ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในสหรัฐฯ ปี 2567

ทำไมใคร ๆ ก็พูดถึง Supply Chain?

Supply chain หรือห่วงโซ่อุปทานถือเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจทุกประเภท ซึ่งที่ผ่านมา ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก แต่นับจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ห่วงโซ่อุปทานก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับทุกฝ่ายอีกต่อไป สินค้าจำนวนมากจัดส่งได้ล่าช้าเนื่องจากการหมุนเวียนของวัตถุดิบและส่วนประกอบต่าง ๆ หยุดชะงัก กระบวนการผลิตล่าช้า ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานจากการ lockdown จนถึงปัจจุบัน ความท้าทายอื่น ๆ ทั้งสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมไปถึงประเด็นปัญหาระดับโลกอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดภัยพิบัติที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานในวงกว้าง ตลอดจนปัจจัยอื่น ๆ ที่ควบคุมได้ยาก เช่น การหยุดชะงักของระบบขนส่งที่ท่าเรือ เป็นต้น ได้ตอกย้ำความจำเป็นที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศและความอยู่รอดของประชาชน

ขั้นตอนต่าง ๆ ของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

Credit: https://www.linkedin.com/pulse/what-supply-chain-management-its-importance-dhruman-gohil/

รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับห่วงโซ่อุปทาน

ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order – EO) ด้าน supply chain resilience ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและเสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในระยะยาว โดยเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (critical infrastructure – CI) และให้ความสำคัญกับความพร้อมในการตอบสนองต่อความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอน และภัยคุกคามต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ เช่น การกระจุกตัวของ supplier หรือฐานการผลิตในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

White House Council on Supply Chain Resilience ที่ตั้งขึ้นจาก EO ดังกล่าวต้องจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะว่า นโยบายห่วงโซ่อุปทานของรัฐบาลกลางจะสามารถสนับสนุนและสร้างความแข็งแกร่งให้โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้อย่างไร ทั้งนี้ รวมถึงแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและแรงงานภายในประเทศ และยุทธศาสตร์แนวทางความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับหุ้นส่วนและพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานระดับโลกในภาคส่วนที่สำคัญ

เทรนด์ Reshoring/ Onshoring ในสหรัฐฯ

ความผันผวนของปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ในระยะหลังธุรกิจหลายแห่งหันมา “reshore” หรือ “onshore” กันมากขึ้น ซึ่งคือการย้ายฐานการผลิตสินค้าหรือบริการบางอย่างกลับมาที่สหรัฐฯ หรือประเทศใกล้เคียง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการผลิตและขนส่ง ลด carbon footprint สร้างอาชีพในท้องถิ่น รวมทั้งลดความเสี่ยงและเพิ่มความสามารถในการควบคุมห่วงโซ่อุปทานของตน ซึ่งอาจส่งผลต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่งได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น Boeing, Caterpillar, Delta, Dow, Ford, GE, Oracle, OTIS, Philips, Walmart และ Whirlpool เป็นต้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีนโยบายในเรื่อง “friendshoring” ก็คือการย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศที่เป็นพันธมิตร โดยมีประเด็นทางด้านความมั่นคง อาทิ อุตสาหกรรม semiconductor

แนวโน้มที่จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ

ไม่ว่าอุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่าง ๆ จะเลือกบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างไร ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการพัฒนาและความก้าวหน้าของห่วงโซ่อุปทานเป็นอย่างมากในช่วงสามปีข้างหน้าดูจะเน้นไปที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการมีฐานข้อมูลที่แข็งแกร่ง (strong data) และกระแสความรับผิดชอบต่อสังคม

แนวโน้ม (trend) นวัตกรรม และการพัฒนา 5 อันดับแรกที่จะส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานภายในปี 2567 – 2570

Credit: American Productivity & Quality Center (APQC) on Supply Chain Management Review

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยให้ธุรกิจเข้าใจและรับมือกับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการและควบคุมกระบวนการจัดหาวัตถุดิบและการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การมีเครื่องมือเพื่อกำกับดูแลข้อมูลที่ชัดเจน เป็นระบบ และน่าเชื่อถือ และการมีกระบวนการและขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้การตัดสินใจขององค์กรเกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้

นอกจากนี้ ความยั่งยืนเป็นแนวโน้มที่มีอิทธิพลต่อห่วงโซ่อุปทานในปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ตลอดจนแรงกดดันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ลูกค้าและนักลงทุน เป็นสิ่งที่ผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และประเด็นความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น เช่น การเกษตรและปศุสัตว์ที่ปราศจากการทารุณกรรม การทำประมงแบบยั่งยืน กระบวนการผลิตที่ปราศจากการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในกรอบเวลาที่กำหนด เป็นต้น

อุปสรรคและความท้าทายต่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน

1) การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้

ในขณะที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ แต่ก็สร้าง disruption ได้เช่นกัน โดยการนำเทคโนโลยี เช่น Internet of Things (IoT), AI และยานพาหนะอัตโนมัติต่าง ๆ มาใช้งานไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการศึกษา ทำความเข้าใจ และฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ยังเพิ่มภาระสำหรับองค์กรในการจัดการกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (cybersecurity) และการบริหารการเปลี่ยนแปลง (change management) ในภาพรวมที่ต้องมีความแข็งแกร่งและรัดกุมมากขึ้น

2) การขาดความร่วมมือระหว่างสายงานและกับบุคลากรภายนอก

การขาดความร่วมมือและการเชื่อมต่อ (disconnect) ในห่วงโซ่อุปทาน อาจส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ ไปจนถึงลูกค้าที่อาจไม่ได้รับสินค้าตรงเวลา เต็มจำนวน และอาจเกิดความเสียหาย หรือมีเอกสารไม่ครบถ้วน การร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานและการตอบสนองที่ดีของธุรกิจได้

3) การกำกับดูแลและจัดการข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพ

การมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนอาจส่งผลต่อความสามารถของบริษัทในการนำข้อมูลมาวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การดำเนินงานหรือทำกิจกรรมผ่านระบบอัตโนมัติ (automated activities) และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาพื้นฐานของห่วงโซ่อุปทานต่อไปได้

4.) ความท้าทายด้านแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ (เช่น การขาดแคลนบุคลากรหรือการนัดหยุดงาน)

ห่วงโซ่อุปทานต้องเจอกับความท้าทายด้านแรงงานและทรัพยากรมนุษย์อยู่เสมอ เช่น การนัดหยุดงาน การขาดผู้สมัครที่มีคุณสมบัติพร้อม การไม่สามารถหาแรงงานทดแทนตำแหน่งว่างได้ และการเลิกจ้าง เป็นต้น

Focus ของห่วงโซ่อุปทานในปี 2567

5 ประเด็นที่จะเป็นจุด focus ของห่วงโซ่อุปทานปี 2566 – 2567

Credit: American Productivity & Quality Center (APQC) on Supply Chain Management Review

การวางแผนห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain planning)

องค์กรจำนวนมากวางแผนด้านห่วงโซ่อุปทานโดยให้ความสำคัญกับการรวม business planning และ demand planning/forecasting เข้าด้วยกัน เนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจทำให้ผู้ประกอบการต้องลงทุนเพื่อให้แน่ใจว่า เป้าหมายทางธุรกิจและทิศทางห่วงโซ่อุปทานสอดคล้องและเป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งการวางแผนที่ดีนี้ นำไปสู่การคาดการณ์ที่มีประสิทธิภาพ (effective consensus forecast) และช่วยในการเตรียมรับมือกับ disruption ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

การจัดหาและการจัดซื้อจัดจ้าง (Sourcing and procurement)

ประเด็นสำคัญในการจัดหาและจัดซื้อจัดจ้างคือ การจัดการความสัมพันธ์กับ supplier ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นของหลายองค์กร เนื่องจากจะส่งผลกระทบกับทุกฝ่ายการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมทั้งความยั่งยืน และความรับผิดชอบ (supply chain accountability) ซึ่งเป็นกระแสมากยิ่งขึ้น ทำให้การเปิดเผยข้อมูลด้านดังกล่าวกลายเป็นข้อบังคับ จากที่เคยสามารถทำโดยสมัครใจได้ นอกจากนี้ องค์กรจำนวนมากเน้นการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้สำหรับกระบวนการจัดหาและสร้างมาตรฐานให้กับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของตน

นวัตกรรม (Innovation)

นวัตกรรมที่นำมาใช้มากที่สุดสำหรับปี 2567 คือ operational/process innovation ที่จะทำให้องค์กรสามารถเข้าถึงตลาดและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองลงมาคือ product and service innovation ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า องค์กรส่วนมากให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพมากว่าการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ซึ่ง focus ในด้านนี้หมายรวมถึงการร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ (innovation ecosystem collaboration) ในการพัฒนาต่อยอดและการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย

การสร้างความพร้อมรับมือเพื่อเอาชนะอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทาน

ปี 2567 เป็นปีที่ท้าทายสำหรับห่วงโซ่อุปทาน ความไม่แน่นอนทั้งจากสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง disruption ต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไป ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญจึงคาดว่า แนวโน้มต่าง ๆ ทั้งที่กล่าวมาข้างต้นและที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดในอนาคต จะส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ต้องเพิ่มงบประมาณเพื่อรับมือกับอุปสรรคและความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับห่วงโซ่อุปทาน โดยองค์กรจำนวนมากได้ลงทุนกับการสร้างความสามารถในการปรับตัว (adaptability) หลายรายทำการประเมินหรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านห่วงโซ่อุปทานอยู่เสมอ และมีการเพิ่มงบประมาณสำหรับเครื่องมือ เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะรับรองว่า ห่วงโซ่อุปทานจะสามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจต่อไปได้ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการสร้างวัฒนธรรมของการเตรียมพร้อมรับมือ (culture of preparedness) ได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่ได้ในระยะยาว

อ้างอิง

https://at-once.info/th/blog/digital-supply-chain–digital-supply-chain

https://www.linkedin.com/pulse/what-supply-chain-management-its-importance-dhruman-gohil/

https://www.meritalk.com/articles/ biden-issues-executive-order-to-bolster-supply-chain-resilience/

https://www.reuters.com/world/us/biden-issuing-executive-order-supply-chain-resiliency-efforts-2024-06-14/

https://www.scmr.com/article/preparing_for_2024_supply_chain_challenges_and_priorities

1,152 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top