“เนื้อจากพืช” จากกระแสในกลุ่มเฉพาะกลายมาเป็น “อนาคตของอาหาร”

ทุกวันนี้เราจะได้ยินถึงกระแสนิยมการรับประทาน plant-based food หรืออาหารที่ทำมาจากพืชเพิ่มมากขึ้นโดยอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ากว่า 12,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่มาจากในทวีปอเมริกาเหนือเกือบ 50% รองลงมาคือยุโรปและเอเชียแปซิฟิก

ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นของการงดรับประทานเนื้อสัตว์จะเกิดขึ้นตามความเชื่อและศาสนาต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันกระแสดังกล่าวกลับได้รับการตอบรับจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุไม่เกิน 40 กันมากขึ้นโดยไม่มีเหตุผลทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง มาถึงวันนี้ธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสฟู้ดหลายเจ้าต่างออกเมนูอาหารที่เป็น plant based กันเพิ่มมากขึ้นจากกระแสตอบรับที่มากขึ้นในทุกวัน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ชาวสหรัฐฯ กักตุนสินค้าเป็นจํานวนมาก ประกอบกับโรงงานผลิตเนื้อสัตว์หลายแห่งได้ปิดกิจการลงเป็นการชั่วคราว เนื่องจากการติดเชื้อของกลุ่มคนงาน ส่งผลกระทบตามมาในเรื่องของราคา สินค้าเนื้อสัตว์ในตลาดสหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาในช่วงไตรมาส 2 – 3 ของปี 2563 และเป็นผลทําให้ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น แต่เรื่องดังกล่าวกลับส่งผลในแง่บวกกับสินค้าเนื้อที่ผลิตจากพืช

สภาวการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทําให้ช่องว่างของราคานั้นแคบลง ผู้บริโภคจึงเลือกซื้อสินค้าเนื้อที่มาจากพืชเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลพบว่า ร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ มียอดขายสินค้ากลุ่มเนื้อที่ทํามาจากพืช เพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 264 ในช่วงเดือนมีนาคม – ต้นเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว สะอาดกว่า และมีสารอาหารที่ดีกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป

ในส่วนของประเทศไทยนั้น อาหารจำพวก plant based ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนไทยหลายคนหันมาดูแลสุขภาพกันเพิ่มมากขึ้นโดยตัวเลขรายงานล่าสุดพบว่า มูลค่าของตลาดอาหาร plant-based ปีนี้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท

เราจะคุ้นเคยกับอาหารประเภทโปรตีนเกษตรที่ถูกนำมาทดแทนเนื้อสัตว์ในช่วงเทศการกินเจมาตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยรูปแบบของวัตถุดิบจะมีลักษณะคล้ายกันแต่ความแตกต่างจะไปอยู่ที่ผู้ประกอบอาหารว่าจะรังสรรค์เมนูไหนออกมา ถึงแม้ว่าจะเป็นแหล่งโปรตีนหลักของอาหารปราศจากเนื้อสัตว์แต่มีงานวิจัยทางการแพทย์ออกมาหลายตัวว่าปริมาณโปรตีนที่ได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายมนุษย์ในแต่ละวัน

กระแสเริ่มเปลี่ยนจากตลาดที่อยู่ในกลุ่มนิชเคลื่อนมาเป็นเมกาเทรนด์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่เราจะเริ่มเห็น “เนื้อไร้เนื้อ” หรือ plant-based meat ออกมาในรูปแบบแฮมเบอร์เกอร์ หรือหมูสามชั้นพร้อมปรุงเพื่อเป็นโปรตีนทางเลือกให้กับกลุ่มมิลเลนเนียลส์ที่ใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น

ด้วยกระแสที่ยังค่อนข้างใหม่อยู่สำหรับประเทศไทย จึงยังไม่ค่อยมีผู้ผลิตอาหารลงมาในทำตลาดกันมากนัก แต่ก็ยังมีบางบริษัทเริ่มเห็นกระแสของโลกที่กำลังมุ่งไปในทิศทางนั้นและเริ่มขยับตัว อย่าง บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF ผู้มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตอาหารมากว่า 25 ปีที่เห็นโอกาสการเติบโตทั่วโลกและตลาดไทยในฐานะ “ผู้ผลิตอาหารของโลกแห่งอนาคต” เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ถูกลิสต์อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกอาหารประเภท plant based

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำสรุปความนิยมในอาหารประเภท plant-based food ขึ้นมาโดยระบุว่า ถั่วเหลืองได้รับความนิยมสูงถึง 48% ในหมวดหมู่เป็นวัตถุดิบและในหมวดหมู่อาหารสินค้ากลุ่มเบอร์เกอร์เนื้อที่ทํามาจากพืช คิดเป็น 29% และในหมวดหมู่ของเนื้อที่ผลิตจากพืช เนื้อไก่ที่ผลิตจากพืชเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุดถึง 34% ของมูลค่าการขายในปี พ.ศ. 2562

878 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top