คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติต่อ หลังอนุมัติเม็ดเงินลงทุน 1.67 แสนล้านบาท เมื่อ 3 ปีที่แล้ว พร้อมตั้งเป้าเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนภายใน 5 ปี
หลังจากที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 สำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งถึงผลดำเนินการ ว่าด้วยเรื่องมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอไปเมื่อปี พ.ศ.2561 และใช้เวลาพัฒนา 3 ปี
โดย น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมหลัก ๆ เช่นอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ และปิโตรเคมีประมาณ 167 พันล้านบาท
รองโฆษกฯ เผยว่า มีผู้ประกอบการธุรกิจมากถึง 92 ราย ได้ลงทุน 13,984 ล้านบาทในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมากขึ้น โดยภายในกรอบเวลา 5 ปีจากวันนี้จนถึงปี พ.ศ. 2569 กรมอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนโดยการมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง
นอกจากเรื่องการลงทุนแล้ว ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ หรือ Center of Robotics Excellence (CoRE) เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านหุ่นยนต์และอัตโนมัติ โดยรับผิดชอบด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี รวม 15 หน่วยงาน เช่น สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ
ในปี พ.ศ. 2562-2563 ได้มีการพัฒนาความพร้อมของผู้ประกอบการเครื่องจักรกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์ System Integrator (SI) และผู้ใช้งาน (User) ให้มีความสามารถทางวิศวกรรมระบบ รวม 1,395 คน และ Startup อีก 70 กิจการ รวมถึงพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อประยุกต์ใช้ในโรงงาน รวม 185 ต้นแบบ พร้อม ฝึกอบรมการใช้หุ่นยนต์ฯ ให้กับแรงงาน รวม 2,612 คน และยกระดับ SI ให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่ CoRE กำหนด ซึ่งปัจจุบันมี SI ขึ้นทะเบียนกับ CoRE แล้ว 68 ราย
เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจหันมาลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ร่างระเบียบยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
กระทรวงอุตสาหกรรมยังกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปข้างหน้า โดยมุ่งเน้นที่การบูรณาการห่วงโซ่อุปทานในประเทศของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องการพัฒนาระบบอัตโนมัติเฉพาะสำหรับ SMEs และการเพิ่มจำนวนผู้ติดตั้งระบบในระดับภูมิภาค
โดยรองโฆษกฯ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่าจะเห็นการใช้งานหุ่นยนต์และเทคโนโลยีอัตโนมัติที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 นี้ เนื่องจากสามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้โดยเฉพาะในภาคสาธารณสุขและบริการ
นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (สกพอ.) ตั้งเป้าหมายมูลค่าการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แม้จะเกิดโควิด-19 ระบาด
โดยทาง สกพอ. ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจดิจิทัลเป็นอันดับต้น ๆ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี 5G ทำให้เกิดการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายยิ่งขึ้น และช่วยยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 จะทำให้เกิดการลงทุนในเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีมูลค่าสูงมาก
ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมา (2563) สำนักข่าว Bloomberg ประกาศให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่มีแนวโน้มจะเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีภาพรวมทางเศรษฐกิจดีที่สุดในปี 2564 แสดงถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในเรื่องการค้าและการลงทุนในปี 2564