สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพพร้อมมากที่สุดของโลก โดยองค์กร WIPO ได้จัดอันดับให้สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 3 ของ Global Innovation Index (GII) 2023 รองจากสวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดน และ Startup Genome จัดให้ Silicon Valley มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพพร้อมเป็นอันดับ 1 ของโลก และนครนิวยอร์ก นครลอสแอนเจลิส เมืองบอสตัน และเมืองซีแอตเติล ตามมาเป็นอันดับที่ 2, 4, 6 และ 10 ตามลำดับ
รัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นชื่อเรื่องการให้ความช่วยเหลือหรือการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพที่ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง และพร้อมที่จะ scale up หรือ exit โดยการสนับสนุนในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การให้คำปรึกษาทางธุรกิจไปจนถึงความช่วยเหลือทางการเงิน การเชื่อมโยงกับบริษัทหรือบุคคลที่เป็นแหล่งเงินทุนที่จะสามารถซื้อและร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพต่อไปได้ ซึ่งทั้งหมดมีเป้าหมายในการช่วยให้ผู้ประกอบการเอาชนะความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการพัฒนาและการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนนวัตกรรมและการเติบโตของสตาร์ทอัพ ตลอดจนส่งเสริมการสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในตอนที่แล้ว ศูนย์ฯ ได้พาท่านทำความรู้จักแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ในตอนที่ 4 นี้ ศูนย์ฯ จะพาท่านทำความเข้าใจการส่งเสริมสตาร์ทอัพของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะ ทั้งประเภทของการสนับสนุน และหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญ
การสนับสนุนสตาร์ทอัพของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พบบ่อยที่สุด
- เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า (Startup Grants)
หลายหน่วยงานรัฐบาลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสหรัฐฯ มีโครงการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพแบบให้เปล่า โดยจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจที่อยู่ในระยะเริ่มต้น (early-stage startups) ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวิจัยตลาด การวางแผนธุรกิจ และการตลาด จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้สตาร์ทอัพเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ (prototypes) และตรวจสอบความเหมาะสมของโมเดลธุรกิจของตนได้
นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ มีงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อช่วยส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และผลักดันให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมี
บางหน่วยงานให้เงินทุนผ่านการจัดประกวดแข่งขัน โดยเน้นการเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่สามารถพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหา (solutions) ที่ตอบโจทย์ความท้าทายหรือการสร้างความก้าวหน้าเฉพาะด้านในบางเรื่องได้ ซึ่งผู้ชนะมักมีโอกาสในการระดุมทุนเพิ่มเติม และเป็นการขยายโอกาสในการสร้างหุ้นส่วนหรือการขยายการลงทุนต่อไปในอนาคต
- เงินกู้ (Government-backed loan)
เงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพของรัฐบาลสหรัฐฯ มีทั้งแบบให้ตรง เช่น SBA loan สำหรับผู้ประกอบการที่กำลังฟื้นตัวจากภัยพิบัติ หรือแบบที่รัฐบาลให้การรับรอง (guarantee) ผ่านสถาบันการเงิน
- แรงจูงใจทางภาษีและเครดิตภาษี
รัฐบาลสหรัฐฯ มีมาตรการสร้างแรงจูงใจด้านภาษีและเครดิตภาษีแก่สตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมการลงทุน ลดภาระภาษี และช่วยเพิ่มเงินทุนสำหรับการเติบโตของธุรกิจ โดยมีตัวอย่าง เช่น เครดิตภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายด้าน R&D เพื่อสร้างสมดุลกับ corporate tax อื่น ๆ ที่ต้องจ่าย การลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ มาตรการ
การพักภาษี (Tax Holiday) หรือการลดอัตราภาษีสำหรับธุรกิจบางประเภท เป็นต้น
- โครงการ Incubators และ Accelerators
หลายหน่วยงานของสหรัฐฯ มีโครงการบ่มเพาะ (Incubator program) และ/หรือโครงการเร่งรัด (Accelerator program) เพื่อช่วยส่งเสริมระบบนิเวศสตาร์ทอัพ โดยผู้ประกอบการที่ได้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุน
ทางการเงิน พื้นที่ทำงาน การฝึกอบรมและให้คำแนะนำ (coaching/mentoring) และการเชื่อมโยงกับนักลงทุน ลูกค้า และหุ้นส่วนในอนาคต ขึ้นอยู่กับระดับและความพร้อมของธุรกิจ โดย Incubator มักจะเน้นไปที่การพัฒนานวัตกรรม โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น และ Accelerator เน้นไปที่อัตราการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งมองไปถึงการ scale up หรือ exit
- ความช่วยเหลือด้านการส่งออก
รัฐบาลสหรัฐฯ มีโครงการช่วยเหลือด้านการส่งออกสำหรับสตาร์ทอัพที่เน้นตลาดต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจ ซึ่งมักครอบคลุมเงินทุนสำหรับการวิจัยตลาด การเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่าย กิจกรรมการตลาดระหว่างประเทศ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าหรือนิทรรศการต่าง ๆ รวมทั้งการรับมือกับความยุ่งยากของขั้นตอนการนำเข้าและส่งออก เช่น Export and trade assistance program ของ Small Business Administration (SBA)
หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ด้านการส่งเสริมสตาร์ทอัพที่ควรรู้จัก
Small Business Administration (SBA)
SBA มีบทบาทในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพ รวมทั้งเป็นจุดเริ่มต้นและแหล่งข้อมูลที่ดีเยี่ยมเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก
และสตาร์ทอัพ โดยมี Incubator program ที่เรียกว่า America’s Seed Fund ซึ่งมีโครงการย่อยอยู่ภายใต้หลายโครงการ เช่น Small Business Innovation Research (SBIR) และ Small Business Technology Transfer (STTR) ที่ให้เงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพในการทำ R&D ด้านที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ เป็นต้น
นอกจากนี้ SBA มีหน่วยงานย่อยกระจายอยู่ในรัฐต่าง ๆ เพื่อร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการผ่าน Small Business Development Centers (SBDC) เพื่อให้คำปรึกษา การฝึกอบรม และชี้ช่องทางทางการเงิน และโครงการอื่น ๆ เช่น SBAs State Trade Expansion Program (STEP) เพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ทำเกี่ยวกับการส่งออก และโครงการของแต่ละรัฐ เช่น Michigan Economic Development Corporation ที่ให้สินเชื่อ เงินช่วยเหลือ และมาตรการภาษี ในรัฐมิชิแกน เป็นต้น
Economic Development Administration (EDA)
EDA เป็นองค์กรภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งดูแลโครงการ Build to Scale (B2S) ที่จัดการแข่งขัน 2 เวทีใหญ่ประจำปี ได้แก่ Venture Challenge และ Capital Challenge โดยเน้นการให้เงินทุนแก่องค์กรที่สนับสนุน
สตาร์ทอัพในท้องที่ต่าง ๆ เกณฑ์การรับสมัครค่อนข้างกว้าง และครอบคลุมถึงบริษัทเอกชนที่แสวงหาผลกำไร ศูนย์วิจัย สถานศึกษา และ NGOs โดยในปี 2565 มีการให้เงินทุนเป็นรางวัลกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Minority Business Development Agency (MBDA)
MBDA เป็นหน่วยงานพัฒนาธุรกิจภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และเป็นแหล่งข้อมูลที่ยอดเยี่ยมสำหรับธุรกิจที่มีเจ้าของกิจการหรือผู้ถือหุ้นเป็นชนกลุ่มน้อยในสหรัฐฯ MBDA ให้คำปรึกษา ความช่วยเหลือทางเทคนิค เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการเข้าถึงเงินทุนต่าง ๆ รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่ให้ grant และ loan ด้วยเช่นกัน
Office of Energy Efficiency and Renewable Energy (EERE)
EERE เป็นสำนักงานภายใต้กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจขนาดเล็กด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และให้เงินทุนสนับสนุน R&D ด้านดังกล่าว รวมทั้งมี Incubator/Accelerator Programs ในสาขาต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ประโยชน์อย่างมากจากโอกาสในการเข้าถึงห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ระดับชาติที่พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ
National Renewable Energy Laboratory (NREL)
NREL ภายใต้กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ เป็นอีกแหล่งข้อมูลสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพด้านพลังงานหมุนเวียน โดยมี Innovation and Entrepreneurship Center ที่ช่วยเชื่อมโยงธุรกิจด้านพลังงานสะอาดกับแหล่งเงินทุน และเปิดโอกาสในการเข้าถึงความเชี่ยวชาญและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ใน clean energy ecosystem เช่น โครงการ Entrepreneur-in-Residence ซึ่งจับคู่ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์กับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่ NREL เพื่อผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์
Securities and Exchange Commission (SEC)
SEC ทำหน้าที่ควบคุมอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ และมีบริการให้คำแนะนำแก่สตาร์ทอัพและนักลงทุนเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ผ่าน Investor Education และ Small Business Capital Raising Hub
Federal Trade Commission (FTC)
FTC เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการรับมือหรือหลีกเลี่ยงการโฆษณา การตลาด และวิธีการทำธุรกิจที่หลอกลวงไม่เป็นธรรม
เว็บไซต์ grants.gov เป็นฐานข้อมูลรวมเกี่ยวกับการให้ grant ของรัฐบาลสหรัฐฯ ไว้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงกองทุนของหน่วยงานภาครัฐที่ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและสตาร์ทอัพด้วย เช่น กองทุนของกระทรวงพาณิชย์ และ US Agency for International Development (USAID) เป็นต้น
- ทำความรู้จักกับธุรกิจ Startup (ตอนที่ 1)
https://www.thaibicusa.com/2023/01/05/startup-business/
- ทำความรู้จัก Startup ในสหรัฐฯ (ตอนที่ 2)
https://www.thaibicusa.com/2023/05/05/startup-in-usa/
- ทำความรู้จักแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ (ตอนที่ 3)
https://www.thaibicusa.com/2023/09/27/startup-funding/
อ้างอิง
https://fastercapital.com/content/How-government-policies-support-startups.html
https://foundershield.com/blog/grant-resources-for-tech-startups/
https://www.linkedin.com/pulse/government-grants-tax-incentives-your-startup-gracenadvocates/
https://sharpsheets.io/blog/top-us-public-startups-grants/