สถานการณ์การค้าปลีกและค้าส่งในสหรัฐฯ ปี 2567

แม้ว่าปี 2566 จะมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และหนี้ผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในช่วงปลายปี เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มขยายตัวและเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวอเมริกันกลับมาดีขึ้น โดยสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจ (The Bureau of Economic Analysis หรือ BEA) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ในไตรมาสที่สี่ของปี 2566 เพิ่มขึ้นในอัตรา 3.3% ซึ่งถือว่าเกินความคาดหมาย

การขยายตัวของเศรษฐกิจนี้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นถึง 2.7 ล้านตำแหน่ง ที่ส่งผลต่อกำลังซื้อจากผู้บริโภค ประกอบกับสถานการณ์การส่งออก และการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น โดยการใช้จ่ายทั้งสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าปลีกและค้าส่งภายในสหรัฐฯ ซึ่งในครั้งนี้ศูนย์ฯ ขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจสถานการณ์ในปัจจุบัน

สถานการณ์การค้าปลีกในสหรัฐฯ

การใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันปัจจุบันให้ความสำคัญกับสินค้าเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (health and wellness) เครื่องแต่งกาย และของใช้อื่น ๆ โดยเฉพาะทางออนไลน์ ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เพียงเดือนเดียว การใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 และการใช้จ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2566 เพิ่มขึ้น 3.9% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565

การใช้จ่ายในช่วงวันหยุดปลายปีที่ผ่านมา ช่วยเพิ่มยอดรวมช่วงสิ้นปี 2566 เป็นเงินมากกว่า 8.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2565 การเพิ่มขึ้นของยอดค้าปลีกแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มการค้าปลีกไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่เคยเป็นมา แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์บางคนเคยคาดการณ์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2566 ว่า ช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีการใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะเบาบางลง เนื่องจากผู้บริโภคมีงบประมาณจำกัด ต้องใช้จ่ายอย่างรัดกุม และบางรายมีหนี้สิน

ส่วนในช่วงต้นปี 2567 นี้ ยอดค้าปลีกในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.6% และเดือนเมษายนที่ผ่านมาทรงตัวไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ราคาน้ำมันเบนซินที่สูงขึ้นได้ดึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวอเมริกันออกจากสินค้าอื่น ๆ ซึ่งเป็นเหตุบ่งชี้ถึงการใช้จ่ายที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่จำเป็นและลดความฟุ่มเฟือยลงท่ามกลางราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ยอดขายสินค้าปลีกยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ช่วยให้ครัวเรือนในสหรัฐฯ สามารถพอรับมือกับสภาวะเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ มีรายงานจาก Bank of America Institute ว่า การเติบโตของการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำยังคงสูงกว่าครัวเรือนที่มีรายได้สูงในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

การคาดการณ์การเติบโตของยอดขายปลีกในสหรัฐฯ ปี 2567

Photo credit: www.nrf.com (NRF Forecasts Retail Sales to Reach at Least $5.23 Trillion in 2024)

The National Retail Federation (NRF) คาดการณ์ว่า ยอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้นในปี 2567 ระหว่าง 2.5% ถึง 3.5% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5.23 ถึง 5.28 ล้านล้านดอลลาร์ ถือว่ากลับมาใกล้เคียงกับการเติบโตของยอดขายในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3.6% (ตามภาพ)

สถานการณ์การค้าส่งในสหรัฐฯ

ยอดขายส่งของสหรัฐฯ ในปี 2566 อยู่ในเชิงบวก โดยในเดือนธันวาคม 2566 มียอดขายอยู่ที่ 670.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเปรียบเทียบกับยอดขายในช่วงเดียวกันของปี 2565

ในช่วงต้นปี 2567 รายได้จากการขายส่ง (U.S. wholesale revenue) ของผู้ค้าส่ง (merchant wholesalers) โดยไม่รวมยอดขายจากผู้ผลิต (manufacturers) ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 673.7 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 2.3% จากเดือนก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือนเดียวกันปีที่แล้ว แต่ยอดขายในเดือนมีนาคม ลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 662.8 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 1.3% จากเดือนก่อนหน้า แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4% จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ยอดขายส่งของสหรัฐฯ ปี 2566-2567

Photo credit: www.practicalecommerce.com/charts-u-s-wholesale-trends

ในขณะเดียวกันราคาขายส่ง (wholesale prices) ในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณแสดงให้เห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงสูงอยู่ โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (producer price index) ซึ่งใช้เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาก่อนที่จะมาถึงผู้บริโภคนั้น เพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา หลังจากที่เคยลดลง 0.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ และเมื่อวัดปีต่อปีแล้ว ราคาผู้ผลิต (producer prices) ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้น 2.2% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.8% จากเดือนมีนาคม ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี

อย่างไรก็ดี ราคาขายส่งบางส่วนได้ลดลงในลักษณะที่บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคอาจลดลงเล็กน้อยในเดือนพฤษภาคม 2567 นี้ เช่น ค่าโดยสารเครื่องบินที่ลดลง 3.8% ราคาอาหารลดลง 0.7% ต้นทุนผักลดลง 18.7% และในช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2567 ราคาค่าโรงพยาบาล (hospital prices) ก็ลดลงเช่นกัน

ส่วน Wholesale inventories หรือสินค้าคงคลังภาคการค้าส่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเปลี่ยนแปลง GDP ภายในประเทศ (กล่าวคือ การมีสินค้าคงคลังจำนวนมากที่ไม่สามารถจำหน่ายออกได้ บ่งชี้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ปริมาณสินค้าคงคลังที่ต่ำบ่งบอกถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีมูลค่า 901.1 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าเดือนมกราคมซึ่งมีมูลค่า 896.5 พันล้านดอลลาร์ แต่ลดลงจาก 918.8 พันล้านดอลลาร์จากปีที่ผ่านมา

ยอดสินค้าคงคลังของสหรัฐฯ 2566-2567

   Photo credit: www.practicalecommerce.com/charts-u-s-wholesale-trends

แนวโน้มการค้าปลีกและค้าส่งปี 2567

แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2567 ยังคงมีความไม่แน่นอน โดยในไตรมาสแรกขยายตัวในอัตราที่ไม่สูงมากนักที่ 1.3% ส่วนใหญ่เนื่องมาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลงหลังเทศกาลจับจ่ายปลายปี ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวในวงกว้าง และกระทบต่อการค้าปลีกและค้าส่งภายในประเทศ ประกอบกับต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรสำหรับผู้ประกอบการ ดังนั้น การควบคุมต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ เพื่อให้แน่ใจว่าธุรกิจมีความยั่งยืนในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายในปัจจุบัน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ การตลาดแบบใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ก็จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น เช่น การบริการแบบ click and collect services ซึ่งลูกค้าสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ (click) แล้วไปรับสินค้าที่ร้าน ณ ที่ตั้งจริง (collect) หรือการตลาดและการขายแบบ Omnichannel หรือแม้กระทั่งการร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าและกระจายต้นทุนให้มากขึ้น

ธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ จำนวนมากในปัจจุบันมีการรวมข้อมูลสำคัญของลูกค้าและผู้ประกอบการเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้มุมมองแบบองค์รวมของลูกค้าและการดำเนินงานของบริษัทเอง รวมทั้งการทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจ เช่น การเลือกที่ตั้งร้านค้า การกำหนดราคาที่เหมาะสม และการปรับปรุงกลยุทธ์การตลาดเพื่อคว้าส่วนแบ่งในตลาดและธุรกิจสำหรับปี 2567 นี้

ส่วนเทรนด์ของธุรกิจค้าส่งในสหรัฐฯ ในปี 2567 นี้ จะให้ความสำคัญกับเป้าหมาย ESG (Environment, Social, และ Governance) ตลอดทั้ง value chain โดยมีการตรวจสอบติดตามประเด็นด้านความยั่งยืน ทั้งการจัดหาวัตถุดิบ
การดำเนินการตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นโอกาสในการแสดงมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้า เนื่องจากเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ ในปัจจุบัน

อ้างอิง

https://apnews.com/article/inflation-federal-reserve-powell-c8c2bf0556446c1c4c858f6fc2f877ea

https://www.barclayscorporate.com/insights/2024-outlook/retail-and-wholesale/#:~:text=I%20think%20we’ll%20see,investment%20in%20people%20and%20systems.

https://www.cbo.gov/publication/59946#:~:text=Economic%20growth%20is%20projected%20to,then%20moderates%20in%20later%20years.

https://www.census.gov/wholesale/current/index.html

https://www.commerce.gov/news/blog/2024/01/numbers-us-economy-grows-faster-expected-year-and-final-quarter-2023

www.ditp.go.th/post/164712

https://www.fibre2fashion.com/news/announcement/us-wholesale-revenue-increases-in-december-2023-292982-newsdetails.htm

https://www.modernretail.co/operations/the-retail-industry-fared-better-than-expected-in-2023-but-brands-arent-out-of-the-woods-just-ye

https://www.nrf.com/media-center/press-releases/nrf-forecasts-retail-sales-reach-least-523-trillion-2024

www.practicalecommerce.com/charts-u-s-wholesale-trends

https://www.reuters.com/markets/us/us-retail-sales-unexpectedly-flat-april-2024-05-15/

https://www.marketwatch.com/amp/story/gdp-shows-u-s-economy-grew-just-1-3-in-the-first-quarter-as-consumer-spending-slowed-3567a587

812 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top