ส่งออกหมูไทยคึกคักแม้ถูกตัด GSP จากสหรัฐฯ ในขณะที่ FDA สหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้หมูดัดแปลงพันธุกรรมท่ามกลางเสียงคัดค้าน

จากการที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัล ทรัมป์ระงับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี (GSP) ของสินค้าไทย 231 รายการ เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า สินค้าไทย 147 รายการจะได้รับผลกระทบหนัก และถึงแม้ว่าเนื้อหมูจะเป็นหนึ่งในรายการที่ถูกตัด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไทยจะส่งเนื้อหมูไปสหรัฐฯ ไม่ได้ เพียงแค่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราปรกติเท่านั้น

นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ปริมาณการผลิตหมูของไทยในปี 2563 มีผู้ประกอบการฟาร์มสุกรครบวงจร และเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศประมาณ 200,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตรวมปีละกว่า 22 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่การผลิตอยู่ที่ 20.43 ล้านตัว

โดยตลอดปี 2563 เป็นปีที่อุตสาหกรรมหมูทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอหิวาต์หมู สถานการณ์นี้เอง สะท้อนให้เห็นภาพความร่วมมืออย่างจริงจังของผู้เกี่ยวข้องในวงการสุกรไทยในทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ที่ช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มแข็ง ทำให้ไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่คงสถานะปลอดโรคอหิวาต์หมูจนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงที่ผ่านมาไทยมีออเดอร์จากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ถึงแม้ว่าการส่งออกเนื้อหมูไทยไปสหรัฐฯ จะไม่คึกคักเท่าเดิม แต่การส่งออกในภาพรวมขยายตัวจากความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชีย โดยเฉพาะ จีน เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ที่ประสบปัญหาโรคอหิวาต์หมูระบาด  ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ และราคาสุกรมีชีวิตเพิ่มขึ้น 2–3 เท่าตัวจากภาวะปกติตามกลไกตลาด จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย ทั้งในส่วนของหมูพันธุ์ หมูขุน และเนื้อหมู

ในฝั่งของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2563 องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA)   อนุมัติการตัดแต่งพันธุกรรมในหมู (intentional genomic alteration – IGA) หรือหมู GalSafe เป็นครั้งแรก โดยหมูที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม จะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา และเครื่องสำอางด้วย โดยเดวี่ สเตดแมน โฆษกของบริษัทผู้ดัดแปลงพันธุกรรมหมู United Therapeutics Corporation กล่าวว่า ทางบริษัทฯ มีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เช่น ยาเจือจางเลือด ที่ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ ยังมีแผนวางขายหมู GalSafe เพื่อใช้เป็นอาหาร แต่ยังไม่ทราบว่าทางบริษัทจะสามารถทำข้อตกลงกับผู้ผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปและจะสามารถวางขายได้เมื่อไหร่

เจดี แฮนสัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Center for Food Safety กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า เนื้อจากหมูที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ไม่ได้ถูกนำไปทดสอบในผู้ที่มีอาการของโรคภูมิแพ้ ซึ่งทางศูนย์ได้ยื่นฟ้ององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) ในเรื่องการอนุมัติให้ใช้ปลาแซลม่อนที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้โตเร็วขึ้นเป็นอาหารได้ และในตอนนี้จะต้องตรวจสอบเรื่องการอนุมัติหมู GalSafe ของ FDA ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา

เกร็ก เจฟ แห่งศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า การอนุมัติหมู GalSafe ของ FDA นั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเป็นการอนุมัติโดยที่สาธารณชนไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น และไม่มีการกล่าวแจ้งใดๆ ทั้งสิ้น

ในขณะที่สเตดแมนกล่าวว่า การผลิตหมู Galsafe เพื่อการใช้เนื้อหมู จะมีวิธิผลิตยากกว่าหมูทั่วไป เนื่องจากเงื่อนไขข้อกำหนดด้านวิธีการเก็บรักษาและการฆ่าหมู โดยในขณะนี้ บริษัทฯ มีหมู GalSafe อยู่ประมาณ 25 ตัวที่ฟาร์มแห่งหนึ่งในรัฐไอโอวา

เขากล่าวอีกว่า หนึ่งในเป้าหมายระยะยาวของทางบริษัทคือ การผสมผสานการดัดแปลงพันธุกรรมเข้ากับการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เพื่อทำให้อวัยวะของสัตว์สามารถใช้ปลูกถ่ายในมนุษย์ได้ โดยหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยได้มีการศึกษาแนวคิดในการปลูกถ่ายอวัยวะหมูมาโดยตลอด เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอวัยวะของมนุษย์เพื่อการบริจาค

309 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top