สหรัฐฯ มีประชากรมากถึงสามร้อยกว่าล้านคนถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังในการซื้อสูง และยังมีตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche markets) อยู่เป็นจำนวนมาก ตามความหลากหลายของเพศ อายุ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ศาสนา สถานภาพทางเศรษฐกิจ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และระดับการศึกษาของประชากร เป็นต้น ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีการนำเข้าสินค้าเกือบทุกประเภท และเป็นโอกาสของประเทศคู่ค้าอย่างแท้จริง
ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของไทยรองจากจีน และเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มูลค่า 56,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.8% เมื่อเทียบกับปี 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 1.83% ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
ส่วนในปี 2567 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม ไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้าสินค้ารวม 18,870 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 14,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2566 โดยมีสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ เครื่องประมวลผลและข้อมูล ไดโอด ยางนอกชนิดอัดลม และหม้อแปลงไฟฟ้า
สินค้าสำคัญ
1.) ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์
ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยและสร้างรายได้เข้าประเทศเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท เนื่องจากไทยมีความพร้อมด้านห่วงโซ่อุปทาน และมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันสูง ในปี 2565 ไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอันดับที่ 13 ของโลก ซึ่งสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบรถยนต์ มีสัดส่วนประมาณ 67% รองลงมาคือเครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยแรงอัด (Compression Ignition Engine) ส่วนประกอบเครื่องยนต์ (Engine components) และเครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยประกายไฟ (Spark ignition engine) เป็นต้น
ระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 ไทยมีมูลค่าส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปสหรัฐฯ ทั้งสิ้นประมาณ 714 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับที่ 9 ในตลาด และในช่วงต้นปี 2567 (มกราคม-กุมภาพันธ์) เป็นสินค้าลงทุนสำคัญ 10 อันดับแรกที่มีการขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์เป็นจำนวนมากจากไทยนั้น สะท้อนถึงความต้องการผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่มีคุณภาพของตลาดสหรัฐฯ
มูลค่าการส่งชิ้นส่วนยานยนตร์ของไทยและสัดส่วนตลาดการส่งออกปี 2565 และแนวโน้มในอนาคต
2.) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยประจำปี 2566 มีมูลค่ารวม 46,266.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 16.26% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งประเทศ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.55%
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (มูลค่าการส่งออก 17,825.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- แผงวงจรไฟฟ้า (มูลค่าการส่งออก 9,685.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- เครื่องโทรศัพท์ โทรสาร อุปกรณ์และส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 6,441.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (มูลค่าการส่งออก 5,239.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (มูลค่าการส่งออก 4,423.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
สหรัฐฯ ถือเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมีมูลค่าสูงถึง 17,386.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.79% ในช่วงปี 2566 และมีวงจรรวม ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และเครื่องปรับอากาศ อยู่ในกลุ่มสินค้าส่งออกอันดับต้น ๆ
3.) ยางและผลิตภัณฑ์ยาง
ไทยถือว่าเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดของโลก และส่งออกยาง ชิ้นส่วนยางอุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์ยางจำนวนมากไปยังสหรัฐฯ โดยเฉพาะถุงมือยาง นอกจากนี้ ยางนอกชนิดอัดลมและยางธรรมชาติเป็นสินค้าศักยภาพสำคัญของไทยที่การส่งออกไปสหรัฐฯ มีการขยายตัวในช่วงต้นปี 2567
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ถุงมือยางเป็นสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP หรือ การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในอันดับต้นมาโดยตลอด เมื่อเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ถุงมือยางได้ขยับขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งภายใต้ GSP มีมูลค่าการส่งออก 22.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 30%
นอกจากนี้ สินค้าจากยางอื่น ๆ เช่น ยางล้อและท่อยาง ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วนและมูลค่าการส่งออกในเดือนมกราคม 2567 แล้ว ผลิตภัณฑ์ยางล้อมีสัดส่วนส่งออกมากที่สุดร้อยละ 70.72 มูลค่า 611.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองมาคือถุงมือยาง 12.76% และท่อยางมีสัดส่วน 3.10%
4.) สินค้าเกษตร
การส่งออกสินค้าเกษตรจากไทยไปยังสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม 2567 คิดเป็นมูลค่า 339.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 18.53% ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรของไทยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1.94% และข้าวเป็นสินค้าศักยภาพสำคัญลำดับต้นของไทยที่การส่งออกไปสหรัฐฯ มีการขยายตัวในปี 2566 จนถึงต้นปี 2567
สินค้าเกษตร 5 อันดับแรกที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยสูงสุดในเดือนมีนาคม 2567
ข้าว คิดเป็นมูลค่า 73.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 50.06% และเพิ่มขึ้น 39.15% เมื่อเปรียบ เทียบกับเดือนมีนาคม 2566 โดยมูลค่าการนำเข้าข้าวหอมมะลิ (ข้าวขาวและข้าวกล้อง) เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 43.99% มีปริมาณการนำเข้าทั้งหมด 54,052 ตัน คิดเป็นมูลค่า 50.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 68.25% ของมูลค่าการนำเข้าข้าวจากไทยทั้งหมด
อาหารสุนัขและแมว คิดเป็นมูลค่า 58.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 7.36% และเพิ่มขึ้น 18.48% จากเดือนมีนาคม 2566
ทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่า คิดเป็นมูลค่า 43.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 30.71% และเพิ่มขึ้น 0.63% จากเดือนมีนาคม 2566
ผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่า 31.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 18.60% และลดลง 0.31% จากเดือนมีนาคม 2566
กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง คิดเป็นมูลค่า 16.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 9.70% แต่ลดลงคิดเป็น 31.10% จากเดือนมีนาคม 2566
นอกจากนี้ สินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าว สัปปะรดกระป๋อง ทุเรียนสด และกล้วยไม้
ตารางแสดงปริมาณและมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญระหว่างไทยและสหรัฐฯ
5.) สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
ภาคสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีบทบาทสำคัญในการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ของไทยซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก ในไตรมาสแรกจากเดือนมกราคม- มีนาคม 2567 ลดลง 7.5% แต่เมื่อเทียบการส่งออกในเดือนมีนาคม 2567 กับเดือนกุมภาพันธ์ มีอัตราเพิ่มขึ้น 25.3%
การส่งออกผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์ของไทยไปยังสหรัฐฯ
นอกจากนี้ การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ พบว่าลดลง 1.5% และในเดือนมีนาคม 2567 ลดลง 5.2%
การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไปยังสหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ภาพรวมมูลค่าการส่งออกของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้จากอุปสงค์ภาคการผลิตที่กลับมาสู่ระดับปกติ ทำให้ปริมาณการค้าโลกกลับมาขยายตัว และกระแสความมั่นคงทางอาหารที่ยังช่วยให้สินค้าเกษตรของไทยยังคงเติบโตได้ดี อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญของการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ที่ยังค่อนข้างผันผวนในช่วงต้นปี 2567 นี้ ประกอบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคชาวอเมริกันจะเป็นไปในทิศทางใดในช่วงครึ่งปีหลังไปจนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเสร็จสิ้น
อ้างอิง
https://www.commercethaiusa.org/oca/wp-content/uploads/2024/04/InvPotApr24.pdf
https://www.commercethaiusa.org/oca/wp-content/uploads/2024/02/InvPotFeb24.pdf
https://www.ditp.go.th/post/167728
https://rubber.oie.go.th/box/Article/65710/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%20%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1%202567.pdf
https://www.salika.co/2024/04/29/smart-electronic-trend-in-thailand-updated/
https://www.scbeic.com/th/detail/file/product/9434/gtoh0wvqwj/Flash-export-Jan-24-20240223.pdf
https://www.thaitextile.org/th/insign/detail.4045.1.0.html
https://transmodal.net/us-thailand-trade-in-2023-analyzing-the-surge-in-imports/
https://uploads.tpso.go.th/TPSO%20-%20Thailand%20International%20Trade%20Yearbook%202023.pdf