เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงปลายปี นอกจากอากาศที่เริ่มเย็นลง และใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสีสวยงาม การเฉลิมฉลองเทศกาลวันหยุดสำคัญต่าง ๆ ยังเป็นที่ตั้งตารอของชาวอเมริกัน เช่น วันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving) และวันคริสต์มาส โดยสิ่งที่มาคู่กับการเฉลิมฉลองเทศกาลสำคัญก็คือการจับจ่ายซื้อสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการหาซื้อเสื้อผ้าตามฤดูกาล ของตกแต่งบ้านให้เข้ากับเทศกาล ของขวัญสำหรับตนเอง หรือสำหรับเพื่อนและครอบครัว
ชาวอเมริกันจำนวนมากมีพฤติกรรมการซื้อสินค้าล่วงหน้าก่อนเวลาที่จำเป็นต้องใช้จริง เช่น การจับจ่ายของสำหรับการเปิดเทอมใหม่ (Back to school) ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมก่อนที่โรงเรียนจะเปิดเรียนในช่วงเดือนกันยายน และแม้ว่าฤดูใบไม้ร่วงในสหรัฐฯ จะเพิ่งเริ่มต้นอย่างเป็นทางการไม่นานมานี้ แต่ผู้บริโภคชาวอเมริกันและผู้ค้าปลีกต่างก็เริ่มคิดถึงเทศกาลวันหยุดที่สำคัญในฤดูหนาวกันแล้ว โดยร้านค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Amazon, Target และ Walmart วางจำหน่ายสินค้าของเทศกาลวันขอบคุณพระเจ้าและเทศกาลคริสต์มาสตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเริ่มกิจกรรมการจับจ่ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีในช่วงนี้
ผู้บริโภคเริ่มการจับจ่ายล่วงหน้าเพื่อกระจายงบประมาณออกไป (Spreading out budgets)
ในปี ๒๕๖๕ เกือบครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวอเมริกัน หรือประมาณ ๔๖% เริ่มจับจ่ายสำหรับเทศกาลวันหยุดตั้งแต่ก่อนเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก ๓๙% ในปี ๒๕๖๒ และในปีนี้ก็ดูเหมือนว่าแนวโน้มของการจับจ่ายล่วงหน้าจะเป็นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยผลสำรวจของ National Retail Federation (NRF) เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๖ ระบุว่า ๓๙% ของนักซื้อชาวอเมริกันวางแผนที่จะเริ่มจับจ่ายเร็วกว่าปกติในช่วงเทศกาลวันหยุดที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ดี การจับจ่ายล่วงหน้าไม่ได้หมายความว่า ผู้บริโภคจะซื้อของที่ต้องการให้จบครบในทีเดียว สาเหตุส่วนใหญ่ของการจับจ่ายซื้อของล่วงหน้าเป็นเวลานาน คือการที่ผู้บริโภคต้องการกระจายงบประมาณสำหรับช่วงเทศกาลวันหยุด ไม่ให้กระจุกตัวช่วงใดช่วงหนึ่ง ทำให้กระแสการจับจ่ายสำหรับเทศกาลดำเนินไปตลอดจนถึงช่วงเทศกาล โดยเมื่อปี ๒๕๖๕ ผู้บริโภคเริ่มซื้อของล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคม ไปจนถึงเดือนธันวาคม ซึ่งจำนวนมากซื้อของไปได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้ แม้การเลือกซื้อของขวัญที่มีความหมายต่อผู้รับเป็นสิ่งสำคัญ แต่ราคาสินค้าคือเงื่อนไขสำคัญสูงสุดของการตัดสินใจซื้อ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันจำนวนมากเร่งซื้อสินค้าในช่วงเวลาที่มีการกระหน่ำลดราคาเพื่อเก็บไว้ใช้ในภายหลังอีกด้วย
แผนการซื้อของในช่วงเทศกาลวันหยุดฤดูหนาวของผู้บริโภคชาวอเมริกัน
ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคชาวอเมริกันมีแนวโน้มสูงที่จะทำการศึกษาหาข้อมูลก่อนทำการตัดสินใจซื้อสินค้า โดยแหล่งข้อมูลที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือข้อมูลทางออนไลน์ และให้ความสำคัญกับสินค้าลดราคาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเทศกาลลดราคาสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดตลอดกาลคือ Black Friday หรือวันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้า และ Cyber Monday ซึ่งเป็นวันจันทร์แรกหลังวันขอบคุณพระเจ้า และได้กลายเป็นกระแสใหม่ในสหรัฐฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากการซื้อของออนไลน์ได้รับความนิยมสูงสุด
ในปี ๒๕๖๖ นี้ Black Friday หรือวันที่ร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ลดราคาสินค้าเป็นพิเศษทั้งหน้าร้านและออนไลน์จะตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน และ Cyber Monday จะตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ทำให้ผู้ที่พลาด Black Friday deals สามารถซื้อของลดราคาต่อได้อีก โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมาเริ่มมีกระแสการลดราคาสินค้าครั้งใหญ่เพิ่มขึ้นมากกว่าแค่ช่วงปลายปี เช่น Spring Black Friday ของหลาย ๆ ร้าน เช่น Home Depot หรือ Big Deals Day ของ Amazon ที่มีเพิ่มเติมจาก Prime Day ตามปกติ ทำให้มีกระแสการใช้จ่ายตลอดทั้งปี แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้ Black Friday และ Cyber Monday ได้รับความนิยมลดลง
ปีนี้ชาวอเมริกันที่เฉลิมฉลองเทศกาลวันหยุดในช่วงฤดูหนาวคาดว่า จะใช้จ่ายโดยเฉลี่ย ๘๗๕ ดอลลาร์ จากจำนวนนี้ ๖๒๐ ดอลลาร์ถูกใช้ไปเพื่อซื้อของขวัญ และอีก ๒๕๕ ดอลลาร์สำหรับสินค้าตามฤดูกาล เช่น ของตกแต่ง ลูกกวาด หรืออาหาร จากการสำรวจผู้บริโภคล่าสุดของ National Retail Federation (NRF) จำนวนเงินดังกล่าวสูงกว่าที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ วางแผนจะใช้จ่ายในปี ๒๕๖๕ ถึง ๔๒ ดอลลาร์ แต่ในช่วง ๕-๖ ปีที่ผ่านมาไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยส่วนมากเฉลี่ยอยู่ที่ ๘๕๐ ดอลลาร์ขึ้นไป
เงื่อนไขที่กระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดพฤติกรรมการซื้อหาสินค้าล่วงหน้าก่อนความจำเป็นต้องใช้จริงนั้น คาดว่าส่วนหนึ่งมาจากสภาวะเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต และตัวแปรอื่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในสหรัฐฯ เอง และในประเทศแหล่งอุปทาน ที่ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจ ระบบห่วงโซ่อุปทาน และการมีอยู่ของอุปทานสินค้าในเวลาที่ต้องการ เงื่อนไขเหล่านี้มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบเป็นการเติบโตของราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า ซึ่งการเร่งซื้อสินค้าล่วงหน้านั้นก็เป็นทางหนึ่งในการสร้างความมั่นใจและป้องกันการที่อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นสำหรับสินค้าที่จำเป็นต้องใช้
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะเวลาการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ
จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส ระยะเวลาการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ปกติมีอยู่ ๔ ช่วงเวลา คือ
- ระยะเวลาที่การนำเข้าอยู่ในระดับต่ำ (Slow Season) คือ ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม
- ระยะเวลานำเข้าสินค้าผักผลไม้สด (Produce Shipping Season) คือ ช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม
- ระยะเวลาสูงสุดของการนำเข้า (Peak Season) เริ่มจากช่วงกลางเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าสินค้าสำหรับขายในช่วง Back to school จนถึงจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ค้าปลีกจะจัดหาสินค้าเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าสำหรับเทศกาลต่าง ๆ มาวางจำหน่าย
- ระยะเวลานำเข้าสินค้าสำหรับช่วงเทศกาล (Holiday Shipping Season) ดำเนินต่อเนื่องไปในเดือนพฤศจิกายน – มกราคม
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดวิกฤต COVID-19 เป็นต้นมา ช่วงสูงสุดของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ได้ขยับเลื่อนขึ้นมาเป็นช่วงเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ดี หากพฤติกรรมการซื้อสินค้าล่วงหน้าของผู้บริโภคชาวอเมริกันยังคงดำเนินต่อไป ก็มีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่คำสั่งซื้อ การจองตู้สินค้าและพื้นที่บนเรือขนส่งสินค้า ที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยเป็นมา (อ่านรายละเอียดชนิดสินค้าที่มีการลดราคามากเป็นพิเศษในแต่ละเดือนได้ที่เว็บไซต์สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส
อ้างอิง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส https://www.ditp.go.th/post/149342
https://nrf.com/blog/2023-holiday-shopping-outlook
https://nrf.com/media-center/press-releases/consumers-spend-nearly-900-celebrate-winter-holidays