การสนับสนุนสตาร์ทอัพของภาคเอกชนในสหรัฐฯ (ตอนที่ 5)

ในปี 2566 มีธุรกิจเปิดตัวใหม่ในสหรัฐฯ เกือบ 5.5 ล้านธุรกิจ นับเป็นปีที่มีสตาร์ทอัพเปิดตัวใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่า การสนับสนุนสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพเสมอมา ตามที่ศูนย์ฯ เคยนำเสนอในบทความการส่งเสริมสตาร์ทอัพของรัฐบาลสหรัฐฯ (ตอนที่ 4)

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนซึ่งถือว่าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนสตาร์ทอัพเช่นกัน ทั้งการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม การให้คำแนะนำและคำปรึกษา พัฒนาแผนธุรกิจ ค้นหาตลาดที่เหมาะสม และช่วยเรื่องการหาเงินทุนและทรัพยากร โดยรูปแบบที่พบส่วนมากคือ startup incubator และ accelerator ที่อาจเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ หรือเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ หรือสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

ทำความรู้จัก Startup Incubators และ Accelerators

Startup Incubators คือ “ศูนย์บ่มเพาะ” ที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนาสตาร์ทอัพในทุกระยะให้เติบโต ด้วยการสร้างระบบนิเวศที่ครบวงจร ซึ่งรวมถึงการจัดพื้นที่สำหรับการทำงาน/การทดลอง เช่น ห้องแลบหรือ workshop ห้องประชุม และพื้นที่ส่วนกลาง เช่น co-working space ที่ช่วยสร้างบรรยากาศแบบ community รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์และทรัพยากรต่าง ๆ และการให้คำปรึกษาที่หลากหลายทั้งแบบ mentoring, coaching และ advisory service ทั้งในด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แผนการเงิน การระดมทุน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น และอาจมีการจัดฝึกอบรมหรือ workshop ต่าง ๆ เป็นระยะ โดยไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับ pace ของแต่ละบริษัท แต่มักอยู่ในระยะ 1-5 ปี จนกว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จ หรือ “graduate”

Startup incubator ในสหรัฐฯ มีทั้งที่จัดตั้งโดยภาคเอกชน สถานศึกษา หรือหน่วยงานภาครัฐ การคิดค่าบริการจึงหลากหลายและอาจไม่ได้เรียกร้องสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทเป็นค่าตอบแทน และบางแห่งอาจเน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดหาทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เหมาะสมกับสตาร์ทอัพที่เป็นสมาชิกได้ ทั้งนี้ การสร้างระบบนิเวศที่มีผู้ประกอบการอยู่ร่วมกันเป็น business community ที่หลากหลายใน incubator มักทำให้เกิดการแบ่งปันไอเดีย และมีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการอาจจะจับมือกันทำธุรกิจ (collaboration)

ตัวอย่าง Startup Incubators ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ

Photo Credit: Capital Factory (www.austintexas.org/listings/capital-factory/6793/)

  • TechNexus ตั้งอยู่ที่นครชิคาโก ให้บริการลูกค้าในรัฐอิลลินอยส์เป็นหลัก เป็นองค์กรร่วมลงทุนที่เรียกว่า “Venture Collaborative” ที่เน้นเชื่อมโยงบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะกลุ่ม early-stage เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจและแนวทางสร้างรายได้แบบใหม่ ๆ ที่บริษัทเรียกว่า “Rething Growth” โดยใช้แนวทางแบบ relationship-driven เพื่อค้นหา (scouting) ลงทุน (investing) บ่มเพาะ (incubating) และสร้างความร่วมมือ (collaborating) ระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพเหล่านั้น
  • Capital Factory ตั้งอยู่ที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐที่มีระบบนิเวศสตาร์ทอัพดีที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ โดยเปิดให้ผู้ประกอบการหลายพันรายมารวมตัวกันใช้พื้นที่ในการทำงาน และสร้างเครือข่ายกับนักลงทุน ลูกค้า และที่ปรึกษา ซึ่งบริษัทมีเครือข่ายอยู่กว่า 150 แห่ง โดยมุ่งเน้นที่การช่วยเหลือสตาร์ทอัพในการระดมทุนและขยายการเติบโตของฐานลูกค้า และคิดค่าบริการเป็นการถือหุ้นร้อยละ 1 และสิทธิในการลงทุนครั้งใหญ่ครั้งต่อไปของบริษัท
  • Harvard Innovation Labs (i-lab) เป็น innovation hub ที่ให้การสนับสนุนนักศึกษาและศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย Harvard โดยเน้นด้าน life sciences

ทั้งนี้ นอกจาก Harvard แล้ว ยังมีมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ ที่มี incubator และ/หรือ accelerator program เป็นของตนเอง เช่น Georgetown Entrepreneurship ภายใต้มหาวิทยาลัย Georgetown, Austin Technology Incubator ภายใต้ UT Austin หรือ Venture Lab ภายใต้ UPenn นอกจากนี้ บางมหาวิทยาลัยมีโปรแกรม incubator ระยะสั้น ที่คล้ายคลึงกับ accelerator program แต่ไม่เรียกรับส่วนแบ่งหุ้นเป็นค่าตอบแทน เช่น AI Entrepreneurs at Berkeley ภายใต้ UC Berkley และ Marshall/Greif Incubator ภายใต้ USC เป็นต้น

  • โปรแกรม incubator ของบริษัทชั้นนำ หลายบริษัทชื่อดังจัดทำ incubator program เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ เช่น FreshDirect บริษัทค้าปลีกออนไลน์ ที่สนับสนุนการทำธุรกิจ e-commerce และการขยายฐานลูกค้า และ Tom’s of Maine ผู้ผลิตสินค้าประเภท personal care ที่สนับสนุนสตาร์ทอัพกลุ่มการเกษตรยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

Startup Accelerators เป็นโปรแกรมระยะสั้นในช่วง 3-6 เดือน มีโครงสร้างและกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยออกแบบ (tailored) มาเพื่อธุรกิจแต่ละประเภทหรือสำหรับสตาร์ทอัพนั้น ๆ เน้นการ accelerate หรือ “เร่ง” การเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะในขั้น early-stage พุ่งเป้าไปที่การเติบโตอย่างรวดเร็วหรือแม้กระทั่งการร่วมลงทุน (venture) และการควบรวมกิจการ (acquisition) โดย accelerator มักคิดค่าบริการเป็นสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท และเน้นการให้คำปรึกษาในเชิงลึกอย่างเข้มข้นในด้านการระดมทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบุกตลาด

ในขณะที่ incubator เน้นการสร้างระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย accelerator program จะมีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมที่มีการแข่งขันสูงและจำนวนไม่มากนัก เน้นการสร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกัน (cohort basis) และเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่มีประสบการณ์มากพอที่จะเป็น mentor ได้ หรือเครือข่ายศิษย์เก่าผู้เคยเข้าร่วมโครงการ และเครือข่ายนักลงทุน ทั้ง angel investors และ venture capitalists และโปรแกรมมักจบลงด้วยการ pitch ของผู้เข้าร่วมโครงการใน demo day

ตัวอย่าง Startup Accelerators ที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ

Photo Credit: www.techstars.com/newsroom/techstars-has-a-new-look

  • Techstars เพิ่งย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังนิวยอร์ก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา Techstars เป็นองค์กรเครือข่าย accelerator ที่ครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรม และมีทั้งโปรแกรม accelerator และกองทุนร่วมลงทุน (venture capital funds) ในหลายเมืองทั่วโลก โดยโปรแกรมมีระยะ 3 เดือน และให้ความสำคัญกับ mentorship และการเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ โดยคิดค่าตอบแทนเป็นหุ้นของบริษัทร้อยละ 6-9 ที่ผ่านมาได้ลงทุนในบริษัทมากกว่า 3,800 แห่ง และสนับสนุนสตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง ClassPass
  • Y Combinator (YC) มีสำนักงานใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก ชึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำ accelerator ระดับโลก มีโปรแกรมระยะ 3 เดือนที่มีความเข้มข้นและแข่งขันสูง โดยสามารถระดมเงินทุนได้ถึง 500,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับแต่ละบริษัทเพื่อค่าตอบแทนเป็นหุ้นร้อยละ 7 ที่ผ่านมา YC ได้ลงทุนในบริษัทมากกว่า 4,500 แห่ง รวมถึงบริษัทที่มีชื่อเสียงอย่าง Airbnb, Dropbox, Reddit, Instacart และDoorDash เป็นต้น
  • 500 Startups เป็นทั้ง accelerator และ venture capital ระดับโลก ที่ช่วยเหลือและลงทุนในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เน้นการสนับสนุนบริษัทระยะ seed stage ด้วยโปรแกรมระยะ 16 สัปดาห์ ที่ผ่านมาได้สนับสนุนบริษัทชื่อดังอย่าง Canva และ Credit Karma และโดยที่ 500 Startups มีเครือข่ายการดำเนินงานในหลายประเทศ จึงทำให้เป็น accelerator ที่มีเครือข่ายการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญ เงินทุน และตลาดที่กว้างขวางและหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  • AngelPad เป็น accelerator สำหรับ tech startup ที่อยู่ในระยะ seed stage มีสำนักงานทั้งในรัฐแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก AngelPad มีโปรแกรมระยะ 3 เดือนที่เข้มข้น โดยทุก ๆ 6 เดือนจะคัดเลือกสตาร์ทอัพ 15 ทีม จากผู้สมัครประมาณ 2,000 ทีม ที่ผ่านมาได้สนับสนุนการเปิดตัวสตาร์ทอัพแล้ว 150 แห่ง ปัจจุบันได้รับการโหวตให้เป็น accelerator อันดับ 1 ในสหรัฐฯ จากการวิจัยของ MIT และมหาวิทยาลัย Brown
  • Founder Institute (FI) ก่อตั้งขึ้นที่รัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายโปรแกรมไปครอบคลุมกว่า 200 เมืองทั่วโลก และช่วยเปิดตัวสตาร์ทอัพแล้วมากกว่า 7,000 บริษัท รวมทั้งได้สร้างระบบนิเวศสำหรับ accelerator โดยการจัดตั้ง Founder Lab, Accelerator Lab, VC Lab และ FI Venture Network ครอบคลุมการส่งเสริมศักยภาพทั้งผู้ประกอบการและนักลงทุน
  • โปรแกรม accelerator ของบริษัทชั้นนำ นอกจากโปรแกรม incubator หลายบริษัทชื่อดังมีโปรแกรม accelerator เช่น Sephora, Bank of America, Warner Bros. Discovery, Apple และ Amazon Web Services

บางองค์กรสนับสนุนแบบครบวงจร

Photo Credit: https://startup.google.com/

บริษัทขนาดใหญ่และมหาวิทยาลัยหลายแห่งในปัจจุบันสนับสนุนสตาร์ทอัพทั้งในรูปแบบ incubator และ accelerator หรือนำเสนอข้อมูลและผลิตภัณฑ์ครอบคลุมครบวงจร เช่น Google ซึ่งมี Google for Startups ที่มีตั้งแต่โปรแกรม accelerator และ startup school/academies ที่ให้ความรู้ และมีเงินทุนสนับสนุนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการสตรี ผู้ประกอบการผิวสี และผู้ประกอบการชาวละติน เป็นต้น รวมทั้งโปรแกรม AI ต่าง ๆ ของ Google ที่จะช่วยการทำงานของสตาร์ทอัพ

การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ จากภาคเอกชนยังมีอีกมาก ทั้งบริษัทเอกชนที่จัดทำโปรแกรมด้วยตนเอง หรืออยู่เบื้องหลังโครงการขององค์กร/สถาบันการศึกษา สภาหอการค้าท้องถิ่นซึ่งรวบรวมฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับทั้งผู้ประกอบการ ลูกค้า และนักลงทุน และในบางพื้นที่มีชื่อเสียงเป็นศูนย์รวมของธุรกิจเฉพาะด้าน ก็จะมีองค์กรที่สนับสนุนสตาร์ทอัพในด้านนั้น ๆ อย่างชัดเจน เช่น Houston Medical Center ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส ที่เป็นศูนย์การแพทย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ MassChallenge ในนครบอสตัน ซึ่งเป็นศูนย์รวมของธุรกิจด้านสุขภาพ
ซึ่งการเข้าถึงโครงการสนับสนุนเหล่านี้เป็นประตูที่จะเปิดไปสู่โอกาสอีกมาก เช่น การสร้างเครือข่ายกับนักลงทุน การเชื่อมต่อกับผู้ที่มีโอกาสเป็นลูกค้า หุ้นส่วน หรือ supplier และโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่รวมถึงการวางขายสินค้ากับบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ ไปจนถึงการหาความเชี่ยวชาญเพิ่มเติมและการขยายตลาดไปต่างประเทศ

ย้อนอ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับสตาร์ทอัพ :

ทำความรู้จักกับธุรกิจ Startup (ตอนที่ 1)

ทำความรู้จัก Startup ในสหรัฐฯ (ตอนที่ 2)

ทำความรู้จักแหล่งเงินทุนของสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ (ตอนที่ 3)

การส่งเสริมสตาร์ทอัพของรัฐบาลสหรัฐฯ (ตอนที่ 4)

อ้างอิง

https://www.forbes.com/lists/americas-best-startup-employers/?sh=4e0564f42ad7

https://online.hbs.edu/blog/post/startup-incubator-vs-accelerator

https://capbase.com/startup-incubators-vs-accelerators-what-are-the-differences/

https://cadabra.studio/business-incubator-vs-startup-accelerator-whats-the-difference-in-2024/

https://www.svb.com/startup-insights/startup-growth/how-do-startup-accelerators-work/

https://www.inc.com/sarah-lynch-/10company-incubator-andaccelerator-programs-you-need-to-know-about.html

687 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top