ปี 2566 เป็นปีที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มต้นแบบไม่สู้ดีนัก มีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ซึ่งเกิดจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง แต่สุดท้ายกลับเป็นปีที่เศรษฐกิจฟื้นตัว เข้าสู่สภาวะทรงตัวหรือ soft landing
Justin Wolfers ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน ตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดปี 2566 สหรัฐฯ ต้องผ่านความท้าทายต่าง ๆ ทั้งความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันที่ผันผวน ความขัดแย้งทางการเมืองภายใน และปัญหาอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เพียงแค่ฟื้นตัวจากภาวะถดถอยเท่านั้น แต่กลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และในปี 2567 ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางบวกและเติบโตไปข้างหน้าได้มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว โดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติ หรือ The National Association for Business Economics (NABE) คาดการณ์ว่า GDP ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดมูลค่าสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในปี 2567 และเป็นไปในทิศทางบวกมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อสองเดือนที่แล้ว
เหตุผลที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 จะเป็นไปในทิศทางบวก
1.) อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ นักวิเคราะห์และนักลงทุนใน Wall Street คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงอีก หลังจากเคยแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 โดย NABE คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า อัตราการชะลอตัวของเงินเฟ้อในปี 2567 นี้จะรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน โดยมาตรวัดเงินเฟ้ออย่างดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 จากปีก่อน แต่ก็ถือว่าลดลงมาอย่างมากจากร้อยละ 9.1 ในเดือนมิถุนายน 2565
Mark Zandi หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อจะกลับมาใกล้เป้าหมาย ร้อยละ 2 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2567
สำหรับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงกว่า 5 ดอลลาร์ต่อแกลลอนในปี 2565 ก็ปรับตัวลดลงอย่างมากในปี 2566 GasBuddy ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่มีผู้อยู่คนหนาแน่น ราคาของปั๊มน้ำมันต่างๆ และร้านสะดวกซื้อในสหรัฐฯ และแคนาดา ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือและเว็บไซต์ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยต่อปีจะลดลงอีกครั้งในปี 2567 นี้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงของผู้บริโภคลงถึง 32 พันล้านดอลลาร์จากปี 2566
2.) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศชัยชนะเหนือเงินเฟ้อ สภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวลงจน Fed ตัดสินใจระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทำให้นักลงทุนวิตกกังวลในช่วงที่ผ่านมา พร้อมส่งสัญญาณเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เสมือนเป็นการประกาศชัยชนะในสงครามเงินเฟ้อครั้งนี้
โดยทาง Zandi คาดการณ์ว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2567 ซึ่งน่าจะเริ่มในเดือนพฤษภาคม ส่วน Goldman Sachs คาดการณ์ว่า Fed จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2567
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยคลายแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ลดค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย การปล่อยสินเชื่อรถยนต์ และการชำระหนี้บัตรเครดิต โดยในเดือนตุลาคม 2566 อัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ลดลงจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 6.6 ในช่วงสิ้นปี
3.) ปี 2567 จะเป็นปีทองของหุ้น อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ความหวาดกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มลดน้อยลง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จะกระตุ้นให้นักลงทุนกลับเข้ามาลงทุนในตลาด Wall Street อย่างคึกคักอีกครั้ง
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดท้ายปี 2566 ด้วยการปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างถล่มทลาย โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นติดต่อกัน 9 สัปดาห์ก่อนสิ้นปี ซึ่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 และดัชนี Nasdaq พุ่งขึ้นร้อยละ 43 เกือบสูงที่สุดในรอบ 20 ปี
แม้ว่าตลาดหุ้นไม่ได้สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจทั้งหมด และบางครั้ง สิ่งที่ดีสำหรับ Wall Street ก็อาจจะไม่ได้ดีสำหรับธุรกิจอื่น ๆ หรือผู้บริโภค (Main Street) เสมอไป แต่ในกรณีนี้ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสะท้อนมุมมองที่ดี (optimism) ต่อเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจแบบ soft landing ที่เป็นผลมาจากนโยบายควบคุมเงินเฟ้อของ Fed ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับทั้ง Wall Street และ Main Street
4.) อัตราการเลิกจ้างงานต่ำ แม้จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 แต่อัตราการว่างงานมีเพียงร้อยละ 3.7 ซึ่งถือว่าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี และมีสถิติการขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกน้อยเป็นประวัติการณ์เพียง 218,000 ราย อันเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่านายจ้างจำนวนมากไม่เต็มใจที่จะเลิกจ้างพนักงาน โดยหากแนวโน้มการเลิกจ้างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
5.) เงินเดือนสูงกว่าค่าครองชีพ ในช่วงการฟื้นตัวจากโควิด-19 ราคาสินค้า บริการ และค่าครองชีพเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ ซึ่งหมายถึงรายได้ของประชากรหดตัวลง เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้อำนาจซื้อและเศรษฐกิจหดตัวลง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไป โดยรายได้เริ่มตามทันอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งทั้ง Zandi และ Wolfers ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า การเติบโตของค่าจ้าง (real wage growth) จะยังคงรักษา momentum ต่อไปในปี 2567 โดยหากอัตรา เงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ รายได้จะตามทันและอาจแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะช่วยทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจดีขึ้นด้วย
เตรียมพร้อมรับความไม่แน่นอน
อย่างไรก็ดี หลายสิ่งที่คาดการณ์ไว้อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดหรือผิดพลาดได้ โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตัวแปรที่ไม่คาดคิด เช่น การระบาดใหญ่ของโควิด-19 หรือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ได้สั่นคลอนเสถียรภาพและกระทบต่อการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งไม่คาดฝันอื่น ๆ อาจเกิดขึ้นได้อีกในปี 2567 เช่นกัน และในขณะเดียวกันก็มีนักวิเคราะห์ที่เห็นต่างเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจในปีนี้
Andrew Hollenhorst หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของบริษัท Citi มองว่า ตัวเลขการว่างงานที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มากขึ้น และการเติบโตของ GDP ที่แข็งแกร่งมีอะไรมากกว่าที่เห็น เช่น แม้ว่าสถานการณ์ในเดือนมกราคมจะมีตัวเลขตำแหน่งงานในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่ง แต่หากมองให้ลึกลงไป จะพบว่าจำนวนชั่วโมงทำงานลดลง จำนวนพนักงานเต็มเวลา (full-time workers) ลดลง และภาคส่วนต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมร้านอาหารมีการหยุดชะงักในการจ้างงาน และ Hollenhorst คาดว่า อัตราการว่างงานจะเริ่มเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางรายเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อยังสูงเกินไป และอัตราการผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งของความอ่อนแอของเศรษฐกิจ
แน่นอนว่าตัวแปรสำคัญในปี 2567 นี้ คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี ซึ่งมีประเด็นเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งทั้งสำหรับผู้ลงสมัครและผู้มีสิทธิออกเสียง โดยนักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า การแข่งขันในครั้งนี้จะสูสีเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนและความวุ่นวายในสังคมได้ ดังนั้น ต่อให้เศรษฐกิจในปีนี้มีแนวโน้มในทางบวกมากมาย แต่นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายยังคงต้องใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบให้มากในการลงทุน รวมถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารและพร้อมรับมือกับความเสี่ยงอยู่เสมอ เพื่อลดผลกระทบทางลบจากเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น
อ้างอิง
https://finance.yahoo.com/news/economists-see-brighter-outlook-2024-050108855.html