่อนหรือคนรู้จัก (Family and Friends) มักเป็นเงินช่วยเหลือสตาร์ทอัพในระยะก่อนเริ่มโครงการหรือระยะการระดมทุนเริ่มต้น จากการวิจัยของ Guidant ในปี 2021 พบว่า ร้อยละ 10 ของสตาร์ทอัพได้รับเงินกู้จากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง โดยผู้ประกอบการควรมีแผนงานที่ชัดเจน รวมถึงทำความเข้าใจความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และหารือเรื่องการกำหนดเงื่อนไขเงินกู้ยืม และการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน
  • สินเชื่อธุรกิจส่วนบุคคล (Personal Business Loans) ประกอบการที่มีคะแนนเครดิตและการเงินส่วนบุคคลที่แข็งแกร่งสามารถขอสินเชื่อธุรกิจส่วนบุคคลได้ โดยสินเชื่อประเภทนี้อาจมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและใช้เวลาอนุมัติเร็วกว่า แต่ในขณะเดียวกันก็ควรหาข้อมูลก่อนจะทำการกู้ยืม เนื่องจากผู้ให้กู้บางรายมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ

4.) เงินช่วยเหลือ (Grants)

เงินช่วยเหลือ คือ เงินสนับสนุนธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐ (Government) องค์กร (Corporate) หรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit entity) ซึ่งเงินทุนประเภทนี้ถือเป็นเหมือนของขวัญ จึงไม่ต้องชำระคืน

ทั้งนี้ การขอรับเงินทุนสนับสนุนช่วยเหลือจากองค์กรใดก็ตาม ผู้ประกอบการต้องแน่ใจว่า คุณสมบัติ เป้าหมาย และค่านิยมของธุรกิจตนสอดคล้องกับเป้าหมายหรืองานขององค์กรนั้น ๆ เช่น องค์กรภาครัฐของสหรัฐฯ บางแห่งมีเงินทุนสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กสำหรับสตาร์ทอัพ (Small business grants for startups) เช่น กระทรวงเกษตร กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ผู้ประกอบการที่จะสมัครขอรับเงินช่วยเหลือต้องตรวจสอบคุณสมบัติว่า มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และแนวทางขององค์กรเหล่านั้นหรือไม่ โดยจุดเริ่มต้นที่รวมข้อมูลอันเป็นประโยชน์ไว้จำนวนมาก คือ grants.gov

5) การระดมทุนจากบริษัทเอกชน (Private Equity Firms)

บริษัทสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มเติบโตสูงมักดึงดูดผู้ร่วมลงทุน ซึ่งการจัดหาเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพในรูปแบบนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าแบบอื่น ๆ หากบริษัทล้มเหลวนักลงทุนอาจไม่ได้ผลตอบแทนจากเงินที่ลงทุนไป แต่เช่นเดียวกับการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอื่น ๆ หากบริษัทประสบความสำเร็จ ผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้ลงทุนเหล่านี้มักจะนั่งเป็นกรรมการบอร์ดของสตาร์ทอัพหรือทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา เพื่อมีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ซึ่งโดยหลัก ๆ แล้วมีเป้าหมาย 3 แนวทาง ได้แก่

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ (Go public) ให้บุคคลภายนอกร่วมถือหุ้นได้ จากเดิมที่มีแค่การถือหุ้นนอกตลาด (private equity)

การถูกซื้อกิจการเข้าร่วมกับบริษัทอื่น (Get acquired)

การได้รับคืนเงินลงทุนพร้อมดอกเบี้ย (Pay back investment with interest)

นักลงทุนแบบ private equity firms มีประเภทหลัก ๆ ดังนี้

  • Angel Investors เป็นนักลงทุนซึ่งมักลงทุนกับสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น โดยมักจะใช้เงินทุนของตนเอง เพื่อแลกเปลี่ยนกับการถือหุ้นหรือกรรมสิทธิ์บางส่วนของบริษัท และบางครั้งอาจร่วมให้คำปรึกษาหรือเป็น mentor ให้กับบริษัทสตาร์ทอัพด้วย โดยการลงทุนในระยะเริ่มต้นนี้มีความสำคัญมากที่จะช่วยผลักดันศักยภาพและบทบาทที่โดดเด่น ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Google และ Yahoo มาแล้วในอดีต
  • Venture Capital (VC) เป็นผู้บริหารเงินทุนและลงทุนอย่างมืออาชีพที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูง มีความโดดเด่น มีหลายขนาดและความพร้อมในการลงทุน แต่มักใช้เวลาการพิจารณาและประเมินความพร้อมค่อนข้างนาน โดยนักลงทุนกลุ่มนี้มักออกจากการลงทุนเมื่อสตาร์ทอัพรายนั้นเติบโตจนเข้าตลาดหลักทรัพย์หรือถูกซื้อจากนักลงทุนรายอื่น และนอกจากให้เงินทุน VC ยังมักจะช่วยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและช่วยประเมินผลทั้งในแง่ของ sustainability and scalability อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของการระดมทุนลักษณะนี้อาจหมายความว่า เจ้าของกิจการจะต้องสูญเสียอำนาจการบริหารจัดการธุรกิจบางส่วนในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากต้องมีการปรึกษาหารือและตกลงร่วมกันกับผู้ลงทุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในบริษัท การจัดการพนักงาน หรือการใช้จ่ายต่าง ๆ

  • นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนลักษณะอื่น ๆ เป็นทางเลือกอีก เช่น Private Investors และ Silent Partners เป็นต้น ซึ่งล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยความพร้อมและวัตถุประสงค์ของบริษัท

ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพเกิดขึ้นจำนวนมากในสหรัฐฯ และแหล่งเงินทุนก็เพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน โดยสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพเพียบพร้อมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยถูกจัดเป็นลำดับที่ 2 ของโลกใน Global Innovation Index ปี 2022 รองจากสวิสเซอร์แลนด์ และในแต่ละรัฐก็มีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ แหล่งเงินทุนเหล่านี้มีทั้งที่พร้อมสนับสนุนบริษัทในสหรัฐฯ และบริษัทจากต่างประเทศให้มีโอกาสเติบโตในระดับโลก ซึ่งนับเป็นอีกโอกาสหนึ่งของเจ้าของธุรกิจและแม้กระทั่งนักลงทุนไทยในการขยายตลาดเข้าสู่สหรัฐฯ ที่มีฐานลูกค้าใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และมีศักยภาพด้านนวัตกรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ในครั้งหน้า ศูนย์ฯ จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับส่วนอื่น ๆ ที่ล้วนมีส่วนในการสนับสนุนระบบนิเวศสตาร์ทอัพสหรัฐฯ ให้มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะองค์กรที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ฝึกอบรม และบ่มเพาะธุรกิจ Stay tuned!

อ้างอิง

https://blog.hubspot.com/sales/how-startup-funding-works#:~:text=in%20your%20browser.-,Startup%20Funding%20Rounds,broken%20up%20into%20funding%20rounds.

https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/business-maker/startup.html

https://www.live-platforms.com/education/article/5464

601 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top